“วีรพงษ์” ฟันธงให้นักลงทุน ปีนี้น้ำไม่ท่วม

“วีรพงษ์” ฟันธงให้นักลงทุน ปีนี้น้ำไม่ท่วม

“วีรพงษ์” ฟันธงให้นักลงทุน ปีนี้น้ำไม่ท่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำของไทยปีนี้" ให้นักลงทุนญี่ปุ่นของสมาคมไทย-ญี่ปุ่นรับฟัง โดยยืนยันว่า แม้ขณะนี้มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำปี 2555 จะมากหรือไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงสภาพอากาศที่ขณะนี้มีฝนตกตั้งแต่ต้นปี แต่จะไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้ทาง กยน. และรัฐบาลมีแผนจัดการน้ำและเน้นการแก้ไขจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ทั้งการบริหารจัดการน้ำ การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง การดูแลขุดลอกคูคลองเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างคล่องตัว การทำคันกั้นน้ำ และยุทธศาสตร์สำคัญ โดยปีนี้ยืนยันว่าการป้องกันน้ำท่วมจะมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือและซ้อมใหญ่ประมาณเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้เห็นว่าการป้องกันน้ำท่วมทำอย่างเป็นระบบ

นายวีรพงษ์ กล่าวถึงการจัดตั้งองค์กรมหาชนซึ่งอยู่ในแผนระยะยาวที่จะเป็นหน่วยงานแก้ไขปัญหาและวางระบบป้องกันภัยพิบัติของประเทศว่า ขณะนี้นายวิษณุ เครืองาม หนึ่งในคณะกรรมการ กยน.ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรมหาชนบริหารจัดการภัยพิบัติ เหลือขั้นตอนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กร โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการและมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเป็นกรรมการ โดยในอนาคตเมื่อเกิดภัยพิบัติคณะกรรมการชุดนี้จะมีอำนาจเต็มในการโอนย้ายอำนาจจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายกลับมาให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้บริหารสถานการณ์ ไม่ว่าอำนาจระบายน้ำของกรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และกรมเจ้าท่า ขณะเดียวกันทุกหน่วยงานราชการต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการองค์กรมหาชนที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดในฐานะละเว้นปฏิบัติหน้าที่ สำหรับองค์กรมหาชนนี้จะต้องปลอดจากการเมือง รวมทั้งต้องมีอำนาจสั่งการที่เกิดประสิทธิภาพและคล่องตัวในการจัดการบริหารภัยพิบัติ

ประธาน กยน. กล่าวถึงการบริหารจัดการพื้นที่อุตสาหกรรมภายในประเทศหลังเกิดอุทกภัยปีที่ผ่านมาว่า การเลือกนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่ละภูมิภาคเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุดรธานี ขอนแก่น ภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ส่วนการแก้ไขการระบายน้ำระยะสั้น ซึ่งเบื้องต้นจะมีการระบายน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือผ่านแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ ทั้งปิง วัง ยม น่าน ผ่านเขื่อนสำคัญมายังพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งการสั่งการระบายน้ำที่ผ่านมามีหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดูแลการระบายน้ำในการแก้ปัญหานั้น จะมีเอกภาพหรือการสั่งการจากหน่วยงานเดียว หรือซิงเกิลคอมมาน ส่วนการระบายน้ำในพื้นที่ภาคกลางนั้น เชื่อว่าหากมีการบริหารจัดการที่ดีและแบ่งปริมาณน้ำที่ไหลลงจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลางเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกระบายลงสู่ทิศทางตะวันตกแม่น้ำท่าจีน ส่วนที่ 2 ระบายน้ำตะวันออกลงสู่ทะเลผ่านคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และส่วนที่เหลือมีการระบายผ่านระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ ซึ่งมีการเตรียมอุโมงค์ยักษ์ หากมีการบริหารจัดการระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายจำนวนมาก

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook