ลบคำติ “ทำงานไม่เป็น” ต้องเตรียมตัวให้พร้อม

ลบคำติ “ทำงานไม่เป็น” ต้องเตรียมตัวให้พร้อม

ลบคำติ “ทำงานไม่เป็น” ต้องเตรียมตัวให้พร้อม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"พนักงานใหม่ที่รับมา...ทำงานไม่เป็น" ประโยคนี้มักเป็นเสียงบ่นที่ได้ยินอยู่เสมอ จากหัวหน้างานหรือของผู้บริหารที่รับพนักงานใหม่เข้ามา แม้ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์อุตส่าห์คัดเลือกมาอย่างดี

ทั้งสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ แต่พอเข้ามาทำงานจริง กลับทำงานไม่เป็น หรือมิเช่นนั้นต้องใช้เวลานานมากในการเรียนรู้งาน เวลาที่เสียไปกลายเป็นต้นทุนที่สูญเปล่า กว่าบุคลากรนั้นจะสามารถสร้างผลิตภาพได้หรือหากครบระยะเวลาทดลองงานแล้วไม่สามารถทำได้ ย่อมไม่ผ่านการประเมิน ต้องเดินเตะฝุ่นอีกครั้ง


ด้วยเหตุนี้ ผู้จบการศึกษาใหม่ ๆ จึงค่อนข้างเสียเปรียบผู้มีประสบการณ์ที่สามารถทำงานได้ทันที
ดังนั้น ในสภาวะที่คนต้องการงาน มากกว่างานต้องการคน หากผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ ๆ ยังไม่มีประสบการณ์ ต้องการเป็นผู้ที่ถูกเลือก หรือมั่นใจว่าเมื่อถูกเลือกเข้าไปทำงานแล้ว มีโอกาสผ่านการทดลองงาน ไม่ต้องถูกตีตราว่า "ทำงานไม่เป็น" คำแนะนำที่ควรทำตั้งแต่เริ่มสมัครงาน คือ เตรียมตัวให้พร้อมทำงาน


ทำความรู้จักองค์กร

ก่อนที่เราจะสมัครงานที่ใด ไม่เพียงแต่ดูว่าองค์กรนั้น รับสมัครงานในสาขาที่เราต้องการ/ที่เราจบมาเท่านั้น แต่ต้องดูองค์กรนั้น ๆ ด้วยว่าทำเกี่ยวกับอะไร ใครเป็นลูกค้า โครงสร้างองค์กรเป็นอย่างไร มีวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัฒนธรรมองค์กรอย่างไร มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมีความมั่นคงเพียงใด

เราอาจเข้าไปดูข้อมูลขององค์กรที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ เพื่อให้รู้จักคุ้นเคยกับองค์กรมากขึ้น ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับองค์กรจะช่วยให้เราได้เปรียบ ไม่เพียงแต่ตอนไปสมัครงาน สัมภาษณ์งาน แต่จะเป็นประโยชน์เมื่อเราได้เข้าไปทำงานแล้ว เราจะเข้าใจเป้าหมายและความต้องการขององค์กรมากขึ้น ลดการเสียเวลาเรียนรู้จักองค์กร



ศึกษาตำแหน่งงานที่จะทำก่อนที่เราจะสมัครในตำแหน่งงานใด


สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การศึกษาขอบเขตอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในตำแหน่งนั้นก่อน เพื่อให้เข้าใจว่าตำแหน่งที่เราจะทำนั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง เราควรเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมนอกเหนือจากความรู้ทฤษฎีที่เราเรียนมา หรือต้องพัฒนาทักษะใดเพิ่มเติมให้เกิดความคล่องแคล่วชำนาญขึ้น เช่น การใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมต่าง ๆ การฝึกทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เป็นต้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า หากเราได้งานนี้ เราจะสามารถทำงานได้เร็วขึ้น ลดเวลาการเรียนรู้งานลงไปได้บ้าง

เรียนรู้งานให้เร็วที่สุด เมื่อเราได้เข้าทำงานในตำแหน่งที่ต้องการแล้ว ให้เราตั้งเป้าว่าจะเรียนรู้งานและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพให้เร็วที่สุด โดยพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ตามตำแหน่งของตนอย่างกระจ่างแจ้ง รู้ว่างานหลักของเราคืออะไร ต้องรับผิดชอบในเรื่องใดบ้าง อะไรบ้างที่ควรทำและไม่ควรทำ ผลงานอะไรของเราที่จะถูกประเมินให้ผ่านงาน

และเราต้องพร้อมเรียนรู้จากทุกคนที่เข้ามาสอนงาน ถ้าไม่เข้าใจต้องกล้าซักถาม และเมื่อทำสิ่งใดผิดพลาด ต้องถือว่าเป็นบทเรียนที่จะช่วยให้การทำงานในอนาคตดีขึ้น และหากต้องมีความรู้เพิ่มเติม เราต้องรีบขวนขวายเรียนรู้อย่างเอาจริงเอาจัง



ตั้งเป้าเป็นผู้เชี่ยวชาญ

จำไว้ว่าคนที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานต้องมีความตั้งใจที่จะก้าวหน้าในงานที่ทำ สิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถทำเช่นนั้นได้ คือ การเห็นคุณค่าของงาน การตระหนักรู้ว่างานที่เราทำนั้นสร้างคุณค่าอะไรให้เกิดขึ้น

ผลผลิตจากงานของเราจะมีผลกระทบต่อคนอื่น หรือถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร เราเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของทีมและองค์กรอย่างไร ที่สำคัญ เรารักที่จะทำงานนั้น มีความสุขที่จะทำงานนั้นให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นมากน้อยเพียงใด เมื่อเราเห็นคุณค่าความสำคัญของเราที่มีต่อองค์กร เห็นคุณค่าในงานที่ทำ ย่อมส่งเสริมให้เราพัฒนาตนเอง จนเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานที่ทำได้ในอนาคต

องค์กรการทำงานทุกแห่งย่อมต้องการคนทำงานที่ "ทำงานได้จริง" เรียนรู้งานเร็ว และช่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หากเราตอบสนองความต้องการได้ ย่อมเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งย่อมได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายทั้งตัวเราได้งานทำและองค์กรได้ผลผลิตอย่างดีจากงานที่เราทำ


ติดตามอ่านคอลัมน์ "ยุทธศาสตร์สร้างงานบริหารคน" โดย "ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์" นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้จาก "นิตยสารงานวันนี้" วางแผงทุกวันพฤหัสบดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook