พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปลดหนี้ 100 กว่าล้าน บริหารแบบ “สร้างและซื้อ”
นอกจากจะหน้าตาดี มีดีกรีปริญญาโท 2 ใบ ด้านการเมืองการปกครอง จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และด้านบริหารธุรกิจจาก M.I.T แล้ว
"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หรือ "ทิม" ยังเป็นนักธุรกิจหนุ่มมากความสามารถที่ใช้เวลาไม่นานในปลดหนี้ 100 กว่าล้านให้กับธุรกิจของครอบครัว ด้วยแนวคิดและสไตล์การทำงานในแบบของตนเอง
ชีวิตในต่างแดนหล่อหลอมความคิดและการเรียนรู้
เด็กๆ ผมเรียนที่กรุงเทพ คริสเตียนวิทยาลัยจนถึงป.6 ไม่ได้เกเรอะไรมากมาย แต่ไม่คบรุ่นเดียวกัน คบคนที่โตกว่าประมาณ ม.2, ม.3 ตามรุ่นพี่หนีเที่ยวบ้าง พอจบป.6 ไปอยู่นิวซีแลนด์ 7 ปี
ความที่ประเทศนิวซีแลนด์ไม่มีแหล่งบันเทิงมากมายเหมือนเมืองไทย มีแต่ธรรมชาติและแกะ ผู้คนส่วนใหญ่เล่นกีฬา เล่นดนตรี บุหรี่ก็หาซื้อไม่ได้ ไม่มีขาย เพราะมีกฏหมายชัดเจนว่าอายุ 18 ปีถึงจะซื้อบุหรี่ได้
ถามว่าตั้งใจเรียนมากขึ้นมั้ย ก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนมากขึ้น แต่แทนที่จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ก็เอาเวลาไปซ้อมรักบี้ ซ้อมดนตรีแทน
ด้วยผู้คนรอบข้างและสภาพแวดล้อมในสังคมที่โตมา จากเด็กชายกลายเป็นวัยรุ่น และโตเป็นหนุ่ม ผมอยู่กับธรรมชาติ ป่าเขา แม่น้ำ และท้องทะเลมาตลอด เป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนนิสัยไปโดยปริยาย เหมือนเป็นการฝึกบริหารนิสัยพื้นฐาน บริหาร
การใช้เงิน บริหารการเข้ากับคนอื่น เพราะต้องเจอกับคนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม เป็นการปูพื้นฐานและฝึกให้คิด
นอกจากนี้ เพื่อนๆ ชาวต่างชาติ 7-8 คนที่เรียนหนังสือด้วยกัน พอเลิกเรียนส่วนใหญ่จะไปเล่นกีฬา เล่นดนตรี 5-6 โมงเย็นทุกคนต้องไปทำงานส่งน้ำ ส่งหนังสือพิมพ์ เก็บสตรอเบอร์รี พาหมาไปเดิน แต่เรากลายเป็นตัวประหลาดที่ไม่ทำงาน
หลังๆ เริ่มหางานง่ายๆ ทำคือ ส่งนม ส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้าน ทำให้เข้าใจมากขึ้นและได้เรียนรู้ว่า เงินไม่ได้ตกลงมาจากฟ้า เพราะกว่าจะได้เงินมาแค่ไม่กี่บาท ต้องปั่นจักรยานส่งนมน่องแทบหัก รู้เลยว่าเหนื่อยมาทั้งวันได้เงินแค่นี้เอง น้อยกว่าที่พ่อแม่ให้มาอีก
ทำให้รู้คุณค่าของเงินและไม่เป็นตัวประหลาดในกลุ่มเพื่อน
วิกฤตสร้างโอกาสนักบริหารหน้าใหม่
ทิม-พิธา เป็นบุตรชายของ คุณพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เสียชีวิตแล้ว) มีพี่น้อง 2 คน คุณทิมเป็นบุตรชายคนโต จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
หลังจากนั้นไม่นานก็คว้าปริญญาโท 2 ใบ ด้านการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และบริหารธุรกิจ ที่ Sloan, Massachusetts Institute of Technology (M.I.T.) ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยเป็นนักเรียนไทยคนแรกที่ได้ทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปัจจุบัน ทิม-พิธา นั่งบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด บริษัทผลิตผลิตผลทางการเกษตร เช่น น้ำมันรำข้าว เป็นต้น
"พอรู้ข่าวว่าคุณพ่อเสีย ผมดรอปเรียนแล้วรีบกลับเมืองไทยทันที กลับมาอยู่กับครอบครัว มาดูแลธุรกิจ ซึ่งในงานศพผมได้รู้ว่าคุณพ่อมีหนี้ร้อยกว่าล้าน เป็นปัญหาที่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์แต่เริ่มจากติดลบ ตอนนั้นไม่ได้คิดที่จะปิดบริษัท เพราะเป็นธุรกิจที่คุณพ่อรัก และเราก็ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก พอใจนิ่งแล้วก็ค่อยๆ แก้ปัญหาที่ละข้อในเวลาที่จำกัด
ตอนนั้นบริษัทมีพนักงานประมาณ 40 คน ผมบอกกับทุกคนว่า เมื่อก่อนคุณอาจจะทำงานตามคำสั่งคุณพ่อ แต่วันนี้เราจะร่วมกันคิดและทำงานไปด้วยกัน ซึ่งเวลานั้นปัญหาของบริษัทมีเรื่องที่ต้องรีบแก้ไขหลายอย่าง ไหนจะลูกค้าก็ยังไม่มี เงินที่กู้แบงก์มาก็กำลังจะหมด เครื่องจักรก็ยังเดินไม่ได้
ผมจึงเริ่มเรียงลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหา เลือกว่าจะแก้ปัญหาไหนก่อนที่เป็นเรื่องด่วนที่สุดและได้ผลเยอะที่สุด สิ่งแรกที่ทำคือ ครอบครัวต้องมาก่อน เพราะถ้าครอบครัวไม่แข็งแรง ผมก็ทำงานได้ไม่เต็มที่
จากนั้นต้องเรียกความเชื่อมั่นของคนที่ทำงานอยู่ให้กลับมา แล้วช่วยกันทำให้เครื่องจักรเดินให้ได้ก่อน
เมื่อเครื่องจักรเดินได้แล้ว สินค้าขายได้ ซัพพลายเออร์เกิดความเชื่อมั่น ธนาคารก็ปล่อยเงินกู้ให้ใหม่ ธุรกิจก็ไปต่อได้"
ปัจจุบันบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด มีพนักงานโดยประมาณ 100 กว่าคน เป็นบริษัทที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวดิบและรำข้าวสกัดไขมันเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก
ซึ่งตอนนี้บริษัท ซีอีโอ อรกิฟู้ด จำกัด เป็นบริษัทผลิตน้ำมันรำข้าวดิบที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย และติดอันดับ 5 ของโลก
ทำงานในสไตล์ "สร้าง ซื้อ เร็ว ช้า หนัก เบา"
หลักในการทำงานของผมคือ ต้องมีเร็ว ช้า หนัก เบา เพราะชีวิตไม่ใช่ยาพาราเซตามอล ที่พอไม่สบายแล้วกินยาเม็ดเดียวหาย อย่างเรื่องการลงทุนหรือเรื่องเครื่องจักรผมจะแก้ปัญหาและตัดสินใจเร็ว เพราะนั่นคือ Advantage หรือขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต
ส่วนเรื่องคนจะใช้หลัก "สร้างและซื้อ" เพราะคนมีชีวิต สามารถตอบโต้เราได้ คนไม่ใช่เครื่องจักร บางเรื่องก็ต้องช้า ตัดสินใจเร็วไม่ได้ ต้องใจเย็นและอดทน
ยกตัวอย่าง ถ้าจะผลิตเครื่องสำอางจากรำข้าว เราก็ต้องไปซื้อตัวพนักงานมาจากบริษัทที่ทำเครื่องสำอางแล้วประสบความสำเร็จ เพราะถ้าใช้คนเก่าให้ทำตลาดใหม่ เขาก็จะคิดและทำแบบเดิม ๆ
ในขณะที่เรากำลังจะเปลี่ยนตลาดใหม่ เปลี่ยนผู้บริโภค เปลี่ยนสินค้าใหม่ เราก็ต้องเอาคนใหม่ที่เคยทำในตลาดที่เรากำลังจะเปิดใหม่ ทั้งนี้ การทำงานระหว่างคนเก่ากับคนใหม่ก็ต้องสมดุลกันในสัดส่วนที่ลงตัว
นอกจากซื้อแล้วต้องสร้างด้วย เพราะที่นี่จะมีการประเมินผลการทำงานพนักงานทุกคนในทุก ๆ 3 เดือน ถ้าพนักงานคนไหนทำงานดี มีผลงานเด่น บริษัทก็จะทำการโปรโมท ส่วนคนไหนที่ยังไม่เก่งก็ต้องคอยพัฒนาและฝึกฝนให้เก่ง ต้องทำให้พนักงานเจริญ มีตำแหน่งที่ดีขึ้นและมีความก้าวหน้าในการทำงาน
วิธีการทำงานอีกอย่างคือ ถ้าช่วงเริ่มโพรเจคใหม่ ๆ ผมจะบริหารงาน ไม่บริหารคน จะลงมือทำด้วยตัวเอง ลุยเองหมดทุกอย่าง เพราะนั่นคือหน้าที่ผู้นำ เราควรจะนำและทำให้เขาเห็น เพราะบางทีการทำงานร่วมกันเป็นทีมข้อเสียก็มี คือจะมีคนคอยฆ่าความคิดสร้างสรรค์ คนที่ไม่เห็นด้วย คนที่ขวางโลก คอยคิดต่าง ซึ่งเขาก็ไม่ผิด
เมื่อโปรเจคอยู่ตัวแล้วผมจะบริหารคน ไม่บริหารงาน และตรงไปตรงมา คิดยังไงก็พูดไปอย่างนั้น ดีกว่าเก็บเอาไว้ในใจ พอถึงเวลาแล้วไม่พูดพนักงานก็ไม่รู้ว่าผมต้องการอะไร ทั้งนี้ ผมพูดและฟังด้วย เช่น ผมคิดว่าน่าจะทำอย่างนี้ คุณเห็นด้วยมั้ย ถ้าไม่เห็นด้วยก็บอกมา ผมยินดีรับฟังแล้วมาถกกัน
ท้อแท้ กำลังใจ
ท้อแท้ก็มีบ้าง แต่น้อย ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าผมไม่ทำคนอื่นก็เหนื่อยเหมือนกัน คิดง่าย ๆ เกิดมาก็ร้องไห้แล้วเหนื่อยตั้งแต่เกิด พอเป็นนักเรียนก็เหนื่อย เรียนปริญญาโทก็เหนื่อย เป็นลูกจ้างเขาก็เหนื่อย เป็นเจ้านายก็เหนื่อย เลยรู้สึกว่าไม่เหนื่อยเรื่องนี้ เดี๋ยวก็เหนื่อยเรื่องอื่น ทำใจว่าปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้กลุ้ม
ตอนที่เห็นคุณพ่อเสียผมอายุ 25 เอง เหตุการณ์ครั้งนั้นเปิดตาผมพอสมควร คนเราตั้งใจทำงานเหนื่อยกับทุกสิ่ง ทุกอย่าง ถึงเวลาจะไปก็ไปไม่มีการสั่งลา พอตายเผาแล้วก็เหลือแต่กระดูก ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ชีวิตคนเราไม่ได้มีอะไรมากมายไปกว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย
รวมถึงเข้าใจว่า ถ้าทำทุกอย่างสำเร็จได้ก็ดี แต่ถ้าทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ คราวหน้าก็พยายามใหม่ ทุกวันนี้ ยังมีปัญหามาให้แก้ทุกวัน ฉะนั้น พยายามทำให้เต็มที่ เข้มข้นกับการแข่งขัน และเข้มแข็งกับผลลัพธ์ แล้วทำให้ดีที่สุด
ข้อคิดสำหรับคนทำงานรุ่นใหม่
ผู้ใหญ่มักชอบพูดว่า ต้องทำงานที่รัก แล้วถ้าเด็กถามผู้ใหญ่กลับว่า จะรู้ได้อย่างไร ว่างานที่รัก คืออะไร ฉะนั้น ต้องมีการลองผิดลองถูก แต่ไม่ควรเปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ การลองผิดลองถูกก็ต้องมีความสมดุล ไม่ใช่ทำอาทิตย์หนึ่งลาออก หรือทนทรมานทำ 4-5 ปีไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต เพราะไม่กล้าก้าวออกไปหาสิ่งที่ตัวเองชอบ แบบนั้นก็ไม่ใช่
ฉะนั้น ต้องหาจุดสมดุลของตัวเองให้ได้ว่า สิ่งที่คุณชอบคืออะไร ถ้าผู้ใหญ่ถามก็บอกไปเลยว่าตอนนี้ยังไม่รู้ ว่าอยากจะทำงานอะไร กำลังลองผิดลองถูกอยู่ และกล้าที่จะลอง ถ้าชอบทำกราฟฟิก ก็ทนทำหน่อย ไม่ใช่พอไม่ตรงอย่างที่คิด หรือไม่เท่อย่างที่ชอบก็รีบตัดสินใจลาออก อย่างน้อยๆ ทนทำไปสักปี ถ้าทำแล้วไม่ชอบ ไม่ใช่จริง ๆ ค่อยออกไปหางานใหม่
อัลบั้มภาพ 19 ภาพ