สำรวจอาณาจักรธุรกิจ 3 มหาเศรษฐีอาเซียน
เป็นที่รู้กันดีว่า ไทยมีมหาเศรษฐีติดอันดับโลกตามการจัดอันดับรายปีของนิตยสารฟอร์บสอยู่ด้วยกัน 2 คน คือ "ธนินท์ เจียรวนนท์ และครอบครัว" แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 58 ด้วยทรัพย์สิน 14,300 ล้านดอลลาร์ และอีกคนคือ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" เจ้าพ่อเครื่องดื่มอาเซียน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 82 มูลค่าทรัพย์สิน 11,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 ตระกูลมีอาณาจักรธุรกิจครอบคลุมครบวงจร
หากไล่เรียงมาตามโผมหาเศรษฐีโลกของฟอร์บสปี 2013 ในอันดับที่ 1-100 มีมหาเศรษฐีในชาติอาเซียนติดอันดับอีก 3 คน คือ "เฮนรี่ ซาย" ชาวฟิลิปปินส์ ติดอันดับที่ 68, "โรเบิร์ต คูอ็อก" ชาวมาเลเซีย ติดอันดับ 76 และคนสุดท้ายอยู่ในอันดับเดียวกับเจริญ สิริวัฒนภักดี คืออันดับที่ 82 "อนันดา กริชแนน" ชาวมาเลเซีย
เฮนรี่ ซาย เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 1 ของฟิลิปปินส์ มีทรัพย์สินครอบครอง 13,200 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลล่าสุดถึงเดือนมีนาคม 2556) ร่ำรวยจากธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และเหมืองแร่ ภายใต้การบริหารของเอสเอ็ม กรุ๊ป กลุ่มบริษัทรายใหญ่สุดในฟิลิปปินส์
ปัจจุบัน ซาย อายุ 88 ปี ธุรกิจของเขาเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2553 ท่ามกลางวิกฤตการเงินโลก ซายบริหารกลุ่มบริษัทเอสเอ็ม อินเวสต์เมนต์ คอร์ปให้มีรายได้มากถึง 5,000 ล้านดอลลาร์
ในวัยเด็กซายย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีน เข้ามาช่วยงานร้านสะดวกซื้อของพ่อ กระทั่งมาเริ่มต้นตั้งบริษัทแรกของตนเองเมื่อปี 2501 หรือเมื่อเขาอายุ 34 ปี ชื่อบริษัท ชูมาร์ท (Shoemart) หรือรู้จักกันในนามเอสเอ็ม (SM) แต่แรกเริ่มธุรกิจของเขาวางแผนด้วยการเป็นซัพพลายเออร์รองเท้าจากอเมริการายใหญ่ จากนั้นก็เริ่มปรับแผนธุรกิจมาเป็นร้านรองเท้าและมาเป็นห้างสรรพสินค้า เขาหันมาจับธุรกิจห้างสรรพสินค้าชื่อบริษัทเอสเอ็ม ดีพาร์ตเมนต์สโตร์จากนั้นซายจึงมุ่งไปจับธุรกิจห้างสรรพสินค้า และขยายไปยังธุรกิจสาขาอื่น ๆ ในปี 2548 เขาจัดตั้งกลุ่มบริษัทเอสเอ็ม อินเวสต์เมนต์ คอร์ป ขึ้น ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด และมีมูลค่ามากสุดในฟิลิปปินส์
เรียกได้ว่าซายเป็น "เจ้าพ่อ" วงการธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และอสังหาริมทรัพย์ในฟิลิปปินส์ เขาเป็นเจ้าของไชน่า แบงก์ ธนาคารเก่าแก่รายใหญ่สุดในฟิลิปปินส์ และธนาคารแบงโก เดอ โอโร ยูนิแบงก์ หรือธนาคารบีดีโอ ยูนิแบงก์
ช่วงปี 2549 ซายกว้านซื้อหุ้นของธนาคารอิควิเทเบิล พีซีไอ ธนาคารที่ปล่อยกู้รายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ เขาซื้อหุ้น 66% โดยที่ตนถือหุ้นอยู่แล้ว 34% จากนั้นในปีถัดมาก็ควบรวมกิจการกับธนาคารบีดีโอ ยูนิแบงก์
การควบรวมกิจการธนาคารครั้งนั้นส่งผลให้บีดีโอ ยูนิแบงก์ เป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศ ด้วยมูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์
บริษัทเอสเอ็ม อินเวสต์เมนต์ คอร์ป ภายใต้การบริหารของซาย เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่มีการบริหารดีที่สุดในฟิลิปปินส์ ในปีที่ผ่านมาซายครองตำแหน่งมหาเศรษฐีโลกของนิตยสารฟอร์บสในอันดับที่ 116 ก่อนไต่ขึ้นมาอันดับที่ 68 ในปีนี้ไล่ลงมาตามลำดับ จะเจอชื่อ โรเบิร์ต คูอ็อก มหาเศรษฐีอีกคนในแถบอาเซียน เขามีเชื้อสายจีน-มาเลเซีย เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในมาเลเซีย และที่มีทรัพย์สินครอบครอง 12,500 ล้านดอลลาร์ ธุรกิจที่สร้างฐานะอันมั่งคั่งของเขามีหลากหลาย ทั้งเหมืองแร่ การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการพิมพ์ ชิปปิ้ง ไปจนถึงภาคการเกษตรและสินค้าแปรรูป ทำฟาร์ม สวนปาล์มน้ำมัน สวนอ้อย ผลิตน้ำตาล แป้ง และธุรกิจเทรดดิ้ง
ปัจจุบันคูอ็อก อายุ 89 ปี เขาเป็นมหาเศรษฐีที่ค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยออกสื่อนัก และธุรกิจของเขาส่วนมากจะอยู่ภายใต้การดูแลในครอบครัว ธุรกิจของคูอ็อกออกไปลงทุนทั่วประเทศในแถบเอเชีย ธุรกิจใหญ่ที่สร้างรายได้ให้กับเขาและครอบครัวอย่างมาก คือ บริษัทวิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดหุ้นสิงคโปร์ และเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก
วิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดูแลธุรกิจปาล์มน้ำมัน ครอบคลุมตั้งแต่การเพาะปลูก กลั่น บรรจุภัณฑ์ และกระบวนการขาย นอกจากนี้ ยังผลิตไบโอดีเซลด้วย วิลมาร์ฯทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ มีโรงงานผลิตในเครือข่ายมากถึง 450 แห่ง ครอบคลุมจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และอีกกว่า 50 ประเทศ มีแรงงานนานาชาติภายใต้บริษัทวิลมาร์ฯมากถึง 93,000 คนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2555-มีนาคม 2556) วิลมาร์ฯได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันปาล์มตก แต่มีรายงานว่าเขาถือหุ้นเพียง 10% เท่านั้น
บริษัทในเครือของคูอ็อกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมปี 2554 จำนวน 100 ล้านดอลลาร์ เพราะเขาเข้าสู่ธุรกิจสาขาใหม่ คือ การเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อ ภายใต้ชื่อบริษัทยูรูน ฟู้ด กรุ๊ป และในช่วงปีเดียวกัน เขาถือหุ้นของโรงแรมแชงกรี-ลา ฮ่องกง และบริษัทเคอร์รี พร็อพเพอร์ตี้สูงขึ้นด้วย ในปีที่ผ่านมาเขาร่ำรวยเป็นอันดับที่ 64 ของโลก และตกลงมาอยู่ที่ 76 ในปีนี้ส่วนมหาเศรษฐีอาเซียนที่ติดอันดับที่ 1 ใน 100 ของฟอร์บสอีกคน คือ "อนันดา คริชแนน" ชาวมาเลเซีย เชื้อสายทมิฬ ที่รุ่งเรืองในกิจการโทรคมนาคมและมัลติมีเดีย
คริชแนนมีทรัพย์สินเป็นรองจากคูอ็อก หรือเป็นอันดับที่ 2 ของมาเลเซีย เขามีทรัพย์สมบัติในครอบครอง 11,700 ล้านดอลลาร์ เขาเริ่มต้นธุรกิจน้ำมัน ตั้งบริษัทเอ็กซ์ออยล์ เทรดดิ้ง และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งปิโตรนาส บริษัทน้ำมันของรัฐบาลมาเลเซีย กระทั่งช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเขาผันตนเองมาจับธุรกิจโทรคมนาคมและมัลติมีเดีย
คริชแนนครอบครองหุ้นจำนวนมากในบริษัทแม็กซิส คอมมิวนิเคชั่น ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากถึง 10 ล้านคน
คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดมาเลเซียถึง 40% เขายังมีหุ้นในบริษัทแอร์เทล บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมและมัลติมีเดียในอินเดียที่มีธุรกิจอยู่ทั่วในเอเชียใต้ 20 ประเทศ และศรีลังกา เทเลคอม บริษัทให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ และโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และดิจิทัลทีวีรายใหญ่สุดของศรีลังกา
คริชแนน วัย 75 ปี ขยายเครือข่ายธุรกิจด้านสื่อโทรทัศน์กับบริษัทอินเดีย ทั้งบริษัทแอสโตร และอินเดีย ซัน เน็ตเวิร์ก โดยวางแผนจะผลิตคอนเทนต์ทีวีเพื่อเจาะตลาดชาวทมิฬที่อาศัยอยู่ในอเมริกาและยุโรป นอกจากนี้ ยังมองช่องทางไปยังธุรกิจหนังอีกด้วย
คริชแนนเป็นเพื่อนกับมหาธีร์ มูฮัมหมัด อดีตนายกฯมาเลเซีย บริษัทในเครือของเขาได้รับใบอนุญาตทั้งสัญญาณโทรคมนาคม สัญญาณดาวเทียม และสัญญาณโทรทัศน์ ทั้งยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับนายกฯนาจิบ ราซัก คนปัจจุบันอีกด้วย
เมื่อคราวเลือกตั้งที่ผ่านมา ธุรกิจของคริชแนนระส่ำระสายเล็ก ๆ เมื่ออันวาร์ อิบราฮิม ประกาศว่าสิ่งที่เขาอยากทำ คือ ลดราคาสมาชิกช่องทีวีดาวเทียมของบริษัทแอสโตร บริษัทผูกขาดยักษ์ใหญ่ของมาเลเซีย เพื่อให้เข้าถึงประชาชนหมู่มาก คริชแนนเล่นแต้มต่อด้วยการปิดปากเงียบ ไม่ตอบโต้ใด ๆ และเดินหน้าทำธุรกิจต่อไป
เขายังคงเป็นเจ้าพ่อโทรคมนาคมในมาเลเซียตัวจริง และได้ตำแหน่งมหาเศรษฐีขยับขึ้นจากอันดับที่ 93 ในปีที่แล้ว มาเป็นอันดับที่ 82 ในปีนี้