"เทวินทร์ วงศ์วานิช" บทเรียนน้ำมันรั่ว ปตท.ต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา

"เทวินทร์ วงศ์วานิช" บทเรียนน้ำมันรั่ว ปตท.ต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา

"เทวินทร์ วงศ์วานิช" บทเรียนน้ำมันรั่ว ปตท.ต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณีท่อน้ำมันของบริษัท ปตท.โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เกิดรั่วและน้ำมันดิบส่วนหนึ่งกระจายวงไปถึงอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เกิดคำถามในวงกว้างว่า มาตรฐานในธุรกิจนี้ของบริษัทอื่น ๆ ในเครือ ปตท.เป็นอย่างไร

"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในฐานะผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่วันนี้ได้รับการยอมรับในระดับโลก มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการสำรวจและผลิต รวมถึงมองทิศทางในธุรกิจสำรวจและผลิตที่อาจจะต้องเผชิญกับการต่อต้าน และแนวโน้มสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ ครั้งที่ 21 จะเป็นอย่างไร

 

 กรณีน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบความเชื่อมั่นแน่นอน หน้าที่ของผู้ดำเนินการก็จะต้องแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาว่าเกิดจากอะไร มีกระแสว่าต้องการให้กำหนดห้ามการโหลดน้ำมันในทะเล แต่อย่าลืมว่าคนได้รับผลกระทบก็คือประชาชนในฐานะผู้ใช้พลังงาน

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเกิดปัญหาแล้วต้องยกเลิกวิธีนี้เลย มันเหมือนกับการที่เรากินส้มตำแล้วท้องเสีย แล้วต้องเลิกกินส้มตำเลยหรือไม่ ต้องไปดูว่าท้องเสียเป็นเพราะอะไร แล้วแก้ปัญหาให้ถูกจุดมากกว่า วันนี้ทั้งภาครัฐและผู้ดำเนินการในธุรกิจนี้ทั้งหมดกำลังศึกษากันว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะมีวิธีป้องกันอย่างไร

 ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับมา
 
ปตท.สผ.ตรวจสอบขั้นตอนการโหลดน้ำมันในอ่าวไทยทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็นก๊าซธรรมชาติ และจะมีคอนเดนเสตด้วยส่วนหนึ่ง ดำเนินการของ ปตท.สผ. คือ 1) ท่ออ่อนน้ำมันจะเป็นแบบ 2 ชั้น ตามที่กำหนด แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้ต้องพิจารณาสเป็กท่อน้ำมันใหม่ให้ดีขึ้น แม้ว่าของเดิมจะค่อนข้างแข็งแรงมั่นคงอยู่แล้วก็ตาม 2) กระบวนการโหลดน้ำมันที่เกิดขึ้น 4 วัน/ครั้งนั้น เมื่อโหลดน้ำมันเสร็จแล้วท่ออ่อนน้ำมันที่ถูกออกแบบให้ม้วนได้จะม้วนกลับเก็บไว้บนเรือ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับท่อที่อาจจะเกิดการกระแทกได้ และที่สำคัญจะไม่มีข้อต่อเชื่อมที่อาจจะเกิดรั่วได้

สำหรับอายุใช้งาน ท่ออ่อนม้วนเก็บได้นี้ใช้งานได้ 7 ปี และที่ใช้ในปัจจุบันก็ผ่านมาเพียง 3 ปีเท่านั้น จะเปลี่ยนท่อใหม่ทุก 6 ปี ยิ่งทำให้ ปตท.สผ.เชื่อมั่นว่า ระบบท่อน้ำมันของ ปตท.สผ.มีสเป็กที่เหมาะสม

 กระทบการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมใหม่

หากไม่สามารถเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศใหม่ได้ อาจต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างเดียว และอาจจะไม่มีความมั่นคงเพียงพอ เพราะการนำเข้าไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด อาจเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น เรือขนส่งถูกยึด ถูกปล้น เกิดสงคราม เรือมาไม่ได้ ภัยพิบัติต่าง ๆ ในประเทศก็ไม่มีพลังงานใช้ จึงต้องเข้าใจว่าการตัดสินใจอย่างไรมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่

 ช่วงที่ผ่านมาของ ปตท.สผ.
 
โฟกัสในช่วงปีนี้ จุดเด่นคือการผลิตในแหล่งสิริกิติ์ (S1) กำลังผลิตที่ 34,000 บาร์เรล/วัน และครึ่งปีนี้กำลังผลิตจะลดลงมาแตะที่ 32,000 บาร์เรล/วัน รวมถึงการ Start up ของแหล่งมอนทารา ในประเทศออสเตรเลียที่ดีเลย์จากกรณีไฟไหม้และน้ำมันรั่ว ผลิตน้ำมันได้ 10,000 บาร์เรล/วัน และเตรียมเชื่อมโยงกับหลุมเจาะใหม่ ๆ ฉะนั้น การผลิตจะเพิ่มขึ้นมาได้อีก 30,000 บาร์เรล/วัน เป็นบทพิสูจน์ของการเข้าไปลงทุนในออสเตรเลียด้วยการไปซื้อกิจการและเข้าไปดำเนินการแทน

ประสบการณ์จากแหล่งมอนทารา กรณีน้ำมันรั่วลงทะเล 2,000 บาร์เรลที่ผ่านมานั้น ปตท.สผ.ประสานงานกับรัฐบาลออสเตรเลียมาตลอด และได้นำบทเรียนนั้นมาเป็นมาตรฐานการพัฒนาแหล่งสัมปทานทั้งหมดของ ปตท.สผ. จากที่ต้องถูกรัฐบาลออสเตรเลียมอนิเตอร์การทำงานมาตลอด 3 ปี จนวันนี้เขาพอใจในสิ่งที่เราปรับปรุงดูแล จึงหยุดมอนิเตอร์การทำงานของ ปตท.สผ.ในที่สุด ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า การแก้ปัญหาของเราสร้างความเชื่อมั่นน่าเชื่อถือกลับมาได้

 โฟกัสแหล่งเมียนมาร์-โมซัมบิก

ปตท.สผ.ลงทุนสำรวจมากในเมียนมาร์รวม 12 แปลงสำรวจ เช่น แปลง M3, M9, M11, MD7, MD8 และที่ค่อนข้างคืบหน้าอีกคือ แหล่งซอติก้าที่กำลังพัฒนา และตอนนี้กำลังก่อสร้างแท่นผลิตต่าง ๆ เพิ่มเติม คาดว่าปลายปีนี้ต้นปีหน้าจะเริ่มผลิตแล้ว เป็นอีกโครงการที่ ปตท.สผ.เข้าไปทำตั้งแต่ต้นจนจบ

เมื่อแหล่งซอติก้าเริ่มผลิต จะเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตจากเมียนมาร์เป็น 340,000 บาร์เรล หรือคิดเป็น 30% และพอร์ตของ ปตท.สผ.จะสมบูรณ์ คือเป็นทั้งผู้พัฒนาและผลิต ส่วนแปลง M3 เตรียมเจาะหลุมประเมินผลอีก 4 หลุมว่าจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะหลุมที่ 4 กำลังดูว่าศักยภาพเป็นอย่างไร ซึ่งแปลง M3 นี้ ทั้ง 100% จะป้อนดีมานด์ของเมียนมาร์ ส่วนในแอฟริกาใต้คือในแหล่งโรวูมา 1 ที่

ปตท.สผ.เข้าไปถือหุ้นในบริษัทโคฟ เอนเนอร์ยี่ ที่คาดว่าจะเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในปี 2562 รวมถึงโครงการออยล์ แซนด์ (KKD) ในประเทศแคนาดา ผลิตอยู่ 14,000 บาร์เรล/วัน

  แหล่งบงกชจะครบอายุสัมปทาน

ในปี 2565 สัมปทานจากแหล่งบงกชจะต้องคืนให้กับรัฐ

แต่เชื่อว่ายังมีปริมาณสำรองอยู่ ซึ่งการเตรียมจะต้องเร่งก่อนถึงช่วงนั้น 5-7 ปี ฉะนั้น ภาครัฐจะต้องชัดเจนใน 2 เรื่อง คือ 1) สัมปทานกลับคืนไปที่รัฐ หรือ 2) เปิดให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่มาทำ

แต่ที่ ปตท.สผ.มองแนวทางที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศ คือ ให้เจ้าของสัมปทานรายเดิมทำต่อ รัฐอาจจะต้องพิจารณาว่าสิ่งที่มีเหลือในแหล่งมากน้อยเพียงใด ประโยชน์กลับมาที่รัฐจะเป็นอย่างไร เพื่อความเหมาะสม

  เป้าหมายและแผนลงทุน 5 ปี

วันนี้ผลิตอยู่ 340,000 บาร์เรล/วัน ปตท.สผ.ตั้งเป้าในปี 2563 จะเพิ่มการผลิตเป็น 600,000 บาร์เรล/วัน ปัจจุบันเป็นการผลิตจากในประเทศ 80% และต่างประเทศ 20% หลังจากในปี 2563 จะเปลี่ยนเป็นในประเทศแค่ 40% และจะเพิ่มจากต่างประเทศเป็น 60% นโยบายจากนี้จะเน้นในทวีปแอฟริกา เพราะโอกาสค่อนข้างมาก เช่น โมซัมบิกที่ ปตท.สผ.เป็นทั้งนักลงทุน และเข้าไปช่วยพัฒนาการใช้ทรัพยากรประเทศของเขาให้เกิดประโยชน์เต็มที่ด้วย และหากว่ามีโอกาสเข้าไปแบบ Producing Asset ที่สามารถทำรายได้และสร้างปริมาณสำรองได้ทันที ก็เป็นโอกาสที่ ปตท.สผ.สนใจ

สำหรับแผนลงทุน 5 ปีนั้นอยู่ระหว่าง Revision การลงทุนใหม่ ตัวเลขจะสรุปปลายปีนี้ แต่เชื่อมั่นว่าจะลงทุนมากกว่าที่วางไว้เดิม คือ 25,000 ล้านเหรียญ หรือปีละ 5,000 ล้านเหรียญ และของเดิมยังไม่รวมการลงทุนในโมซัมบิก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook