“ไอศกรีมบำบัด” ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ผู้ใช้ “ไอศกรีมละลายความเกลียดชัง เป็นความรักที่แข็งแรง”

“ไอศกรีมบำบัด” ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ผู้ใช้ “ไอศกรีมละลายความเกลียดชัง เป็นความรักที่แข็งแรง”

“ไอศกรีมบำบัด” ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ผู้ใช้ “ไอศกรีมละลายความเกลียดชัง เป็นความรักที่แข็งแรง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกคนรับรู้ถึงรสหวาน กลิ่นหอม เย็นชื่นใจของไอศกรีม เช่นเดียวกับ คุณบอม ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ เจ้าของกิจการเพื่อสังคม “ฟาร์มสุข ไอศกรีม” ไอศกรีมช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสที่เริ่มต้นขึ้นจากความโปรดปรานในรสชาติของไอศกรีม จนทำให้เขาตัดสินใจทิ้งงานที่มีรายได้ 6 หลักมาขายไอศกรีม เพียงเพราะพบว่าตนเอง “มีสุข” มากกว่าชีวิตเดิมๆ

นอกจากความสุขล้นที่ได้รับ เส้นทางสายนี้ยังนำพาเขากลับไปแก้ปมอดีตที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของตนเองมาเกือบครึ่งชีวิต จนทุกวันนี้เขากล้าพูดว่า “ชีวิตผมฟินแล้ว”

เงินเดือนเป็นแสน แต่ไม่มีความสุข
ก่อนหน้านี้คุณบอมเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานในสายงานกราฟิก อยู่ในแวดวงนิตยสารมาโดยตลอด รวมทั้งยังมีงานเสริมเล็กๆ น้อยๆ รวมแล้วเดือนหนึ่งมีรายได้เป็นแสนบาท หากแต่ชีวิตที่คิดเงินได้เงิน อยากได้อะไรพร้อมจ่าย กลับไม่ได้สร้างความสุขที่แท้จริง

“ช่วงนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองเก่งมาก ใครๆ ก็อยากได้ผมไปทำงาน ตอนนั้นผมทำงาน 3 บริษัท เป็นพนักงานประจำ 1 ที่ อีก 2 ที่เป็นฟรีแลนซ์ ทำงานหลายที่เพราะอยากได้เงินเยอะๆ กินใช้ เที่ยว ปาร์ตี้ มันดูเท่มาก ”

ต่อมาคุณบอมเริ่มไม่มีเวลาให้กับงาน ทั้งยังมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาทำงานและมีความรับผิดชอบสูงกว่า ทำให้เขาเริ่มโดนลดจำนวนงาน จนในที่สุดถูกเลย์ออฟออกจากบริษัท

“ตอนนั้นชีวิตดาวน์ลงหมด เลยไปนั่งคิดทบทวนว่าจริงๆ เรามีหมดแล้วทั้งบ้าน รถ แต่ทำไมไม่มีความสุข ตอนนั้นฟุ้งซ่านมาก นั่งเหงาอยู่ในบ้านมืดๆ ที่ไม่มีม่าน ไม่เปิดไฟ”

ความฟุ้งซ่านทำให้เขาฉุกคิดและลุกขึ้นมาเปิดบริษัทรับทำหนังสือ ช่วงแรกธุรกิจของเขาไปได้สวย เดือนๆ หนึ่งมีรายได้เป็นล้าน แต่ต่อมาไม่นาน คุณบอมต้องมาพบกับจุดสะดุดอีกครั้ง เพราะธุรกิจเริ่มมีคู่แข่ง จนทำให้ต้องเลย์ออฟพนักงาน เหลืออยู่เพียงชื่อบริษัทที่มีตัวเขาเป็นพนักงานคนเดียว

เปลี่ยนความทุกข์ เป็นฟาร์มสุข ไอศกรีม
ช่วงเวลานั้นคุณบอมยังคงวนเวียนอยู่ในความทุกข์ เขาจึงหาทางออกด้วยการทำไอศกรีมทานเอง แต่เนื่องจากการปั่นไอศกรีมจากเครื่องปั่น 1 ครั้ง ได้ไอศกรีมมากเกินกว่าจะทานคนเดียวหมด เขาจึงเกิดไอเดียนำไอศกรีมไปแจกเด็กๆ ตามบ้านพักพิงเด็กด้อยโอกาส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่งานจิตอาสาแบบไม่ได้ตั้งใจ

“ตอนผมเอาไอศกรีมไปแจกเด็กๆ ผมรู้สึกมีความสุขมาก สุขแบบที่ไม่เคยสุขมาก่อน ผมเลยนึกถึงที่เขาพูดกันว่า “ความสุขจากการให้” เพราะเราไม่เคยให้ใคร เรามีแต่คว้ามา อยากรวย อยากเก่ง อยากได้รับการยอมรับ แต่นี่มันเป็นช่วงเวลาสบายๆ ที่ได้นั่งดูเด็กกินไอศกรีมดีๆ หวานน้อย ไม่อ้วน เพราะผมอยากให้เขากินไอศกรีมดีๆ เท่ากับที่ผมกิน”

ความสุขเมื่อได้รับแล้วก็เหมือนเสพติด เพราะหลังจากทำไอศกรีมแจกเด็กในครั้งแรกแล้ว คุณบอมทำไอศกรีมแจกเด็กด้อยโอกาสทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี ตระเวนแจกไอศกรีมให้กับบ้านพักพิงแทบทุกที่ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเพื่อนๆ และผู้ที่ต้องการช่วยเหลือเด็ก

ต่อมากิจกรรมแจกไอศกรีมของคุณบอมเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คุณบอมจึงมีโอกาสได้รับคำแนะนำให้เข้าอบรมผู้ประกอบการเพื่อสังคมจากสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมเพื่อชาติ (สกส.) เพื่อทำให้กิจกรรมนี้ให้กลายเป็นกิจการที่ยั่งยืน

“หลังผ่านการอบรม ผมต้องเขียนแผนธุรกิจส่ง และแผนธุรกิจของผมก็ได้รับรางวัล เลยได้เงินสนับสนุนจากสกส.มา 1 แสน รวมกับเงินบริจาคก่อนหน้านี้อีก 1 แสน ผมเลยเอาเงิน 2 แสนมาเปิดบัญชีเป็นบัญชีของ “ฟาร์มสุข ไอศกรีม” ทำธุรกิจขายไอศกรีม โดยให้เด็กด้อยโอกาสเป็นแรงงานปั่นไอศกรีม ส่วนผมเป็นคนเอาไอศกรีมไปขาย แล้วแบ่งรายได้ให้พวกเขา”

ปัจจุบันฟาร์มสุข ไอศกรีมดำเนินกิจการเพื่อสังคมมาจนเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งคุณบอมบอกว่าในเชิงธุรกิจถือว่าธุรกิจนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในเชิงสังคมแล้วเขาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

Icecreamtherapy ไอศกรีมบำบัด
ตลอดระยะเวลาที่คุณบอมเข้าไปสอนทำไอศกรีมในบ้านพักพิง เขามีโอกาสพูดคุยกับเด็กเป็นจำนวนมาก จากที่คิดเพียงสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับพวกเขา คุณบอมกลับเริ่มรับรู้ถึงนานาปัญหาที่เกิดขึ้น จนรู้สึกอยากยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือโดยใช้ไอศกรีมเป็นเครื่องมือและสื่อกลาง

“ตอนผมเข้าไปสอนพวกเขา จะมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่สภาพจิตใจโอเคแล้วเขาจะออกมาต้อนรับ แต่ก็จะมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ออกมาคุยกับเรา พอผมเข้าไปคุยกับเขา แค่ถามว่าไอศกรีมอร่อยไหม เขากลับบอกว่า “หน้าอย่างมึง กูรู้ว่าจะเอากู” ตอนนั้นผมคิดเลยว่าพวกเขาไปโดนอะไรมา ทำไมเขาคิดแบบนั้น หลังจากนั้นผมพยายามคุยกับพวกเขา รับฟังพวกเขา แล้วก็พบว่ามันรู้สึกภูมิใจมากกว่าทำงานอย่างอื่น เพราะมันเป็นการทำเพื่อคนอื่น”

หลังจากคุณบอมใช้ไอศกรีมเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมตนเองเข้ากับเด็กด้อยโอกาสตามบ้านพักพิงแล้ว ปัจจุบันภารกิจไอศกรีมแห่งความสุขของคุณบอมยังขยายไปสู่กิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอื่นๆ ด้วย เช่นการใช้ไอศกรีมสอนเรื่องธรรมะ ความสามัคคี ฯลฯ

“ที่สวนโมกข์ผมใช้ไอศกรีมสอนเรื่องอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งพบได้ในการปั่นไอศกรีม แต่ผมไม่ได้เป็นคนบอก จะแค่ไกด์ให้ทุกคนสังเกต จากไอศกรีมที่มันเป็นวัตถุดิบ เมื่อมันมาทำไอศกรีมแล้วมันก็ละลาย เป็นอะไรง่ายๆ สำหรับเชื่อมให้พ่อ แม่ ลูก ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกัน ให้ได้เห็นเนื้อแท้ของกันและกัน ว่าจริงๆ แล้วพวกเขารักกัน แต่มันมีอะไรบางอย่างกั้นอยู่ หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยผมก็ใช้ไอศกรีมพูดคุยเรื่องความสามัคคี”

สำหรับคนอื่นอาจตั้งคำถามว่าไอศกรีมช่วยบำบัดจิตใจได้อย่างไร แต่สำหรับคุณบอมนั้นมองว่าไอศกรีมเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นได้

“ที่ผมสอนเด็กๆ เพราะผมต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับเด็ก พัฒนาชีวิต สร้างความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งพวกเขาไม่มีเหมือนพวกเราที่เราได้อยู่กับพ่อ แม่”

จากกิจกรรมไอศกรีมบำบัดที่ผ่านมาทำให้คุณบอมสามารถช่วยเหลือเด็กได้ประมาณ 500 คน คิดแล้วใช้เงินไปประมาณ 1 ล้านบาท และในจำนวนเด็กเหล่านั้นมีเด็ก 3 คนเรียนจบมหาวิทยาลัยออกไปมีครอบครัวเป็นของตนเอง

ปมในใจ ถูกแก้ไขด้วย “ไอศกรีม”
เหนือสิ่งอื่นใด นอกจากปมในใจของเด็กทุกคนที่คุณบอมมีโอกาสพูดคุยจะถูกคลี่คลายลงแล้ว ผลลัพธ์ที่ถือเป็นโบนัสพิเศษสำหรับการเข้ามาทำฟาร์มสุข ไอศกรีมคือ “คุณบอมเลิกเกลียด และกลับไปรักคุณแม่ของตัวเอง”

“ผมว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ผมรับฟังเด็กมาตลอดมันช่วยสะท้อนตัวผมด้วย เพราะผมเคยเกลียดแม่มาตั้งแต่ตอนอยู่ป.2 ตอนนั้นแม่ตี แล้วผมวิ่งหนีออกจากบ้าน แม่ปิดประตูไม่ให้ผมเข้าบ้าน ผมไม่เข้าใจ แล้วผมก็เกลียดแม่ตั้งแต่วันนั้น ผมเก็บเรื่องนี้ไว้ในใจ เป็นคนมีปม ที่ผมทำงานทุกอย่าง ไล่ล่าเงินเพราะผมอยากให้แม่ยอมรับ ผมมารู้ตัวตอนผมทำฟาร์มสุข ไอศกรีมนี่แหละ”

เมื่อพบว่าเรื่องราวของเด็กทุกคนที่รับฟังไม่ได้แตกต่างจากชีวิตของตนเองเลย คุณบอมจึงกลับไปแก้ปมของตัวเอง ด้วยการนั่งฟังและพูดคุยกับคุณแม่อีกครั้ง หลังจากออกจากบ้านและไม่ได้กลับไปเยี่ยมพวกท่านตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น

“จากที่ผมคิดว่าพ่อแม่ผมตายไปแล้ว ผมกลับเปลี่ยนความคิด กลับไปหาแม่อีกครั้ง เราเปิดใจพูดคุยกัน ผมได้นั่งฟังแม่ ถามเขาบ้าง ให้เขารู้สึกว่าเราสนใจเขา พอผมเริ่มฟังแม่ ทำให้ผมเกิดความคิดบางอย่าง และรู้ว่าที่ผ่านมาแม่เหนื่อยที่เลี้ยงเรา เราดื้อขนาดไหน กลายเป็นว่าผมรักและเห็นใจแม่ขึ้นมาเลย”

เพราะความเชื่อว่าหากความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแข็งแรงดี มันจะเป็นฐานรากให้เด็กทุกคนเติบโตขึ้นไปอย่างแข็งแกร่ง แต่หากเด็กคนนั้นมีปมก็ไม่ต่างอะไรกับต้นไม้ที่เติบโตแผ่กิ่งก้าน แต่กลับไม่มีรากแก้วแข็งแรงยึดเหนี่ยว

“ถึงตอนนี้ผมมั่นใจว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมสบายแล้วเพราะมีแม่ที่เข้าใจ คุยได้ทุกเรื่อง มันกลายเป็นว่าปมในชีวิตผมถูกแก้ ผมรู้เลยว่าที่ผมทำมาทุกอย่าง ผมรอคำๆ หนึ่งจากแม่ คำว่า “ลูกแม่เก่งที่สุด” และผมก็รอคำๆ นี้จากปากแม่ผมเท่านั้น ไม่ใช่จากคนทั้งโลก ใครจะคิดกับผมยังไงผมไม่สน ถึงตอนนี้ชีวิตผมฟินแล้ว ไม่ต้องพิสูจน์อะไร ไม่ต้องรวยก็ได้ เหมือนกับที่ผมเชื่อว่าถ้าเด็กถูกหาปมให้เจอ แก้ไข และเติมให้เต็ม มันก็จะหลุดพ้น”

แม้ทุกวันนี้เจ้าของฟาร์มสุข ไอศกรีมจะออกมายอมรับอย่างไม่อายว่าหากไม่มีอะไรดีขึ้น กิจการเพื่อสังคมนี้อาจจะต้องปิดตัวลงภายในสิ้นปีนี้ แต่สำหรับในฟากฝั่งของการช่วยเหลือสังคม ชายหนุ่มผู้กุมความสุขไว้เต็มเปี่ยมกลับรู้สึกภาคภูมิใจที่เขาได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม ที่ยังส่งแรงกระเพื่อมและทำให้เขากลับมารักแม่สุดหัวใจอีกครั้ง

สนับสนุนกิจการเพื่อสังคม “ฟาร์มสุข ไอศกรีม” ได้โดยเข้าไปดูรายละเอียดที่ http://www.farmsookicecream.com หรือ 083 137 9705

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook