"เชฟหมี" ทวนความรู้ ทำไมคนจึงบูชา "ลึงค์"

"เชฟหมี" ทวนความรู้ ทำไมคนจึงบูชา "ลึงค์"

"เชฟหมี" ทวนความรู้ ทำไมคนจึงบูชา "ลึงค์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ฮินดูกับลึงค์คดี

มติชนสุดสัปดาห 11-17 กันยายน 2558

ศาสนาในอินเดียล้วนเป็นศาสนาแห่งสัญลักษณ์ ที่จริงไม่ใช่แค่อินเดียเท่านั้น ศาสนาทั้งหลายในโลกล้วนใช้สัญลักษณ์ต่างๆ กัน มากน้อยแตกต่างกันออกไป

แต่ในอินเดีย การศึกษาสัญลักษณ์ทั้งหลายล้วนน่าสนใจ เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ

ศาสนาในอินเดีย โดยเฉพาะศาสนาฮินดู ได้รับเอาสัญลักษณ์ทั้งหลายจากศาสนาโบราณ หรือศาสนาก่อนประวัติศาสตร์เข้ามาไว้ในสารบบฮินดู โดยสร้างความหมายขึ้นใหม่ซ้อนทับความหมายเดิม

หรือสร้างความหมายเพื่อจะปกปิดซ่อนเร้นความหมายที่แท้จริงไว้ก็มี

กระบวนการดังกล่าวมีทั้งการใช้เทวตำนานหรือการใช้ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ

กระนั้น สัญลักษณ์เหล่านี้ยังคงสดใหม่ ส่งทอดมายังปัจจุบัน

คนฮินดูยังคงมีปฏิสัมพันธ์กับสัญลักษณ์ที่มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ใช้อย่างไม่แตกต่างกันนัก

รอเพียงให้เราไปค้นพบและตีความ

นอกจากนี้ การใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในอินเดียยังมีการปะทะสังสรรค์กัน ในระหว่างศาสนาหรือความเชื่อเดียวกันและศาสนาที่ต่างกันด้วย

การปะทะสังสรรค์กันของสัญลักษณ์นี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของอำนาจทางสังคมและทางเพศ และความเข้าใจต่อชีวิตและเป้าหมายสูงสุดของมัน

สัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือสัญลักษณ์ทางเพศ

ถ้าจะนับว่ากิจกรรมใดเป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่มีความหมายและมีนัยทางจิตวิญญาณและศีลธรรม ดูเหมือนว่า กิจกรรมทางเพศเป็นกิจกรรมที่นัยนี้มากที่สุด เนื่องด้วยมันต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นอย่างจำเป็น

มันเกี่ยวกับอำนาจของการก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นอำนาจในการสรรค์สร้างดุจเดียวกับของพระเจ้า และมันก่อให้เกิดความสุขหฤหรรษ์และความทุกข์มากล้น

ศาสนาโบราณจึงมองเรื่องเพศเป็นเรื่องราว "ศักดิ์สิทธิ์"

ในศาสนาอินเดียโบราณ มีกิจกรรมสองอย่างที่ทำให้มนุษย์ดูคล้ายเทพ คือการร่วมเพศ (และก่อกำเนิดชีวิต) และการทำงานศิลปะ เช่น รำฟ้อนและดนตรี (ซึ่งทำให้มนุษย์ได้เสพทิพยสุขที่เหนือกว่าสัตว์)

การร่วมเพศจึงไม่ใช่กิจกรรมตามสัญชาตญาณเท่านั้น แต่มันอาจเปิดเผยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับความลึกลับนานาประการของตัวเราและธรรมชาติ

เครื่องเพศทั้งชายหญิงจึงเป็นของสูงส่ง มันไม่เพียงอยู่ที่ตัวมนุษย์เท่าที่เราจะสังเกตมันได้

สำหรับคนโบราณแล้ว มันได้ปรากฏอยู่ในโลกธรรมชาติด้วย แผ่นดิน เถื่อนถ้ำ หลุมดำมืด แม่น้ำ และท้องสมุทร จึงเป็นครรโภทร โยนี หรือมดลูกของ "เจ้าแม่" แห่งจักรวาลที่จะก่อเกิดสิ่งมีชีวิตทั้งต้นไม้และส่ำสัตว์นานา รวมทั้งแร่ธาตุและอาหารทั้งปวง

ในขณะที่ท้องฟ้า คือ "เจ้าพ่อ" แห่งจักรวาล ที่จะต้องหลั่งฝน หรือเชื้อชีวิต (ในคัมภีร์พระเวทเรียกว่า เรตัส ซึ่งหมายถึงเชื้อชีวิต หรืออสุจิ) ลงมาให้เจ้าแม่ทรงครรภ์ พืชพรรณทั้งปวงจึงงอกงาม และสัตว์ทั้งหลายจึงจะเกิดได้

กระบวนการตามธรรมชาติจึงถูกเข้าใจในฐานะ "การร่วมเพศระดับจักรวาล" ของเจ้าพ่อฟ้าและเจ้าแม่ดิน ความคิดนี้เป็นความคิดทั่วไปของมนุษย์โบราณทั้งหลาย แต่ในอินเดียความคิดดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดจดจารในคัมภีร์พระเวทอีกด้วย

การบูชา "เสา" หรือ "หินตั้ง" จึงเกิดขึ้นเพื่อย่นย่อเอารูปลึงค์แห่งเจ้าพ่อฟ้าไว้เพื่อบูชาโดยใกล้ชิด การบูชาเสา หินตั้ง หรือรูปลึงค์นี้จึงพบได้ทั่วไปในอินเดีย

และในที่สุด เสานี้จะพัฒนามาเป็นการบูชา "ศิวลึงค์"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook