สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย

สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินรายวัน - ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Snapshot   สหรัฐอเมริกา -  ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 3.7% (m-o-m: annual rate) สู่ระดับ 4.88 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังยอดนำเข้าสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น 1.3% สู่ระดับ 2.2756 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% มาอยู่ที่ 1.7876 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับตลอดทั้งปี 2554 ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐขยายตัวขึ้น 11.6% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 5.5802 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยยอดนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัว 13.8% จากปีก่อนหน้า สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.66114 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขนำเข้าคอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ และน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนยอดส่งออกเพิ่มขึ้น 14.5% ทำสถิติสูงสุดที่ 2.10312 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากยอดขายสินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงเครื่องบินพลเรือนที่แข็งแกร่ง -  เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ในตลาดที่อยู่อาศัยยังคอยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้นโยบายต่างๆ ของ Fed มีประสิทธิภาพลดลง พร้อมยกตัวอย่างว่า มูลค่าบ้านที่ลดลงในระยะหลัง ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงราว 2-3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และการใช้จ่ายผู้บริโภคก็เป็นกลไกหลักที่ผลักดันการเติบทางทางเศรษฐกิจ ความไม่สมดุลอย่างรุนแรงระหว่างอุปสงค์และอุปทาน การคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อเพื่อบ้าน และบ้านที่ถูกยึดเป็นจำนวนมาก เป็นปัญหาหลักที่ขัดขวางการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย พร้อมกับยืนยันว่าจะพยายามต่อไปเพื่อช่วยให้ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวดังเดิม -  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่จัดทำโดย Reuter's/University of Michigan ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 2.5 จุด สู่ระดับ 72.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นในสภาวะปัจจุบันลดลง 4.6 สู่ระดับ 79.6 จุด ด้านดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความคาดหวังในอนาคตลดลงสู่ระดับ 68.0 จากระดับ 69.1 ในเดือนมกราคม ขณะที่ดัชนีเกี่ยวกับเงินเฟ้อคาดหวังว่าจะขยายตัว 3.2% -  ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐในเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ 2.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ระดับ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับวิธีการคำนวณบัญชีรายรับรายจ่ายด้านทหาร, สวัสดิการของทหารผ่านศึกษา และสวัสดิการด้านความมั่นคง ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สำนักงานงบประมาณแห่งรัฐสภาสหรัฐ (CBO) คาดการณ์ว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.079 ล้านล้านดอลลาร์สหัฐฯ ในงบประมาณ 2555 ซึ่งเป็นสถิติที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ติดต่อกันเป็นปีที่ 4   ยุโรป: อังกฤษ -  สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษรายงานยอดผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2554 ขยายตัว 1% (m-o-m) ซึ่งสูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ขยายตัว 0.2% ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรยังเปราะบาง โดยธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เตรียมขยายเพดานการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหราชอาณาจักรจาก 275 พันล้านปอนด์ เป็น 325 พันล้านปอนด์   กรีซ -  รัฐสภากรีซมีมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 อนุมัติมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลของกรีซได้ทำข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และภายหลังคณะรัฐมนตรีกรีซได้อนุมัติมาตรการรัดเข็มขัดตามที่รมว.ยูโรโซนและกองทุนการเงินระหว่างประเทศเรียกร้อง เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินช่วยเหลือมูลค่า 1.30 แสนล้านยูโร หรือ 1.70 แสนล้านดอลลาร์ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบรมว.คลังยุโรปต่อไป -  แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลกรีซบรรลุมาตรการลดยอดขาดดุลงบประมาณ ซึ่งครอบคลุมถึงการปรับลดรายจ่ายภาครัฐ อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และเงินบำนาญข้าราชการ อันเป็นปัจจัยเอื้อต่อการได้รับอนุมัติความช่วยเหลือทางการเงินครั้งที่ 2 มูลค่า 130 พันล้านยูโรจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และสหภาพยุโรป (อียู) อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟและอียูระบุว่ามาตรการลดยอดขาดดุลงบประมาณดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภากรีซก่อนจึงจะสามารถอนุมัติความช่วยเหลือทางการเงินได้ -  ภายหลังจากที่นายลูคัส ปาปาเดมอส นายกรัฐมนตรีกรีซ และหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนรัดเข็มขัดชุดใหม่เพื่อแลกกับเงินกู้รอบสองวงเงิน 1.30 แสนล้านยูโรจากไอเอ็มเอฟและอียูนั้น นายยานนิส คูท์ซูคอส รัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงาน ก็ได้แสดงความไม่พอใจด้วยการยื่นใบลาออก นอกจากนี้ ยังมีประชาชนหลายพันคนซึ่งนำโดยพรรคฝ่ายค้าน ได้ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในใจกลางกรุงเอเธนส์ เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนออกมาร่วมต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดและให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเร็วขึ้น   อิตาลี -  สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารอิตาลี 34 แห่ง ซึ่งรวมถึงธนาคารรายใหญ่อย่างยูนิเครดิต โดยระบุว่า เมื่อพิจารณาจากหนี้สินมหาศาลของอิตาลีแล้ว ธนาคารต่างๆ ในอิตาลีมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านการเงินจากภายนอก และมีแนวโน้มว่ากำไรของธนาคารต่างๆในอิตาลีจะยังคงซบเซา   เอเชีย: จีน -  การส่งออกของจีนหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีในเดือนมกราคมจากผลของช่วงวันหยุดยาวของจีนและวิกฤติหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกของจีน โดยสำนักงานศุลกากรของจีนรายงานว่าการส่งออกของจีนในเดือนมกราคมลดลง 0.5% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าลดลง 15.3% ในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้จีนเกินดุลการค้าในเดือนมกราคมทั้งสิ้น 27.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ตัวเลขการค้าดังกล่าวสร้างความกังวลมากขึ้นว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงมากในไตรมาสแรกปีนี้จากผลของการที่รัฐบาลจีนควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว   ญี่ปุ่น -  นักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจโดย Bloomberg คาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมข้ามคืนซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงไว้ที่ระดับเดิมที่ 0-0.1% ในการประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าจะคงระดับเงินทุนที่ใช้ในโครงการซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ 55 ล้านล้านเยน  ( 712 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยสาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะไม่ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเนื่องจากคาดว่าการลงทุนในโครงการฟื้นฟูความเสียหายจากแผ่นดินไหวปีก่อนจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่แล้ว ประกอบกับเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังมีแนวโน้มดี -  รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวว่าทางการญี่ปุ่นจะไม่ลังเลในการที่จะแทรกแซงค่าเงินเยนแต่โดยลำพังเพื่อต่อสู้กับการเก็งกำไรค่าเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้กระทรวงการคลังของสหรัฐฯได้วิจารณ์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับรายงานของญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่ชี้ว่าทางการญี่ปุ่นได้แทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนโดยลำพังโดยขายเงินเยนออกมาเป็นจำนวนมากเมื่อเดือนสิงหาคมและตุลาคม โดยกล่าวว่าญี่ปุ่นควรพุ่งความสนใจไปที่การเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้จากการที่ค่าเงินเยนแข็งขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ส่งออกของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างมากและส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน   ไทย -  ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบคโพลล์ รายงานผลสำรวจ เรื่อง \"เสียงสะท้อนของกลุ่ม SMEs ต่อนโยบายรัฐบาลค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ\" พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 56.9% ระบุว่า ยังไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองต่อนโยบายรัฐบาล ขณะที่ 38.7% ได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองต่อนโยบายรัฐบาลโดยไม่มีการปลดพนักงานออก อย่างไรก็ตาม 4.4% มีปรับค่าแรงขั้นต่ำแต่ต้องปลดพนักงานบางส่วนออก ส่วนการปรับตัวของธุรกิจจากนโยบายการขึ้นเงินเดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 72.3% มีการปรับระบบให้มีประสิทธิภาพและเน้นคุณภาพมากขึ้น รองลงมา 66.7% มีการจัดทำแผนเพื่อพัฒนาความรู้-ทักษะพนักงานให้มีมากขึ้น ขณะที่กลุ่ม SMEs ถึง 48.4% อาจจะใช้เทคโนโลยีแทนการว่าจ้างแรงงาน และอีก 18% ระบุว่า จะลดต้นทุนโดยการจ้างแรงงานต่างด้าวมาทดแทนแรงงานไทย   -  กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า นับตั้งแต่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  เริ่มเปิดให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคาร หรือ  e – Certificate  เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา  ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555  ซึ่งเพียงแค่ 10 วัน  มีผู้ประกอบการขอใช้บริการแล้วกว่า 670 ราย  โดยขอหนังสือรับรองกว่า 680 ฉบับ  ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ  และคาดว่าภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้  สถิติการใช้บริการจะเพิ่มขึ้นเกินหลักพัน โดยจังหวัดที่มีผู้ประกอบการขอใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  รองลงมา คือ จังหวัดนนทบุรี  สมุทรปราการ  และชลบุรี   อื่นๆ -  สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2555 ลงราว 500,000 บาร์เรล/วัน เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาหลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.3% ในปีนี้ จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่า จะขยายตัวได้ 4% ขณะที่ผลผลิตน้ำมันจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) พุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ทั้งนี้ การปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันครั้งล่าสุดมีขึ้นหลังจากที่เมื่อเดือนมกราคม IEA ได้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันลง 220,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรล/วัน หลังจากอัตราการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงในไตรมาส 4 ปี 2554 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของภาวะขาดแคลนผลผลิตน้ำมันในอิหร่านช่วยพยุงราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับสูงอยู่ได้   Money Market -  บาท/ดอลลาร์ เมื่อวันศุกร์ (10ก.พ.)ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเซียส่วนใหญ่รวมทั้งเงินบาทในช่วงเช้าวันนี้ตามทิศทางที่ดอลลาร์ฯแข็งขึ้นเทียบกับสกุลเงินเยนและยูโร รวมทั้งสอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้นเอเซียส่วนใหญ่ที่ลดลงในวันนี้   -  เยน/ดอลลาร์ เมื่อวันศุกร์ (10ก.พ.) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินเยนในช่วงเช้าวันนี้หลังจากที่แข็งขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่วันอังคาร ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากการที่ดัชนีเศรษฐกิจญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้โดยรวมชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกกระทบมากจากการแข็งค่าขึ้นมากของเงินเยนในช่วงที่ผ่านมาซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินเยนให้อ่อนลง โดยวันนี้รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวว่าทางการญี่ปุ่นจะไม่ลังเลเลยในการที่จะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินเยนโดยลำพังเพื่อที่จะต่อสุ้กับผู้ที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน อย่างไรก็ดีในช่วงตลาดสหรัฐฯค่าเงินเยนได้ปรับตัวแข็งขึ้นเล็กน้อย -  ยูโร/ดอลลาร์ เมื่อวันศุกร์ (10ก.พ.) ค่าเงินยูโรอ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเช้าวันนี้ แม้ว่าผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลกรีซจะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดและปฏิรูปประเทศแล้ว แต่กรีซจะต้องผ่านมาตรการดังกล่าวออกมาเป็นกฎหมายและมีการกำหนดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับแผนการลดค่าใช้จ่ายก่อนที่ผู้นำประเทศใน Euro area จะรับรองแผนช่วยเหลือชุดที่สอง   Capital Market -  ตลาดสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ (10ก.พ.) ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดตลาดลดลงในวันนี้จากการที่นักลงทุนไม่มั่นใจว่ากรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือหรือไม่นอกจากนี้ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯเดือนธันวาคมที่สูงสุดในรอบ 6 เดือนและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯเดือนกุมภาพันธ์ที่ลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ก็ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนวันนี้ -  ตลาดหุ้นเอเชีย เมื่อวันศุกร์ (10ก.พ.) ดัชนีนิกเกอิลดลงในช่วงเช้าวันนี้จากการที่รัฐมนตรีคลังของประเทศในยุโรปยับยั้งมาตรการช่วยเหลือกรีซซึ่งเป็นการกดดันให้รัฐสภากรีซเร่งอนุมัติมาตรการเข้มงวดทางการคลัง โดยแม้ผู้นำพรรคการเมืองกรีซจะสามารถตกลงกันได้แล้วเกี่ยวกับแผนดังกล่าวแต่ความช่วยเหลือก็ยังขึ้นอยู่กับว่าประเทศอื่นๆในยุโรปจะยอมรับข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ โดยในวันนี้ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดลดลง0.61% สำหรับดัชนีตลาดหุ้นเอเซียอื่นๆวันนี้ส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้ยุโรปเช่นกัน โดยวันนี้ดัชนีฮั่งเส็งปิดตลาดลดลง 1.08% ส่วนดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตวันนี้เพิ่มขึ้น 0.10% โดยวันนี้สำนักงานศุลกากรของจีนรายงานว่าการส่งออกของจีนในเดือนมกราคมลดลง 0.5% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี -  ตลาดหุ้นไทย เมื่อวันศุกร์ (10 ก.พ)ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆในเช้าวันนี้ โดยแม้ว่าผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลกรีซจะจะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดและปฏิรูปประเทศแล้วแต่ความไม่แน่นอนยังมีอีกมาก เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะต้องผ่านรัฐสภาของกรีซก่อน โดยต้องมีการกำหนดแผนลดค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน และต้องให้ผู้นำประเทศอื่นๆในยุโรปยอมรับข้อตกลงดังกล่าว โดยวันนี้ SET INDEX ปิดตลาดลดลง 4.26จุด   โดย สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์  2555

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook