แนวโน้มการลงทุนตราสารหนี้ ช่วงถัดไปต้องพิจารณาอะไรบ้าง

แนวโน้มการลงทุนตราสารหนี้ ช่วงถัดไปต้องพิจารณาอะไรบ้าง

แนวโน้มการลงทุนตราสารหนี้ ช่วงถัดไปต้องพิจารณาอะไรบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยในครึ่งแรกของปี 2556 จะค่อนข้างผันผวนตามทิศทางของกระแสเงินทุนต่างชาติ

แต่โดยภาพรวมแล้วบรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยถือได้ว่าปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น หรืออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยช่วงต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร อาจต้องติดตามจากประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ค่ะ

ประเด็นแรกคือเรื่องของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ขณะที่ภาคการส่งออกยังคงหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญหรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 12% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ยอดคำสั่งซื้อที่น้อยลงจากจีนอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในอนาคต

นอกจากนี้แล้ว เม็ดเงินลงทุนจากโครงการเมกะโปรเจ็กต์ 2 ล้านล้านบาท และโครงการลงทุนระบบน้ำ 3 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้

เนื่องจากยังต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 อาจขยายตัวได้เพียง 4.2% เท่านั้น การจะดึงดูดให้เม็ดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุนจึงจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วโอกาสที่จะเกิดภาวะการไหลเข้าเงินทุนต่างชาติอย่างรุนแรงเหมือนในช่วงต้นปีอาจจะมีน้อยลง หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ก็เป็นได้ค่ะ

ประเด็นถัดมาคือเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งถือว่ามีผลโดยตรงต่อเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดเอเชียรวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป กระแสเงินที่เคยหมุนเวียนอยู่ในระบบการเงินโลกปริมาณมหาศาลจะค่อย ๆ ลดลง และแรงหนุนจากเม็ดเงินต่างชาติที่เคยไหลเข้าสู่ประเทศก็จะลดน้อยลงตามไปด้วยในที่สุด

ตัวอย่างชัดเจนล่าสุดจะเห็นได้จากกรณีที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ เบอร์นันเก้ ออกมาคาดการณ์ถึงกรอบเวลาและเงื่อนไขที่อาจจะมีการลดขนาดของมาตรการ QE ในช่วงปลายปี 2556 จนมีผลทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายตราสารหนี้ทั้งระยะสั้นและยาวที่เกิดการไหลออกของเงินลงทุน (Outflow) จากตลาดตราสารหนี้กว่า 80,000 ล้านบาท ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. และเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งเส้น (ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลดลง) ราว 50 basis point (0.5%)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสหรัฐยังคงจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องไปอีกสักระยะ จนกว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นไปได้ว่าจะมีกระแสเงินลงทุนบางส่วนไหลกลับเข้าสู่ตลาดการเงินของไทยด้วยเช่นกัน แต่จะเข้ามาในปริมาณที่สูงเหมือนช่วงต้นปีหรือไม่นั้น อาจต้องพิจารณาในประเด็นของอัตราผลตอบแทน (Yield) พันธบัตรรัฐบาลควบคู่กันค่ะ

โดยปัจจุบัน Yield ของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ 2.88% และ 3.90% ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในช่วงอายุเดียวกันให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 0.34% และ 2.5% ส่วนต่างของ Yield ที่ประมาณ 2.40% ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติในการที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบพันธบัตรไทยกับประเทศที่มีความน่าเชื่อถือในระดับใกล้เคียงกัน อย่างเช่น อินโดนีเซีย ซึ่งมี Yield ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ 6.85% และ 7.6% ซึ่งถึงแม้ Yield ของอินโดนีเซียจะสูง แต่ความเสี่ยงจากปัญหาขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ก็อาจทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้วยการไม่เข้าไปลงทุนก็เป็นได้

ถึงแม้ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งปีหลังนี้ อาจไม่ค่อยโดดเด่นมากนักเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี แต่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติยังมีโอกาสกลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยได้อีก หากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำของโลกยังไม่ฟื้นตัวดี

นอกจากนี้ การที่หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยพยายามช่วยกันหามาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ก็น่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในช่วงต่อไปยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนจึงควรต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดและถี่ถ้วนตลอดเวลาค่ะ

ข้อจำกัดความรับผิด (Disclaimer)

บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ โดยอ้างอิงจากข้อมูลสถิติในอดีต ประกอบกับทรรศนะส่วนตัวของผู้เขียน ทั้งนี้ ThaiBMA ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อจะชี้นำการลงทุน หรือสร้างข้อสรุปว่าการลงทุนในทางเลือกใดถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ThaiBMA ขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อผู้ที่นำเอกสารฉบับนี้ไปใช้แล้วก่อให้เกิดซึ่งความสูญเสียกำไร หรือสูญเสียโอกาส หรือความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น


โดย พอพิศ ยอดแสง ฝ่ายวิจัยและพัฒนาสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook