รู้ไหม? เล่นการพนันในบริษัท มีโทษอย่างไร ?
คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์ (ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 6-9 สิงหาคม 2558)
โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com
เล่นการพนันในบริษัท มีโทษอย่างไร ?
เห็นว่ากระแสเรื่องลอตเตอรี่ เรื่องหวยกำลังมาแรง ผมจึงอยากจะนำเรื่องนี้มาแชร์ เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์สำหรับคนที่ยังชอบหารายได้พิเศษด้วยการเสี่ยงโชค โดยคิดว่าเงินคงจะได้มาง่าย ๆ ด้วยการเล่นการพนัน
แถมยังเล่นการพนันเสี่ยงโชคกันในบริษัทอีกต่างหากน่ะสิครับ !
เรื่องก็มีอยู่ว่า นายใหญ่ (นามสมมติ) ชวนเพื่อน ๆ รวม 7 คน ตั้งวงเล่นไฮโลกันในบริษัทอย่างสนุกสนาน ทั้ง ๆ ที่บริษัทก็มีกฎระเบียบประกาศแจ้งให้พนักงานทุกคนรับทราบอยู่แล้วว่า ห้ามเล่นการพนันภายในบริษัท พนักงานต้องไม่ทำความผิดอาญาโดยเจตนา
แม้ว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีก็ตาม ถ้าบริษัทจับได้มีโทษถึงไล่ออก แต่นายใหญ่และพวกก็ยังฝ่าฝืน
พอบริษัทจับได้ว่า นายใหญ่และพวกเล่นการพนัน ก็เลยลงโทษไล่ออก (ภาษากฎหมายแรงงานจะเรียกว่า "เลิกจ้าง") โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน เพราะถือว่านายใหญ่และพวกฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน เป็นการกระทำความผิดในกรณีร้ายแรง
ปรากฏว่านายใหญ่และพวกรวม 7 คน ก็เลยยกโขยงไปฟ้องศาลแรงงาน เพื่อเรียกร้องขอค่าชดเชยตามอายุงาน, ค่าเสียหาย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า แถมด้วยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 15 ต่อปีอีกแน่ะ (แหม..ช่างกล้านิ อิ อิ)
ยัง..ยังไม่พอ ยังฟ้องขอให้ศาลท่านพิพากษาให้บริษัทรับนายใหญ่และพวกกลับเข้าทำงาน โดยนับอายุงานต่อเนื่องอีกต่างหาก (คิดได้ยังไงเนี่ย....)
เรื่องก็เลยต้องขึ้นศาลแรงงาน ตามคดีที่ ฎ.1839/2554
ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางท่านตัดสินยกฟ้อง พูดง่าย ๆ ว่านายใหญ่และพวกรวม 7 คน ตกงานไปโดยไม่มีสิทธิในการเรียกร้องอะไร (ตามข้างต้น) ทั้งหมด
แต่นายใหญ่และพวกก็ยังอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยบอกว่า...พวกเขาเพิ่งเล่นการพนันเป็นครั้งแรก
แม้จะเป็นการทำผิดทางวินัยในด้านชื่อเสียงของบริษัท ดังนั้น บริษัทจึงต้องลงโทษด้วยการตักเตือนด้วยวาจา หรือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ถึงจะถูกต้อง จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยทันทีอย่างนี้ไม่ได้
แปลความง่าย ๆ ว่า นายใหญ่กับพวกยอมรับว่าตนเองกับพวกเล่นการพนันในบริษัทจริง ยอมรับว่าทำผิดวินัยจริง แต่เพิ่งเล่นการพนันเป็นครั้งแรกเอง...บริษัทจะใจจืดใจดำถึงกับเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยกันเชียวเหรอ
ทางที่ดีบริษัทควรออกหนังสือตักเตือนก่อนจะดีกว่าไหม เพราะตนเองและพวกเพิ่งเล่นการพนันกันเป็นครั้งแรก ยังไม่น่าจะถือเป็นความผิดร้ายแรงขนาดนั้น คือพูดง่าย ๆ ว่า นายใหญ่แกเริ่ม "แถ" ไปเรื่อย ๆ ว่า ความผิดของตนเองและพวกนั้นเพียงจิ๊บ ๆ บริษัทอย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่เลย
ซึ่งศาลฎีกาท่านก็มีคำพิพากษาออกมาอย่างนี้ครับ....
"....การที่โจทย์กับพวกเล่นการพนันประเภทไฮโลในบริเวณบริษัทจำเลย นอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรม เป็นชนวนให้เกิดการวิวาทบาดหมางในหมู่พนักงานด้วยกัน ทำลายความสามัคคีของหมู่คณะ ทั้งยังทำให้ผลงานของลูกจ้างลดน้อยลง และอาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายทางชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดครั้งแรกและโจทก์สำนึกผิดหรือไม่ก็ตาม
การกระทำของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับการทำงานของจำเลย และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง
จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) การกระทำของโจทก์มิใช่เป็นเพียงการกระทำผิดวินัยที่ทำให้เสียหายด้านชื่อเสียงต่อจำเลยเพียงอย่างเดียว อันจะลงโทษได้โดยการตักเตือนเท่านั้น
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลสมควร การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม"
เป็นไงล่ะ..จ๋อยไปน่ะสิครับ แถไม่ออก เพราะนายใหญ่ และพวกบอกว่าไม่ร้ายแรง แต่ศาลท่านเห็นว่าเป็นความผิดกรณีร้ายแรงนะครับ แม้ว่าจะอ้างว่าเพิ่งเล่นเป็นครั้งแรกก็ตาม !
จากคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น คงจะทำให้คนที่คิดหาลำไพ่พิเศษในบริษัทด้วยการเล่นการพนัน จะได้รับทราบไว้นะครับว่าผลสุดท้ายจะเป็นยังไง แม้จะมาอ้างว่าเพิ่งจะทำความผิดเป็น "ครั้งแรก" ก็ตาม
ก่อนปิดท้ายเรื่องนี้ ผมก็อยากจะฝากเอาไว้ว่า การเล่นหวย หรือเล่นพนันบอล ฯลฯ ก็อยู่ในฐานความผิดในเรื่องเล่นการพนันเช่นเดียวกัน อย่าคิดว่าการพนันคือการตั้งวงเล่นไพ่ หรือวงไฮโลเท่านั้นนะครับ
มีคำโบราณเคยบอกเอาไว้ว่า "โจรขึ้นบ้านสิบครั้งยังไม่เท่าไฟไหม้บ้านครั้งเดียว
...แต่ไฟไหม้บ้านสิบครั้งก็ยังไม่เท่ากับการเล่นการพนันเพียงครั้งเดียว" เพราะการพนันจะทำให้คนคนนั้นสูญเสียทุกสิ่งอย่างไปในที่สุด