ปรุงธุรกิจฉบับ "กันตนา" "ผู้ชมชอบรสไหน เราจัดให้"

ปรุงธุรกิจฉบับ "กันตนา" "ผู้ชมชอบรสไหน เราจัดให้"

ปรุงธุรกิจฉบับ "กันตนา" "ผู้ชมชอบรสไหน เราจัดให้"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรียกว่าติดลมบนไปแล้วสำหรับผู้จัดละครมากฝีมืออย่าง "กันตนา กรุ๊ป" ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฤดู แต่ก็ยังสามารถมีที่ยืนอยู่อย่างมั่นคง ท่ามกลางกระแสพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมบรอดแคสต์ไทย

วันนี้กันตนา กรุ๊ปถือเป็นผู้จัดละครตัวแม่ที่หาตัวจับได้ยาก ด้วยประสบการณ์การทำงานมากว่า 62 ปี ในฐานะผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ผู้คร่ำหวอดในวงการ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะละครแนวไหนก็สามารถผลิตออกมาได้ถูกใจผู้ชมได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นแนวสยองขวัญ, ดราม่า หรือแฟนตาซี

"จิตรลดา ดิษยนันทน์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา มูฟวี่ทาวน์ (2002) จำกัด หัวเรือใหญ่ผู้คุมทัพละครของกันตนาเล่าว่า วันนี้มุมมองคนภายนอกอาจมองว่ากันตนาคือผู้จัดละครแนวที่จริงจัง ต้องเป็นดราม่าเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็ชัดเจนว่า ถ้าไม่ถนัดละครแนวไหนก็จะไม่ทำ ไม่แปลกที่ผ่านมาเราจะไม่ค่อยเห็นกันตนาผลิตละครในแนวตลก คอเมดี้

อย่างไรก็ตาม ความคิดนี้หมดไปหลังจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้ปล่อยละครคอเมดี้ "มายาสีมุก" ลงจอแก้ว ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม ทำให้รู้ว่ากันตนาก็ทำละครคอเมดี้ได้ และทำให้ทิศทางของบริษัทจากนี้จะมุ่งทำละครที่หลากหลายแนวมากขึ้น

เธอเล่าว่า ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กันตนาเทน้ำหนักไปที่ละครบู๊เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ เย้ยฟ้าท้าดิน ป่านางเสือ เสือสั่งฟ้า ที่แม้จะต้องแลกมาด้วยการทำงานที่หนักและเหนื่อยมาก ด้วยระยะเวลาถ่ายทำมากกว่าละครปกติ จากที่ใช้เวลา 5-6 เดือน แต่ละครบู๊ต้องใช้เวลากว่า 6 เดือนขึ้นไป แต่เมื่อแลกกับ "เรตติ้ง" ที่ถล่มทลายก็ถือว่าคุ้มค่า

"เวลาการถ่ายทำที่ค่อนข้างนาน อีกทั้งต้องถ่ายไปออกไป แต่ถือเป็นงานถนัดของกันตนา เพราะเมื่อละครบู๊ลงจอทุกครั้งก็ถูกใจผู้ชมเสมอ"

แต่วันนี้ด้วยมุมมองที่กว้างขึ้น การทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ แล้วประสบความสำเร็จ ทำให้เธอเปลี่ยนมุมมองความคิดโดยมีคติประจำใจในการทำงาน ว่า ถ้าผู้ชมอยากดู อยากเห็นอะไร กันตนาพร้อมจะทำ

"จิตรลดา" เล่าว่า ปัจจุบันรูปแบบของการผลิตหรือแนวละครไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ผู้จัดละครไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ว่าละครเรื่องที่กำลังสร้างจะประสบความสำเร็จหรือไม่

"เมื่อก่อนการผลิตละครก็เหมือนปรุงอาหาร ผู้จัดจะรู้ว่าถ้าละครแนวนี้ต้องใส่ดาราคนนี้ บทแบบนี้ รู้จนกระทั่งว่าเรตติ้งจะดีหรือไม่ดี แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ผู้จัดไม่สามารถรู้ได้แบบนั้น และคาดการณ์อะไรไม่ได้"

