นักวิทย์ผ่า"เครื่องดื่มชูกำลัง"ยุคนี้...ดื่มแล้วดีหรือสินค้าฟันกำไร? คนดังแห่ทำขาย

นักวิทย์ผ่า"เครื่องดื่มชูกำลัง"ยุคนี้...ดื่มแล้วดีหรือสินค้าฟันกำไร? คนดังแห่ทำขาย

นักวิทย์ผ่า"เครื่องดื่มชูกำลัง"ยุคนี้...ดื่มแล้วดีหรือสินค้าฟันกำไร? คนดังแห่ทำขาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะอยู่ในสภาวะชลอตัว ในอีกด้านยังมีตลาดสินค้าที่นักธุรกิจให้ความสนใจลงทุนโดยเฉพาะตลาด "เครื่องดื่มชูกำลัง" ที่มีทั้งนักธุรกิจกลุ่มเดิม กลุ่มใหม่ที่รวมถึงคนดังหันมาสร้างตราสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังของตัวเอง

"เครื่องดื่มชูกำลัง"ผลิตจากอะไรมีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกายสัดส่วนการลงทุนต่อขวดและการขายสามารถทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหนฟัง รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์และทดลองแยกแยะส่วนผสมในเครื่องดื่มชูกำลัง

ชมคลิป ทดสอบส่วนผสมเครื่องดื่มชูกำลัง มีส่วนผสมตรงตามโฆษณา ?
ห้ามพลาดช่วงท้ายคลิป !!!

ธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังน่าสนใจอย่างไร เพราะช่วงหลังมักเห็นมีคนกระโดดเข้ามาลงทุนกันมากขึ้น ?

เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นธุรกิจที่มีทั่วโลก ซึ่งมีกฏหมายระบุให้สามารถผลิตได้ทั่วโลก ถือเป็นสิ่งสำหรับนักกีฬาด้วยซ้ำ อย่างบางประเทศถือเป็นยาในการกระตุ้นให้เราสดชื่น (Refreshment) ในเมืองไทยก็มีขายมานานแล้ว
ถ้าถามว่ากำไรหรือผลประโยชน์มียังไง จากขวดนึงก็มีประมาณ 100 มิลลิลิตร ไม่เกิน 150 มิลลิลิตร เพราะฉะนั้นต้นทุกในการผลิตก็จะไม่สูงมาก ส่วนผสมหลักๆเขาก็ระบุตามกฏหมายว่าไม่ให้ใส่คาเฟอีนเกิน 50 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าปริมาณน้อยมาก และมีราคาไม่แพง นอกนั้นก็จะมีส่วนผสมอื่นๆอย่างเช่น น้ำตาลกลูโคส หรือว่าพวกที่เป็นกรดที่ทำให้รสชาติออกเปรี้ยวๆ หรือบางยี่ห้อก็จะใส่พวกวิตามินเข้ามาเสริม เพื่อเป็นแรงจูงใจ
ในเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจ ถือว่ากำไรดี ต้นทุนการผลิตขวดนึงไม่น่าจะเกิน 5 บาท เพราะฉะนั้นถือว่ากำไรค่อนข้างดี และทำให้คนที่มีทุนสูงหันมาประกอบธุรกิจด้านนี้ ถ้าถามว่าตัวเครื่องดื่มชูกำลังมีลูกค้าเป็นคนกลุ่มไหนที่ดื่ม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้ใช้กำลัง หรือนักกีฬา ซึ่งสัดส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนา ถือว่าสัดส่วนของผู้บริโภคกลุ่มนี้ค่อนข้างเยอะ จึงเหมาะที่จะขายแล้วได้กำไร เพราะฉะนั้นคนที่จะสามารถชักจูงให้ลูกค้ากลุ่มนี้ซื้อได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง เราจะเห็นว่ามีกลุ่มนี้ออกมาลงทุนธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังค่อนข้างเยอะ

ในแง่ที่ใส่พวกสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างวิตามินเข้ามา ซึ่งถ้ามองแล้วมีอาจจะมีปริมาณน้อย แล้วจะมีผลหรือไม่ ?

ถือเป็นเทคนิคทางการตลาด ซึ่งกฏหมายก็ไม่ได้ระบุว่าไม่ให้ขาย แต่ตัวที่ระบุชัดเจนก็คือว่าห้ามใส่คาเฟอีนเกิน 50 มิลลิกรัมต่อหนึ่งขวด และกฏหมายก็ยังระบุชัดเจนว่าห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด การที่ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด ถือเป็นการห่วงผู้บริโภคดื่มคาเฟอีนเกินขนาด ส่วนสารอื่นๆที่เป็นประโยชน์ก็ถือเป็นผลดีต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่นิยมบริโภคอยู่แล้วเช่น ผู้ใช้แรงงาน หรือกลุ่มกรรมกร เขาก็จะได้ส่วนนี้เข้าไปด้วย ซึ่งก็ถือเป็นเทคนิคทางการตลาด ที่จะจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อ

ข้อดี และข้อเสีย ของเครื่องดื่มชูกำลังเป็นยังไงบ้าง ?

ตัวคาเฟอีนเป็นสารที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจ เคยมีรายงานในต่างประเทศว่ามีการ "ดื่มเกินขนาด" ประมาณ 1 วัน 4 ขวด แล้วไปเล่นบาสเก็ตบอล ปรากฏว่าหัวใจวาย ซึ่งจากผลการชันสูตรก็ระบุว่าหัวใจวาย ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะสารคาเฟอีนที่อยู่ในเครื่องดื่มชูกำลังอย่างเดียว อาจจะเป็นเรื่องของร่างกาย ซึ่งอาจจะมีโรคประจำตัวอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นการควบคุมเครื่องดื่มชูกำลังก็ค่อนข้างที่จะชัดเจนอยู่แล้ว อย่างในประเทศไทยเราก็ทำอยู่แล้วว่าห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด ซึ่งถือว่าเหมาะสม คนที่ร่างกายแข็งแรงอาจจะดื่มมากกว่าที่ระบุไว้ก็อาจไม่มีผลแต่ต้องอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

การใส่สารที่มีประโยชน์ก็คือว่าช่วยได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่ได้ไปหักล้างคาเฟอีนแต่ทำให้เราแทนที่จะดื่มแล้วได้รับแค่คาเฟอีนอย่างเดียวเราก็จะได้รับสารที่มีประโยชน์ในส่วนอื่นด้วยเช่นวิตามินซึ่งพวกนี้ก็จะมีผลเรื่องการทรงตัวระดับน้ำเลี้ยงในสมองได้

การโฆษณาในปัจจุบันที่มีการดัดแปลงมากขึ้น ด้วยการใส่วิตามินเข้ามาเสริม ตรงนี้จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ?

การโฆษณาทำได้ แต่ไม่ควรมองมุมเดียว เช่น บอกว่ามีคอลลาเจน มีวิตามินบี หรือรวม ตรงนี้ต้องขึ้นกับภาครัฐที่จะต้องมากำกับดูแล แม้ว่ากลุ่มลูกค้ายังคงเป็นกลุ่มเดิมคือผู้ใช้กำลัง หรือแรงงาน แต่การโฆษณาในลักษณะของสารที่มีประโยชน์จะมีผลกระทบต่อกลุ่มที่รักสุขภาพ คือจะไม่รู้อีกมุมนึงว่าเครื่องดื่มชูกำลังมีคาเฟอีน เขาจะคิดว่ามีสารที่มีประโยชน์ ก็เลยทำให้หันมาบริโภค ก็จะได้ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งเพิ่มเข้ามา

เคยเจอกรณีหนึ่ง เป็นเด็กมาซื้อเครื่องดื่มชูกำลังไปดื่ม ซึ่งเราก็บอกว่าไปดื่มอย่างอื่นดีกว่า แต่เด็กก็ตอบกลับมาว่ามันมีประโยชน์จากที่เห็นโฆษณา เพราะฉะนั้นโฆษณามีผลมาก ก็ควรจะต้องระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด หรือผลิตภัณฑ์นี้มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะด้วยร่างกายของเด็กนั้นต้องได้รับการพัฒนาตามธรรมชาติ จึงยังไม่เหมาะที่จะกระดุ้นให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้เร็วขึ้นด้วยการใช้เครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งจะทำให้การทำงานของร่างกายเด็กทำงานผิดปกติ และจะส่งผลต่อร่างกายในระยะยาว ก็เหมือนกับเครื่องยนต์ ถ้าหากใช้งานหนักมากๆในอนาคตก็จะเสื่อมลง

วงการเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทย แตกต่างกับต่างประเทศหรือไม่ ?

เครื่องดื่มชูกำลังมีทั่วโลก ซึ่งเมืองไทยก็เป็นรายใหญ่ที่ส่งออกด้วย โดยกฏหมายระบุว่าไม่ให้มีคาเฟอีนเกิน 50 มิลลิกรัมต่อหนึ่งขวด ซึ่งบางยี่ห้อไม่ใส่เลยก็มี แต่ใส่สารอื่นแทน เช่นใส่พวกกลูโคสซึ่งเป็นน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar) เวลาเราได้รับน้ำตาลกลูโคสจะทำให้รู้สึกสดชื่น ถือว่าทดแทนได้เช่นกัน แต่การออกฤทธิ์อย่างการทำให้รู้สึกสดชื่น หรือกระปรี้กระเปร่า ก็จะน้อยกว่าคาเฟอีน

แต่ในต่างประเทศนั้น บริษัทที่จะมาลงทุนก็จะเป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นนักธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากเมืองไทยที่มีเรื่องแรงจูงใจเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างมีไอดอล ซึ่งเป็นคนที่ผู้ใช้แรงงานชอบ ก็ถือเป็นเทคนิคหนึ่ง เรียกว่าเป็นแบรนด์ที่เขามีมาในตัวอยู่แล้ว ซึ่งทางธุรกิจเรียกว่า แบรนด์ดิ้ง (Branding) หรือการสร้างชื่อ เหมือนเราซื้อผลิตภัณฑ์หนึ่ง เราไปหยิบยี่ห้อหนึ่งมา แต่เราบอกซื้ออีกชื่อหนึ่งนะ ก็สามารถสร้างแบรนด์ได้ เพราะฉะนั้นคนดังในเมืองไทยเขามีแบรนด์ในตัวอยู่แล้ว การเอาชื่อกลุ่มต่างๆของตัวเองมาติดในเครื่องดื่มชูกำลัง ก็จะช่วยให้ขายง่ายขึ้น ส่วนเรื่องส่วนผสมก็จะเหมือนกันหมด

ที่เห็นว่าวงการเครื่องดื่มชูกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตวงการธุรกิจชนิดนี้ควรจะออกมาในรูปแบบใด ?

คิดว่าผู้ประกอบการควรจะต้องมีจริยธรรม และคุณธรรม ในการมองว่าเครื่องดื่มชูกำลังไม่ได้มีสารที่มีประโยชน์อย่างเดียว แต่มีสารที่สุ่มเสี่ยงอยู่ด้วยก็คือคาเฟอีน รวมถึงสารตกแต่งสี กลิ่น หรือว่ารสชาติออกเปรี้ยวๆ ล้วนเป็นสารเคมีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการแข่งขันทางการตลาด ก็จะต้องนึกถึงผู้บริโภคเป็นหลักด้วย ไม่ใช่นึกถึงแต่ผลกำไร เพราะถ้านึกถึงแต่ผลกำไรมันก็จะสู้กันด้วยเทคนิคซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคโดยตรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook