ที่นี่แหละ! “บ้านทองหยอด” ปั้น “เด็กบ้านนอก” ให้เป็นแชมป์
"บ้านทองหยอด"ไม่ใช่โรงเรียนสอนทำขนม แต่เป็นโรงเรียนปั้นนักกีฬา ที่นี่สามารถปั้นเด็กบ้านนอกให้มีชื่อเสียงในเวทีระดับชาติ ปั้่นให้เป็นแชมป์โลก
ตามไปกัน "บ้านทองหยอด"เขาปั้นนักกีฬากันอย่างไร?
"บ้านทองหยอด" ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 3 โรงเรียนแห่งนี้ทำหน้าที่ปั้นนักกีฬาแบดมินตันตั้งแต่เด็กเล็กถึงเด็กโต จนสามารถออกไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมากมาย
อาทิเช่น ภัททพล เงินศรีสุข สุดเขต ประภากมล ทรงพล อนุกฤตยาวรรณ พิสิทธิ์ พูดฉลาด และ แชมป์เยาวชนโลก 3 สมัย น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ และพ่วงด้วยตำแหน่งแชมป์โลก แบดมินตัน 2013 อีกด้วย
กมลา ทองกร หรือ "คุณปุก" ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกีฬาแบดมินตันบ้านทองหยอด ได้เล่าความเป็นมากับ "มติชนออนไลน์" ว่า เริ่มจาก คุณปุก และเพี่อน ๆ ที่มีใจรักในกีฬาแบดมินตัน จึงชวนลูก ๆ และเพื่อนของลูก มาเล่นแบดมินตัน และจ้างโค้ชมาสอนจริง ๆ จัง ๆ มีทั้งโค้ชไทย จีน หลังจากนั้นก็ออกตระเวนแข่งรายการต่าง ๆ โดยใช้ชื่อว่า "สโมสรบ้านทองหยอด"
สำหรับที่มาของชื่อโรงเรียนบ้านทองหยอดนั้น คำว่า "บ้านทองหยอด" คือธุรกิจทำขนมทองหยอดของคุณกมลา หลังจากมีการสอนแบดมินตัน ผู้คนจึงพากันเรียกติดปากว่า "แบดมินตันบ้านทองหยอด"
เพราะจำง่าย ทำให้รู้ว่า ต้องติดต่อใคร ถ้าจะมาเรียนแบดมินตัน ตอนแรกจะเปลี่ยนเป็นชื่อ บี ที วาย (ย่อมาจากบ้านทองหยอด) แต่กลัวฟังไม่คุ้นหู เลยใช้ชื่อ "บ้านทองหยอด" จนถึงทุกวันนี้
คุณปุกได้เล่าถึงว่า "น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์" จะเป็นนักแบดมินตันดาวรุ่ง ดีกรีแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัย ว่า น้องเมย์เห็นมาตั้งแต่เด็กๆ เนื่องจากคุณแม่ทำงานที่โรงงานทำขนมทองหยอด พอน้องเมย์อายุ 6 ขวบ ก็หัดเล่นแบดมินตัน
พออายุ 7 ขวบ สามารถคว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรก คือ รายการอุดรธานีโอเพ่น ต่อมาน้องเมย์ได้แชมป์เยาวชนอายุน้อยที่สุดเป็นคนแรกของโลก ซึ่งภูมิใจมาก เพราะปั้นจากเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ถ้าไม่มีโอกาสตรงนี้ เขาก็เป็นเด็กซน ๆ ธรรมดา
เวลาแข่งแบดมินตัน บางครั้งน้องเมย์เกิดอาการเครียดอย่างเห็นได้ชัด คุณปุกเล่าว่า จะต้องมีนักจิตวิทยาเข้ามาช่วยตรงนี้ เพราะน่าจะช่วยให้น้องเมย์ลดความกดดันลง และเล่นได้ดีขึ้น
"เวลาเครียด ถ้ามีนักจิตวิทยามาพูดคุย สามารถช่วยได้เยอะ ถือว่าสำคัญมาก เพราะน้องอยากทำผลงานให้ดี เหมือนกับทุกคนตั้งความหวังไว้ ตรงนี้ นักจิตวิทยาจะแนะวิธีผ่อนคลายให้"
สำหรับนักเรียนที่บ้านทองหยอดในแต่ละวันนั้น เจ้าของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดเล่าว่า มีทั้งนักเรียนอยู่ประจำและไป-กลับ สอนเป็นรอบ เริ่มเวลา 17.00 น. อายุเฉลี่ยของนักเรียน จะมีตั้งแต่ 4-6 ขวบ จนถึง 20 ปีขึ้นไป
"สิ่งที่โค้ชจะสอนอันดับแรกเลย คือ การจับไม้ให้ถูกวิธี ท่าทาง มือ ขา จากนั้นก็เน้นเรื่องเบสิก วิธีเสิร์ฟลูก การตบ-ตี การแข่งขันกับคู่ต่อสู้ กฎกติกา มารยาท และระเบียบวินัย"
"อยากให้ผู้ปกครอง พาลูกๆ หลานๆ มาชมที่นี่ว่า แบดมินตันเป็นกีฬาที่สนุก ใช้ทักษะ สมอง ไม่มีการปะทะ ถือว่าเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง และสามารถสร้างผลงานไปศึกษาต่อได้"คุณปุกกล่าว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ประวัติน้องเมย์ รัชนก อินทนนท์
รัชนก อินทนนท์ หรือ เมย์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 จังหวัดร้อยเอ็ด หลังคลอดได้ไม่นาน พ่อแม่ของน้องเมย์ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำงานในโรงงานทำขนมบ้านทองหยอด
น้องเมย์ รัชนก เริ่มเล่นแบดมินตันเมื่ออายุ 6 ขวบ โดยการส่งเสริมของ "แม่ปุก" คุณกมลา ทองกร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ด้วยความที่แม่ปุกกลัวว่าเด็กซนๆ
จะโดนน้ำตาลเดือดที่ใช้ทำขนมทองหยอดลวกเป็นอันตราย เพราะพ่อแม่ทำงานในโรงงานขนม เด็กๆ จึงวิ่งเล่นอยู่ใกล้ๆ ซึ่งน้องเมย์ก็ได้รับการฝึกฝนและดูแลจากรุ่นพี่มาโดยตลอด รวมทั้งน้องเมย์ก็ขยันฝึกซ้อมจนมีแววที่จะลงแข่งขันได้ และเริ่มแข่งขันในการแข่งขันแบดมินตันมาเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้
เอกลักษณ์ของน้องเมย์ รัชนก คือการแสดงความเคารพด้วยการยกมือไหว้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง สิ่งนี้ทำให้สมาคมแบดมินตันของอินเดียส่งหนังสือแสดงความยกย่องมายังสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยด้วยว่า
"เราไม่เคยเห็นนักกีฬาคนไหนอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างที่รัชนกทำ การยกมือไหว้เป็นวัฒนธรรมของอินเดีย กับไทยที่สืบทอดกันมานาน การแสดงออกของรัชนกทำให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ของชาติไทย ที่มีความสูงส่งในการรู้จักเคารพนับถือผู้อื่น รัชนกทำให้ชาวอินเดียมองไทยด้วยความรัก ทำให้ชาวอินเดียรัก และนับถือคนไทยมากกว่าก่อนหลายเท่า"
อัลบั้มภาพ 40 ภาพ