ปกรณ์ ทวีผลเจริญ สร้างแบรนด์ “Lemon Hub” บนความต่าง

ปกรณ์ ทวีผลเจริญ สร้างแบรนด์ “Lemon Hub” บนความต่าง

ปกรณ์ ทวีผลเจริญ สร้างแบรนด์ “Lemon Hub” บนความต่าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ปกรณ์ ทวีผลเจริญ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลมอน ฮับ จำกัด หนุ่มคนนี้เป็นคนเดียวกับผู้ที่ตั้งชื่อแบรนด์ "Daddy Dough" โดนัทคนไทยที่ขายแข่งแบรนด์นอกได้อย่างสบาย

วันนี้ "ปกรณ์" ลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ตัวเองในชื่อ "Lemon Hub" ขณะที่ "Daddy Dough" มีพี่ชาย (ปีเตอร์ ทวีผลเจริญ) เป็นผู้ดูแลโดยตรง

เขาใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 เดือน กว่าจะเห็น Lemon Hub เป็นรูปเป็นร่าง แม้ในความคิดของใครอาจมองว่าไม่มากเกินไป แต่สำหรับคนไฟแรง ทุ่มเททำงานอย่างจริงจัง อยากเห็นผลงานในเวลาสั้นกว่านี้ อย่างน้อยก็ไม่อยากใครชิงตัดหน้าทางการตลาด


หากพูดถึงธุรกิจของครอบครัว "ทวีผลเจริญ" ทั้งร้านอาหาร โดนัท และโรงงานผลิตชีส มากพอที่จะให้ "ปกรณ์" เข้าไปช่วยดูแล แต่การสร้าง Lemon Hub ด้วยความสามารถตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น ย่อมสร้างความภูมิใจให้กับเจ้าของแบรนด์ ขณะที่การฝ่าฟันปัญหามีคุณพ่อ ซึ่งทำธุรกิจร้านอาหารเป็นเวลานาน คอยให้คำปรึกษาในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจอาหารมานาน

"ธุรกิจนี้เกิดขึ้นจากความบังเอิญเมื่อปี 2555 ผมไปเดินหาของพรีเมียมให้กับ Daddy Dough ธุรกิจของพี่ชายที่ผมทำหน้าที่ดูแลเรื่องการตลาดให้ ตอนนั้นอากาศร้อนมาก มองไปซ้ายขวาเจอแต่น้ำอัดลมและเครื่องดื่มเดิม ๆ รู้สึกเบื่อ หันไปเห็นรถเข็นน้ำมะนาวเก่า ๆ ผ่านมา มีลูกมะนาววางเต็มเลยกำลังจะซื้อดื่มแต่พอเห็นคนขายใส่หมวกปิดหน้า ผิวดำ คิดว่าถ้าซื้อกินอาจท้องเสีย ตัดสินใจไม่ซื้อ วันนั้นเลยต้องดื่มน้ำเปล่าไป"

"จากจุดนี้ทำให้มองว่าธุรกิจน้ำมะนาวยังไม่มีใครทำให้ดูน่ากิน หรือออกแบบแพกเกจจิ้งให้น่ามอง จึงเกิดไอเดียให้ผมคิดทำน้ำมะนาวขาย แต่ถ้าเลือกมะนาวคงเป็นอะไรที่หาง่าย และทำง่ายในตลาดบ้านเรา จึงเลือกทำน้ำ Lemon เพราะในสหรัฐอเมริกาน้ำ Lemon เป็นที่นิยมและหากินง่ายมาก อีกทั้งยังมีเอกลักษณ์ด้านความหอมอร่อย รสเปรี้ยวสไตล์ไฮโซ"

"ทั้งรสชาติ กลิ่น ผ่านการลองผิดลองถูกเยอะมาก อีกตัวคือไอศกรีมรส Lemon ไม่มีแน่นอนในไทย เป็นซอฟต์เสิร์ฟที่ผลิตเป็นพิเศษโดยมีผลไม้เสริม เช่น บลูเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ เมนูอื่น ๆ อาทิ ชานม กาแฟ ชาผลไม้ โดยเฉพาะชานมตอบโจทย์ตลาดที่มาแรงมาก ทั้งที่ตอนคิดแบรนด์ไม่ได้คิดว่าจะมีชานม ตอนนี้กลายเป็นสินค้าขายดีอันดับต้น ๆ ก่อนเปิดร้านไม่กี่วัน พ่อให้ไปหาวิธีเรียนชานม ให้รู้เทคนิคคร่าว ๆ เพื่อนำมาประยุกต์เอง เช่น การนำชาอื่นมาทดแทน"


Lemon Hub แปลตรงตัวคือ ศูนย์กลางของมะนาว และตามคอนเซ็ปต์ธุรกิจคือ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ Lemon ทำให้คนดื่มรู้สึกสดชื่น
"หลักคิดแบรนด์ เหมือนตอนคิดชื่อ Daddy Dough ต้องแปลก ใหม่ ไม่ซ้ำใคร หลักการของผม search เว็บไซต์ก่อน มีคนใช้ชื่อที่ต้องการหรือยัง แล้วต้องดอทคอมด้วย เพื่อให้กว้างพอ เป็นโจทย์ยากมาก"

กว่าจะได้ชื่อนี้ "ปกรณ์" ใช้เวลาหลายเดือน และปิ๊งที่มาเพียงชั่วขณะของความคิด ในวันที่นั่งมองลูก Lemon และเห็น Hub ที่วางบนโต๊ะ
แค่นั้นเองจริง ๆ !!
จากนั้นรีบ search ดูในเว็บ ปรากฏว่าไม่พบใครใช้ชื่อนี้ เขาตัดสินใจกดโทรศัพท์กลางดึกหารุ่นพี่ที่ทำเว็บโฮสติ้ง หลังจากนั้นคุยเรื่องนี้กับที่บ้าน ความเห็นที่ได้รับกลับมาคือครอบครัวมีธุรกิจเยอะอยู่แล้ว จะทำอะไรเพิ่มอีกทำไม
"ผมเชื่อว่ามันไปได้ ด้วยคอนเซ็ปต์ที่คิดไว้ พ่อแม่ฟังยังไม่เห็นภาพ งานนี้ลุยคนเดียวเลยดีกว่า เริ่มจากหารูปแบบใหม่ ๆ ผมไปสั่งทำคีออสรูปเลมอนขนาดประมาณ 2 เมตร มีน้ำ ไฟ อยู่ด้านใน คนเข้าไปอยู่ในนั้นได้สองคน ตีราคาออกมาหลายแสน สองจิตสองใจ จะทำเป็นช็อปหรือคีออส ด้วยต้นทุนที่ใกล้เคียงกัน

ปกรณ์ตัดสินใจเลือกคีออส ด้วยเงินทุนตัวเองกับแม่ สาเหตุที่เลือกคีออส เพราะคิดว่าดึงดูดมากกว่า อีกเหตุผลคือเคลื่อนย้ายได้สะดวก แตกต่างจากการลงทุนเปิดช็อป ซึ่งเคลื่อนย้ายไม่ได้
"ตอนไปขายที่เมเจอร์รัชโยธิน ลูกค้าถ่ายรูปเยอะ แต่กลับถามผมว่านี่ลูกอะไร คิดว่าผมตกศิลปะหรือเปล่า (ทำไมคนเห็นแล้วไม่รู้) หรือเป็นเพราะอะไร ผมเข้าใจถ้าดูไม่รอบจริง ๆ จะไม่รู้ เขาไม่รู้ว่าผมขายอะไร เนื่องจากหน้าต่างร้านแคบทั้งที่ตอนสร้างคิดว่าใหญ่พอ ทำให้ร้านทึบ และเมนูเล็กตามไปด้วย เป็นบทเรียนแรกที่คิดว่าคิดมาเยอะแล้ว แต่กลับไม่ได้เป็นอย่างที่ผมคิด"

"เดือนแรกขายดี เดือนที่สองสามร่วง ไฟช็อต เพราะน้ำฝนเข้าคีออส ต้องรื้อใหม่ งานช้างแต่ไม่เป็นไร เก็บคีออสตัวนี้ไว้ใช้เวลาออกงานอีเวนท์ ตอนนั้นคิดว่าในเมื่อแบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ เราต้องสร้างแบรนด์ให้ลูกค้ารับรู้ก่อนว่าขายอะไร เป็นที่มาของการเปิดช็อป ใช้งบฯน้อย ด้วยการออกแบบเองแล้วส่งให้ผู้รับเหมาสร้างโดยไม่เสียค่าออกแบบ พยายามประหยัดเท่าที่ทำได้"

สิ่งที่ปกรณ์ได้เรียนรู้ในการทำธุรกิจด้วยตัวเอง "ถ้าต่างแล้วแปลกเกินไป อาจเร็วเกินไปที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจว่ากำลังทำอะไร"
เป็นที่มาของการปรับการนำเสนอสู่ลูกค้าผ่านช็อป Lemon แทนคีออส ด้วยขนาดร้านที่กว้างขึ้น ทำเมนูให้เห็นชัดว่าขายอะไร รวม ๆ แล้วตอนนี้มีไม่น้อยกว่า 30 เมนู วิธีนี้ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าจะดื่มอะไร สะอาดแค่ไหน ต่างจากคีออสลูก Lemon ที่มองไม่เห็นอะไรด้านใน และมีเมนูให้เลือกเพียง 12 รายการเท่านั้น
"เดิมทีผมผลิตแบบโฮมเมด ใช้น้ำกรองอย่างดี แต่กว่าจะเต็มแกลอนนานมาก เวลาซีลแพคเกจจิ้ง ใช้หนังยางมัด แตกคารถก็มี ช่วงหลัง ๆ พ่อเริ่มเข้ามาสนับสนุนเรื่อง production เราแชร์ไอเดียกันในสิ่งที่เขารู้และผมรู้ ตอนนี้เราผลิตด้วยระบบมาตรฐาน ถุงซีลทนความร้อน เก็บได้เป็นเดือน ไม่ใส่วัตถุกันเสีย เพราะเราสะอาด"

ด้านการสรรหาวัตถุดิบ กว่าจะพบแหล่งจำหน่ายผล Lemon "ปกรณ์" ต้องตระเวนหาด้วยตนเองเช่นเดียวกับกระบวนการอื่น ๆ กระทั่งเจอซัพพลายเอร์นำเข้า Lemon จากต่างประเทศ
"ผมบอกเขาตรง ๆ ว่าทำอะไร และอยากลองซื้อไปดู ช่วยลดราคาให้หน่อย เวลาซื้อของใครก็อยากรู้จักเขา ทุกวันนี้ยังซื้อเขาอยู่ Lemon มีหลายพันธุ์ เช่น อเมริกา จีน นำเข้ามาเป็นฤดูกาล ผมให้เขาคัดให้ ตอนไปที่ร้าน ผมได้คุยกับลูกชายเจ้าของร้าน เหมือนคุยถูกคอ คุยแบบวัยรุ่นคุยกัน ผมไม่ได้จบ Food Science ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับอาหารเลย จบด้าน Marketing กับ International Business ผมชอบคุยกับซัพพลายเออร์ รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ ได้ถามในสิ่งที่เราอยากรู้"

ระหว่างที่เดินหน้าสร้างแบรนด์ Lemon Hub ปกรณ์เริ่มมองการต่อยอดในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยจัดรูปแบบร้านให้ลูกค้าตามงบประมาณที่แฟรนไชซีมี ด้านแผนการตลาดแม้จะไม่ใช่คนชอบเล่นเฟซบุ๊คหรืออินสตราแกรม แต่เขาก็มองว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็น โดยให้ทีมงานช่วยดำเนินการ

ก้าวต่อไปของ Lemon Hub ปกรณ์อยากขยายสาขาให้ได้มากที่สุด
"กระแส AEC ประเทศจะเปิดแล้ว อยากเห็นแบรนด์ที่ผมสร้างเอง ด้วยมือคนไทย ไปในประเทศกลุ่ม AEC เป็นไปได้ไหม เป็นได้ ทุกอย่างมีจังหวะของมัน ถ้าผมมีทุน connection ดีผมไปได้อยู่แล้ว ทุกอย่างต้องใช้เวลา แต่ผมมั่นใจผมไปได้อยู่แล้ว"
"ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือ ผมเป็นคนชอบคิด อะไรที่คนอื่นทำแล้ว ถ้าผมคิดจะทำต้องทำให้ดีกว่า เหมือนเล่นเกมกับตัวเอง ถ้าผมเป็นคนซีเรียส คิดไม่ออกหรอก แต่ผมเป็นคนสนุก รู้จักคนเยอะ ชอบเปิดหูเปิดตาเพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ ๆ"

บทบาทอีกด้านหนึ่งของ "ปกรณ์" คือพิธีกรช่อง Smart SME ทางทรูวิชั่นส์ 25 เป็นงานที่ทำมาตั้งแต่สมัยเรียน
"ตอนนั้นทำรายการเวคคลับของแกรมมี่ ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นพิธีกรให้กับรายการ Smart Focus ช่อง Smart SME ทางทรูวิชั่นส์ 25 เป็นรายการสัมภาษณ์ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งผมชอบและรู้สึกสนุก ได้รู้ว่านักธุรกิจแต่ละท่านมีจุดเริ่มอย่างไร ช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้เป็นอย่างดี และเป็น connection สำหรับตัวเราเองด้วย"

"ทุกวันนี้ผมยึดหลักการทำงาน คิดและทำให้สุด เพราะบางทีคนมักไม่เข้าใจสิ่งที่เราคิด ดังนั้นต้องทำให้เห็น ฝากกำลังใจถึงน้อง ๆ และผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจว่าอยากให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ยิ่งเร็วยิ่งดี ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทหรือเจ้าของธุรกิจ ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละคน ถ้ามีโอกาสให้ลงมือทำ ถ้ายังไม่มีโอกาสเรื่องเงินทุนหรือสถานที่ ให้ทำงานเก็บเงินไปก่อน เมื่อจังหวะเหมาะกับโอกาสค่อยขยับขยายทำในสิ่งที่ชอบ"
ช่วงเวลาที่ผ่านมาคือการเรียนรู้ หลังจากนี้ไปคือความท้าทายของ "ปกรณ์" จะพา Lemon Hub ไปได้สุด ๆ แค่ไหน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook