มอสโก ประเทศรัสเซีย ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก
รายงานการสำรวจภาวะค่าครองชีพของค่ายเมอร์เซอร์ ซึ่งอาศัยระดับราคากาแฟเป็นดัชนีชี้วัดพบว่าในปีนี้เมืองมอสโก ประเทศรัสเซีย จัดเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก
เนื่องจากราคากาแฟที่นั่นมีค่าเฉลี่ยแก้วละ 8.29 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 250 บาท
เมืองที่มีค่าครองชีพแพงเป็นอันดับ 2 ของโลก คือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของราคากาแฟอยู่ที่แก้วละ 6.98 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 210 บาท
เมืองที่มีค่าครองชีพแพงเป็นอันดับ 3 ของโลกคือเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของราคากาแฟอยู่ที่แก้วละ 6.52 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 195 บาท
เมืองที่มีค่าครองชีพแพงเป็นอันดับ 4 ของโลกคือ ซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของราคากาแฟอยู่ที่แก้วละ 5.98 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 180 บาท
เมืองที่มีค่าครองชีพแพงเป็นอันดับ 5 ของโลกคือ ฮ่องกง ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของราคากาแฟอยู่ที่แก้วละ 5.67 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 170 บาท
ในทำนองเดียวกันทางค่ายไอเอ็มดี ก็มีรายงานผลการสำรวจขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในรอบปีนี้ โดยยกย่องให้สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
เหตุปัจจัยที่สนับสนุนให้สหรัฐอเมริกา ได้รับการยกย่องเป็นประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านขีดความสามารถในการแข่งขันได้แก่ความสะดวกสบายในการให้บริการทางการเงิน ความอุดมสมบูรณ์ด้วยงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ และทิศทางแนวโน้มที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ
อันดับที่ 2 ของประเทศที่ได้รับยกย่องในด้านความเป็นเลิศของขีดความสามารถในการแข่งขัน คือ สวิตเซอร์แลนด์
ปัจจัยสนับสนุนความเป็นเลิศด้านการแข่งขันของสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ความโปร่งใสในระบบธุรกิจ ความมีวินัยทางการคลัง และความมีเสถียรภาพในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
อันดับที่ 3 ของประเทศที่ได้รับยกย่องในความเป็นเลิศด้านการแข่งขัน คือ ฮ่องกง ซึ่งได้รับแรงหนุนจากโครงสร้างอัตราภาษีที่มีความย่อมเยาว์ ระบบการขนส่งทางทะเลที่ดี และมีความสะดวกสบายในการให้บริการของภาคการเงิน
อันดับที่ 4 ของประเทศที่ได้รับยกย่องในความเป็นเลิศด้านการแข่งขัน คือ สวีเดน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากคุณภาพของกำลังแรงงานที่ดี ระบบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ โครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ที่ดี และระบบการเมืองที่มั่นคง
อันดับที่ 5 ของประเทศที่ได้รับยกย่องในความเป็นเลิศด้านการแข่งขัน คือ สิงคโปร์ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากระบบการเมืองที่มั่นคง ระบบโครงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่ดี และระบบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