เธอชี้ว่า วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ทำให้ผู้จัดละครต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ซึ่งผู้จัดแต่ละคนก็มีสูตรที่ไม่เหมือนกัน สำหรับเธอซึ่งเป็นแม่ทัพบัญชาการระบุว่า วันนี้เธอมีสูตรในการปรุงละครอย่างไรให้ถูกใจผู้ชม อาจไม่ถูกใจคนทั้งประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นสูตรที่ถูกใจคนส่วนใหญ่

ส่วนผสมจะเป็นอย่างไรนั้น "จิตรลดา" ขอปิดไว้เป็นความลับ บอกเพียงว่าหัวใจหลักของส่วนผสม คือ ผู้ชมคือพระเจ้า ถ้าผู้ชมชอบรสไหน เธอก็พร้อมจะจัดให้

การทำละครให้ประสบความสำเร็จวันนี้ จึงต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นหลัก และประสบการณ์เท่านั้นจะบอกได้ว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่

"ละครเป็นอะไรที่ต้องทำทุกวัน ต้องใช้ความชำนาญ ตั้งแต่ช่างไฟ ช่างแต่งหน้า ดารา ผู้เขียนบท แต่เป็นงานที่สนุกและต้องค้นหาอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอด ถ้าย่ำอยู่กับที่ก็จบ"

สำหรับกันตนาวันนี้ผลิตละครป้อนให้แก่ช่อง 7 เพียงช่องเดียวเท่านั้น เพราะไม่ได้เวลาจากช่องฟรีทีวีต่าง ๆ เหมือนที่ผ่านมา แต่แค่นี้ก็ยังทำงานกันแทบไม่ทัน ในส่วนครึ่งปีหลังกันตนาเตรียมเปิดกล้องละครต่อเนื่อง เริ่มด้วย "สุสานคนเป็น" และอีก 2 เรื่องที่เสนอให้ช่อง 7 พิจารณาแล้ว แต่กำลังรอบทโทรทัศน์ ได้แก่ ตะพดโลกันต์ และซ่าส์นักรักซะเลย

ส่วนละครที่กำลังถ่ายทำ ได้แก่ เจ้าสาวสลาตัน และเตรียมออนแอร์ 1 เรื่อง คือ ธิดาพญายม จากนี้ก็จะมีละครหลากหลายแนวผสมผสานกันไป ทั้งบู๊แอ็กชั่น และแอ็กชั่นคอเมดี้

"จิตรลดา" กล่าวต่อว่า เมื่อดิจิทัลทีวีเริ่มต้น โอกาสของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ไม่ใช่โอกาสที่เกิดขึ้นเฉพาะกันตนาเท่านั้น แต่หมายถึงโอกาสของผู้ผลิตคอนเทนต์ทั้งหมด เพราะจำนวนช่องทางการออกอากาศจะเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหลักคือ บุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมนี้ที่ไม่เพียงพอกับโอกาสที่กำลังเพิ่มขึ้น

"เมื่อทีวีแอนะล็อกเปลี่ยนเป็นดิจิทัลทีวี อุตฯนี้จะขาดแคลนบุคลากรจำนวนมาก ช่องทางการออกอากาศเพิ่ม แต่บุคลากรไม่เพียงพอ"

สำหรับกันตนามีการเตรียมพร้อม ทั้งสถาบันกันตนา บริษัท กันตนา เอ็ดดูเทนเมนท์ (อินเตอร์เนชั่นแนล) จำกัด ที่ผลิตบุคลากรทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังแบบครบวงจร ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ

นอกจากผู้ผลิตคอนเทนต์บันเทิงรายสำคัญแล้ว อีกหนึ่งธุรกิจที่ถือเป็นรายได้หลักของบริษัท คือ การให้เช่าเครื่องมือ อุปกรณ์ด้านการถ่ายละคร ซึ่งแต่ละปีต้องใช้งบฯลงทุนพอสมควร เพราะเทคโนโลยีพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งเมื่อดิจิทัลทีวีเริ่มต้นขึ้น ธุรกิจนี้ก็น่าจะมีโอกาสทองเช่นกัน

เธอทิ้งทายว่า วันนี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภค เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร เธอก็พร้อมจะพากันตนาเดินไปข้างหน้าพร้อม ๆ ไปกับการเปลี่ยนแปลงเป็นก้าวที่รวดเร็วและมั่นคง

 

ขอบคุณภาพ facebook : tukta kantana, instagram : @tuktakantana

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ ปรุงธุรกิจฉบับ "กันตนา" "ผู้ชมชอบรสไหน เราจัดให้"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook