9 เสาหลัก Benchmarking สู่ความเป็นเลิศองค์กรธุรกิจ

9 เสาหลัก Benchmarking สู่ความเป็นเลิศองค์กรธุรกิจ

9 เสาหลัก Benchmarking สู่ความเป็นเลิศองค์กรธุรกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จริงอยู่เรื่อง Benchmarking ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมปัจจุบัน แต่กลับเป็นเรื่องคุ้นชินและได้ยินมาเป็นเวลานาน แต่กระนั้นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มีองค์กรจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจ และไม่สามารถนำไปปฏิบัติใช้กับองค์กรอย่างเต็มที่

ผลเช่นนี้จึงต้องมาทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า เครื่องมือที่เรียกว่า Benchmarking มีส่วนช่วยสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาองค์กรทั่วโลก

เรื่องนี้ "บรูซ เซิลส์" ผู้เชี่ยวชาญด้าน Benchmarking มากว่า 25 ปี อธิบายเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจนภายในงานสัมมนา "Innovation and Benchmarking The Way Ahead" ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

"บรูซ" เริ่มต้นด้วยคำจำกัดความของ Benchmarking ว่าคือเครื่องมือที่ช่วยกำหนดมาตรฐาน เพื่อนำมาปรับปรุงการผลิตให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นตัวกระตุ้นให้คิดและริเริ่มสิ่งใหม่เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร

"โดยเริ่มจากรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในการบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในระดับกระบวนการ, ตัวชี้วัดประสิทธิภาพในระดับองค์กร, ตัวชี้วัดสำหรับการประเมินตนเอง และกรณีศึกษาวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อให้องค์กรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการเทียบเคียงประสิทธิภาพของตนเองกับองค์กรอื่นทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของตนเองในระดับโลก"

"หลังจากผมทำการศึกษาพบว่า Benchmarking ทั่วโลกประกอบด้วย 9 เสาหลัก ดังนี้

เสาแรก การกำหนดตัว - ชี้วัด KPI (Key Performance Indicator) ซึ่งผมคิดว่าควรมีการวัดไม่เกิน 5 ตัวชี้วัด ไม่เช่นนั้นเมื่อตัวชี้วัดมีความหลากหลายมากเกินไปอาจหาข้อสรุปไม่ได้"

เสาที่สอง กระบวนการทางนวัตกรรม

เสาที่สาม การนำองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศอย่างมีวิสัยทัศน์

เสาที่สี่ ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

เสาที่ห้า การวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย

เสาที่หก วางกรอบในการบริหารจัดการ และการประเมินผล

เสาที่เจ็ด การลงมือปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นและจริงจัง

เสาที่แปด มีแนวคิดที่สำคัญในการลดความสูญเสีย

เสาที่เก้า จูงใจให้คนในองค์กรเล็งเห็นประโยชน์จากแนวทางนี้

ทั้ง 9 เสาหลักเราจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจากภายในขององค์กรเสียก่อน หลังจากนั้นเมื่อได้ผลลัพธ์แล้วให้นำผลลัพธ์ไปเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น และท้ายที่สุดคือการพัฒนาที่ก้าวหน้าขององค์กรเราที่ได้เปรียบที่สุด

"ผมบอกได้เลยว่า หากมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยแนวคิดของ Benchmarking จะสามารถทำให้ผลิตภาพขององค์กรโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% อย่างแน่นอน"

นอกจากนี้ "บรูซ" ยังทำการศึกษาแนวโน้ม Benchmarking ในปี 2573 หรืออีก 17 ปีข้างหน้า พบว่าแนวคิดนี้จะถูกหยิบยกมาใช้กันในวงกว้างทั่วโลกมากขึ้น

"โดยจะเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อยกระดับผลิตภาพขององค์กร และมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจได้อย่างดีเยี่ยม ฉะนั้น องค์กรที่ต้องการจะมุ่งสู่การเพิ่มผลิตภาพที่ดีในอนาคตจะต้องผสานแนวทางการสร้างนวัตกรรมประกอบเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ"

"จริง ๆ แล้วแนวคิด Benchmarking ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องยึดหลักด้วยความเข้าใจในองค์กรว่าจะมุ่งพัฒนาไปในเรื่องใด ที่สำคัญการเทียบวัดจากองค์กรภายนอกจะต้องวัดในลักษณะของวิธีการ และแนวทางปฏิบัติจะชัดเจน

ที่สุด ขณะเดียวกัน จะต้องรู้ว่าหลังจากได้ผลลัพธ์แล้วเราจะนำไปพัฒนาและต่อยอดอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดขององค์กร"

นี่คือวิธีการเดิมในความเข้าใจใหม่ของ Benchmarking เพื่ิอองค์กรที่ดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook