หมอเตือนสักผิวอันตราย ใช้สีปนเปื้อน-เสี่ยงมะเร็ง
สมาคมแพทย์ผิวหนังฯออกโรงเตือนพวกนิยม "สัก" ระวังผิวหนังเกิดภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อ เลือดออก บวม คัน เป็นหนอง ฯลฯ อาจถึงขั้นเสี่ยงมะเร็งหากใช้สีผิดประเภท ชี้ ปท.ไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุม
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสักผิวหนังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย บางคนสักเป็นแฟชั่นเหมือนดาราชื่อดัง บางคนสักเพื่อลดระยะเวลาในการแต่งหน้า อาทิ สักคิ้วถาวร สักริมฝีปากชมพู เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีผู้สักถึงร้อยละ 5 ที่รู้สึกเสียใจ เพราะหลังสักอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน พบได้ร้อยละ 75 ของผู้สักทั้งหมด แบ่งเป็น อาการทางผิวหนัง ร้อยละ 68 คือ ตกสะเก็ด คัน เลือดออก บวม ตุ่มน้ำ เป็นหนอง ส่วนอาการทั่วไป ร้อยละ 7 ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดเมื่อย และ ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากการสัก ร้อยละ 6 เช่น แผลเป็น บวมเป็นๆ หายๆ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง พบได้หลายอย่าง เช่น อาจทำให้เกิดการแพ้ในบริเวณที่สัก ทำให้ผิวนูน ตะปุ่มตะป่ำ หรือเกิดเป็นแผลเรื้อรัง เนื่องจากแพ้สีที่ใช้สัก
นพ.เวสารัชกล่าวว่า การสักไม่ถาวร ที่เรียกว่า เฮนนา ควรจะใช้เฮนนาที่มาจากธรรมชาติ แต่มีผู้ให้บริการมักง่ายใช้ยาย้อมผมเคมีที่ประกอบไปด้วยสาร paraphenylene diamine ทดแทน ทำให้ผู้ที่ไปใช้บริการเกิดอาการแพ้รุนแรงจนอาจเป็นแผลเป็นถาวร ทั้งนี้ การติดเชื้อจากการสักเกิดได้จากเชื้อหลายชนิด ตั้งแต่ไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี เชื้อเอชไอวี แบคทีเรีย และไมโครแบคทีเรีย เชื้อราและซิฟิลิส เป็นต้น
"สีดำเป็นสีที่นิยมใช้ในการสักมากที่สุด มีส่วนประกอบหลัก คือ carbon black ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ พลาสติก และอุตสาหกรรมสี ซึ่งส่วนประกอบหลายอย่างที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในคน เพราะมีการปนเปื้อนสารก่อมะเร็งในปริมาณสูงเกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ถึง 23,500 เท่า แม้ว่าสารก่อมะเร็งจะพบในปริมาณสูงมาก แต่จากรายงานเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนัง กลับพบค่อนข้างน้อย เนื่องจากสารก่อมะเร็งและโลหะหนักเหล่านี้เกาะกันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ แต่จากการใช้เครื่องเลเซอร์ลบรอยสัก พบว่าทำให้ขนาดอาณุภาคของสีสักลดลงได้ถึง 8 เท่า และมีการปล่อยสารก่อมะเร็งต่างๆ ออกมาจากเม็ดสีเป็นปริมาณมาก ถ้าเปรียบเทียบทางการแพทย์ ก็ไม่ต่างจากผู้ป่วยที่เปลี่ยนข้อสะโพกเทียมชนิดที่เบ้าและหัวกระดูกเป็นโลหะทั้งคู่ ซึ่งพบว่าการเสียดสีขณะใช้ ทำให้มีปฏิภาคโลหะออกมาจากข้อเทียมก่อให้เกิดผลเฉพาะที่ และตรวจพบปริมาณโลหะหนักโคบอลต์เพิ่มปริมาณมากขึ้นในกระแสโลหิต ก่อให้เกิดอาการอาการทางประสาท เช่น เหนื่อย เดินเซ สมรรถนะการรู้คิด (cognitive function) ลดลง เช่นเดียวกัน" นพ.เวสารัชกล่าว และว่า ทั้งในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลกยังไม่มีการควบคุมการสัก และสีที่ใช้สักไม่ถือว่าเป็นยาหรือเป็นเครื่องสำอาง ไม่ถือเป็นหัตถการทางการแพทย์ ดังนั้น การควบคุมในปัจจุบันอาจทำได้เพียงผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยได้เริ่มมีความพยายามสร้างทีมที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายสาขาวิชาชีพ เพื่อกำหนดมาตรฐานต่างๆ เกี่ยวกับการสักแล้ว