ผลสำรวจชี้พิษค่าจ้างทำ SMEs เจ๊งนับหมื่นที่เหลือร่อแร่
ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เผยผลสำรวจผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ SMEs รายย่อยและรายเล็ก ปิดกิจการแล้ว 5-7 หมื่นราย
แม้ 80 % จะยังสู้ไหว แต่ก็ร่อแร่ แนะรัฐรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ดี แก้ปัญหาค่าครองชีพพุ่ง กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ หากทำไม่ได้ถึงสิ้นปี SMEs ทยอยปิดอีกหลายหมื่ราย
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึงผลการวิจัยเรื่อง "6 เดือนค่าแรงขั้นต่ำ 300 เอสเอ็มอี ยังสู้ไหว
ว่าการวิจัยครั้งนี้เป็นการติดตามผลกระทบของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 685 ราย จาก 16 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ จาการสอบถามผู้ประกอบการพบว่า ค่าแรงที่ปรับขึ้น 300 บาท ในภาพรวมแล้ว 24.7 % ระบุว่า มีผลกระทบมากว่าที่คาดการณ์ไว้ 40.7 % ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ 20.6 % น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และอีก 14.0% ไม่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ หากประเมินผลกระทบโดยแบ่งตามขนาดของวิสาหกิจ จะพบว่า สัดส่วนของกิจการที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งธุรกิจรายย่อยกระทบ 31.7 % ธุรกิจขนาดเล็กกระทบ 35.9 และธุรกิจขนาดกลางกระทบ 12.4 %
ซึ่งผลที่ได้สะท้อนให้เห็นว่า ความสามารถในการคาดการณ์และเตรียมตัวขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ ซึ่งธุรกิจที่มีขนาดเล็กจะมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของตนทุนสูงกว่าธุรกิจประเภทเดียวกันที่มีขนาดใหญ่กว่า
สำหรับผลกระทบที่มีต่อการดำเนินกิจการ 11.2 % ระบุว่า ดำเนินกิจการได้ดีกว่าเดิม ด้วยสาเหตุการจ่ายค่าแรงที่สูงกว่า สามารถดึงแรงงานที่มีฝีมือมาทำงานได้มากขึ้น คู่แข่งที่มีต้นทุนสูงขึ้น ต้องปรับราคาสินค้า ทำให้ลูกค้าหันมาซื้อสินค้าของตนมากขึ้น และคู่แข่งปิดกิจการ ขณะที่ 21.0 % ระบุว่า ดำเนินการกิจการได้เหมือนเดิม เพราะได้มีการเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว และ 47.3 % ดำเนินกิจการได้ แต่ไม่ดีเหมือนเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดในการปรับตัวทำให้ไม่สามารถรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้นได้
แสดงให้เห็นว่า SMEs 79.5 % สามารถรับมือกับผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำได้ มี 12.9 % ยังไม่แน่ใจ เพราะยังไม่สามารถประเมินผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบได้อย่างชัดเจน และอีก 7.6 % ระบุว่า รอเวลาปิดกิจการ เพราะคาดว่าหากต้นทุนสูงขึ้นกว่านี้อีก จะทำให้ขาดทุนหรือกำไรน้อยเกินไป
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการปรับตัวที่ประกอบการใช้มากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่
- การลดการลงทุนระยะยาว 57.4 %
- การปรับขึ้นราคาสินค้า 48.6 %
- ลดต้นทุนการผลิตส่วนอื่นที่ไม่ใช่ค่าแรง 45.4 %
- การเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน 44 %
- นำเครื่องจักรมาใช้มากขึ้น 35.2 %
- และไม่สามารถทำอะไรได้เลย 17.1 %
ขณะที่ต้องปิดกิจการ 12.5 % ซึ่งแสดงเห็นว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มี SMEs ที่ต้องเข้าข่ายปิดกิจการทั้งประเทศรวมแล้วประมาณ 325,000 ราย
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในปี 2554 มี SMEs ปิดกิจการทั้งส้น 289,211 ราย หากใช้ตัวเลขนี้มาเป็นฐานในการประมาณค่า จะทำให้ยอดปิดกิจการที่เกิดขึ้นจากนโยบายค่าแรง 300 บาท น่าจะมีประมาณ 5-7 หมื่นราย โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานไม่เกิน 50 คน
ทั้งนี้ แม้ว่าเอสเอ็มอีประมาณ 80 % จะผ่านมรสุมค่าแรง 300 บาทได้ แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นได้ทำให้ SMEs จำนวนกว่า 2 ใน 3 อ่อนแอลงกว่าเดิม ซึ่งตอนนี้ SMEs มาถึงขีดจำกัดในการปรับตัวแล้ว
ซึ่งช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า รัฐบาลต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจมีความนิ่ง พอที่ SMEs จะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลค่าครองชีพของประชาชน การควบคุมหนี้ครัวเรือนไม่ให้สูงไปกว่านี้ และกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศให้มากขึ้น หากไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า อาจจะมี SMEs ปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นราย