หนุ่มๆ รู้ไว้ กินน้ำผึ้งลดอ้วน′ไม่จริง′ ซ้ำเบาหวาน
กรณีสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการศึกษาฝักมะรุมต้มระบุว่า มีประโยชน์ในแง่การรับประทานเป็นอาหาร ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่มีคำเตือนในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากรับประทานในปริมาณมาก อาจไม่ส่งผลดี และการรับประทานมะรุมมากๆ ยังก่อพิษในตับ โดยเฉพาะมะรุมที่ทำเป็นผลิตภัณฑ์แคปซูล เพราะมีความเข้มข้นสูงนั้น
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ภญ.สุภาพร ปิติพร หัวหน้าเภสัชกรและเลขานุการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า สำหรับการรับประทานมะรุม ตามภูมิปัญญาชาวบ้านจะนิยมนำใบมะรุมมาต้มดื่มเพื่อช่วยลดความดันโลหิต และจะนำมารับประทานเป็นผักลวกทั่วไป อย่างไรก็ตาม การที่จะนำสมุนไพรชนิดใดมาใช้ต่อยอดหรือนำออกเผยแพร่ ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะดูจากร่องรอยการใช้ยาของหมอโบราณว่าใช้อย่างไร ก็จะไปตรงจุดนั้นมากกว่า ดังนั้นการที่โรงพยาบาลใดจะนำไปสกัดใส่เป็นแคปซูลเพื่อให้รับประทานในปริมาณมากๆ ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะมีปัญหาได้ เพราะตามภูมิปัญญาชาวบ้านนิยมนำใบมะรุมมาต้มดื่มเพื่อช่วยลดความดันเท่านั้น นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานว่า หากรับประทานมากจะมีผลต่อตับและทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ตรงนี้ก็ต้องระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้สูงอายุ รวมถึงประชาชนทั่วไป ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่สูงติดต่อกันเป็นเวลานาน
"ในส่วนของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไม่เคยทำมะรุมในลักษณะแคปซูลออกมาจำหน่าย เนื่องจากทางเรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน และเห็นว่ามะรุมควรรับประทานในรูปแบบของผักมากกว่า เท่าที่มีการยืนยันในส่วนของภูมิปัญญาไทย จะมีสรรพคุณที่ใช้ได้อย่างเดียวคือช่วยลดความดัน ซึ่งไม่ได้เด่น ดังนั้นการจะนำใบมะรุมมาตากแห้ง แล้วนำไปสกัดใส่ในแคปซูล ทั้งข้อมูลของแพทย์แผนปัจจุบันและดั้งเดิมยังไม่มากพอ เราจึงไม่ทำ" ภญ.สุภาพรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพ ขณะนี้ยังมีการเผยแพร่ว่าน้ำผึ้งเป็นอาหารที่มีสรรพคุณรักษาโรค โดยเฉพาะนำมาผสมกับอบเชย จะทำให้รักษาโรคได้มากมาย อาทิ โรคหัวใจ หรือหากนำมาชงเป็นเครื่องดื่ม โดยใช้น้ำผึ้ง 2 ช้อน กับผงอบเชย 1 ช้อนชา จะแก้อาการปวดข้อปวดกระดูก รวมไปถึงหากนำมาดื่มยังแก้ปัญหาโรคกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ ขับลมในกระเพาะ แก้อาการท้องอืด รวมทั้งลดน้ำหนัก ลดคอเลสเตอรอล ส่งผลให้ประชาชนอาจหลงเชื่อนั้น
ผศ.วันทนีย์ เกรียงสินยศ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและอาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับน้ำผึ้ง พบว่าองค์ประกอบหลักของน้ำผึ้ง ก็คือน้ำตาล ซึ่งมีถึงร้อยละ 80-85 ส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวคือ กลูโคส และฟรักโทส ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ทำให้น้ำผึ้งมีรสหวาน ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ (ประมาณ 20 กรัม) ให้พลังงานกับร่างกายประมาณ 60 กิโลแคลอรี ดังนั้น หากรับประทานจำนวนมากๆ ย่อมทำให้น้ำหนักมากขึ้น จึงไม่น่าจะช่วยให้ลดความอ้วนหรือลดคอเลสเตอรอลได้อย่างที่แชร์ข้อมูลกัน เพราะการลดความอ้วนมีหลายปัจจัย อย่าลืมว่าแต่ละวันไม่ได้ทานแค่น้ำผึ้งเท่านั้น ยังต้องทานอาหารอื่นๆ ด้วย ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวาน หากทานน้ำผึ้งมากๆ จะเสี่ยงต่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากกว่าคนทั่วไปด้วย ดังนั้น การรับประทานต้องพอเหมาะ เช่น คนทั่วไป หากมีความต้องการพลังงานประมาณ 1,600 ถึง 2,000 กิโลแคลอรี ควรทานไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งปริมาณจะพอๆ กับน้ำตาลที่ทานกันปกติ ส่วนผู้ป่วยเบาหวานก็ต้องลดลง
ผศ.วันทนีย์กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยเบาหวาน หากต้องการรับประทานน้ำผึ้ง ถ้าเดิมเคยได้รับอนุญาตให้บริโภคน้ำตาลทรายได้เท่าไร ก็ใช้น้ำผึ้งในปริมาณที่เท่ากันแทนได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่แนะนำให้กินน้ำผึ้งหรือน้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ และทางที่ดีที่สุดต้องปรึกษาแพทย์ นักโภชนาการ หรือนักกำหนดอาหารที่ดูแลก่อน เพราะระดับอาการแต่ละคนไม่เหมือนกัน ส่วนที่มีข้อมูลว่าหากทานร่วมกับอบเชยจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ก็ยังไม่ชัดเจน แม้ที่ผ่านมามีการศึกษาพบว่าอบเชยลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่ก็ไม่มีผลศึกษาเชิงลึกว่าผู้ป่วยหายได้จริง"
"สิ่งที่ต้องย้ำเตือนคือ น้ำผึ้งมีหลายชนิด น้ำผึ้งที่มาจากแต่ละแหล่งอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของชนิดน้ำตาลที่อยู่ในน้ำผึ้ง ถ้าเทียบการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากการกินน้ำตาลกลูโคสเท่ากับ 100% การกินน้ำผึ้งที่มีปริมาณน้ำตาลเท่ากัน บางชนิดอาจทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเพียง 50% ขณะที่น้ำผึ้งบางชนิดอาจจะทำให้น้ำตาลขึ้นสูงเป็นร้อยละ 70-80% แต่ทั้งหมดก็ถือว่าทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงได้ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานหลายคนอาจมองว่ากินน้ำผึ้งไม่ส่งผล แต่จริงๆ หากกินเยอะๆ ก็ส่งผลต่อระดับน้ำตาลได้เช่นกัน" ผศ.วันทนีย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับสูตรน้ำผึ้งผสมอบเชยจะลดอาการอาหารไม่ย่อย แก้อาการท้องอืด จริงหรือไม่ ผศ.วันทนีย์กล่าวว่า น้ำผึ้งมักได้รับคำกล่าวว่าบำรุงสุขภาพ เพราะน้ำผึ้งนอกจากมีน้ำตาลตามธรรมชาติแล้ว ยังมีคาร์โบไฮเดรตที่มีโครงสร้างที่ยาวกว่าน้ำตาล มีการศึกษาพบว่าอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้แบคทีเรียชนิดดีที่มีอยู่ในร่างกายทำงานดีขึ้น จึงทำให้ระบบลำไส้ทำงานดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่จะทำให้อาการท้องอืดดีขึ้น อย่างไรก็ตามอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อาจมีได้จากหลายสาเหตุ การหาสาเหตุและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะช่วยแก้ปัญหาอาการท้องอืดได้ดีกว่า นอกจากนี้การบริโภคอาหารที่ย่อยง่าย ในปริมาณที่เหมาะสม เป็นเวลา จะช่วยลดปัญหาอาหารไม่ย่อยและท้องอืดได้
เมื่อถามว่าน้ำผึ้งรักษาโรคผิวหนังติดเชื้อได้หรือไม่ ผศ.วันทนีย์กล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีเคยทำการศึกษาการสมานแผลจากน้ำผึ้ง โดยทำการรักษาในผู้ป่วย พบว่าได้ผลดี เพียงแต่มีการรักษาร่วมกับวิธีอื่น ที่สำคัญน้ำผึ้งที่นำมาใช้ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำผึ้งที่นำมาใช้สะอาดจริงๆ น้ำผึ้งที่จำหน่ายทั่วไปไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ยิ่งหากนำน้ำผึ้งไปผสมกับอบเชย ยิ่งไม่มั่นใจว่าจะมีความสะอาดเพียงพอหรือไม่ เพราะมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ ทั้งน้ำผึ้งและอบเชยก็มี ทั้งหมดจึงต้องระวังในการเชื่อและนำไปปฏิบัติตาม
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับพืชสมุนไพร ผัก ผลไม้ ที่ระบุว่ารักษาโรคต่างๆ ว่า เบื้องต้นได้หารือร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าควรมีการรวบรวมข้อมูลจากการแชร์ลักษณะนี้ เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าข้อมูลดังกล่าวมีข้อเท็จจริง น่าเชื่อถือหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เพื่อให้ความรู้กับสังคม เพราะบางอย่างหากไปปฏิบัติตามอาจเกิดผลร้ายต่อสุขภาพได้
(ที่มา:มติชนรายวัน 8 สิงหาคม 2558)