คุยกับ "ฟ้าใหม่-ระฟ้า" ทายาท "อากู๋ แกรมมี่" จีเอ็มเอ็ม แซท พร้อมรบทีวีทุกแพลตฟอร์ม
ฟ้าเปิด...
คือคำเปรียบเปรยผู้ผลิตคอนเทนต์รายการทีวีช่องต่าง ๆ ในขณะนี้ เนื่องจากการจัดระเบียบการแพร่ภาพออกอากาศทีวีในบริบทใหม่ โดยคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใกล้เสร็จสิ้น
ทำให้ช่องฟรีทีวี ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เพียง 6 ช่อง กำลังถูกขยายขอบเขตออกไปเป็น 24 ช่องในรูปของดิจิทัลทีวี
ยังไม่รวมถึงเพย์ทีวี ไม่รวมถึงทีวีผ่านดาวเทียมอีกนับไม่ถ้วนที่ได้รับใบอนุญาตไปก่อนหน้า
"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "สองหนุ่ม-สองบุคลิก" ฟ้าใหม่ และระฟ้า ดำรงชัยธรรม ทายาท "อากู๋ แกรมมี่" ซึ่งอยู่ระหว่างเริ่มต้นสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจมีเดียเป็นของตัวเอง เพื่อให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและยุคสมัย โดยมีกล่อง "จีเอ็มเอ็ม แซท" เป็นประตูสู่ทีวีผ่านดาวเทียมและเพย์ทีวีนับสิบ ๆ ช่อง
ด้วยการแท็กทีมของสองทายาทกับสองบุคลิก หนุ่มมาดขรึม "ฟ้าใหม่" รั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มงานแพลตฟอร์ม และหนุ่มมาดเซอร์ "ระฟ้า" กับเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มงานคอนเทนต์ แมเนจเมนต์ บริษัท
จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด
กับความเชื่อมั่นว่า แกรมมี่คือผู้ผลิตคอนเทนต์บันเทิงที่มีความแข็งแกร่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และถวิลหาการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์มานานแล้ว
- ทิศทางจีเอ็มเอ็ม แซท ปีนี้จะก้าวไปในทิศทางไหน
ฟ้าใหม่ : ปีก่อนถือว่าเป็นการแนะนำตัว แต่ปีนี้ถือเป็นปีที่สำคัญ ถือเป็นจุดหักเหของตลาดโทรทัศน์ทั้งหมด
เพราะจะมีทั้งทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีแข่งขันกันอย่างคึกคัก และจำนวนประชากร
20% จาก 22 ล้านครัวเรือน กำลังจะเปลี่ยนสู่ดิจิทัลทีวี ขณะที่ทีวีอินเทอร์เน็ต (IPTV) ก็ไม่ได้หายไป แต่กำลังจะเข้ามา
ทุกอย่างกำลังขยายตัวอย่างรุนแรง และคอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศจะเพิ่มจำนวน
ด้วยพื้นที่การแข่งขันตรงนี้ แกรมมี่ถือว่ามีประสิทธิภาพ เพราะมีจุดแข็งด้วยการเป็นผู้ผลิตและสะสมคอนเทนต์มาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเราสะสม
คอนเทนต์เพื่อรอวันนี้ รอที่จะมีช่องทางการออกอากาศเป็นของตัวเอง
ปัจจุบันถือว่ามีฐานสมาชิกเป็นของ
ตัวเองถึง 1.5 ล้านกล่องแล้ว แต่ถ้ามีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น ทั้งดิจิทัลทีวี 3G แกรมมี่ก็พร้อมที่จะนำคอนเทนต์ที่มีเข้าไปสร้างมูลค่าในช่องทางการออกอากาศรูปแบบต่าง ๆ
ระฟ้า : ถ้ามองหลัก ๆ ทั้งตลาดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ตลาดบน มีทรูวิชั่นส์เป็นเจ้าตลาดที่เป็นระบบปิด ตามด้วยตลาดล่าง มีพีเอสไอเป็นเจ้าตลาด มีช่องฟรีทูแอร์เป็นหลัก สุดท้ายตลาดกลาง ถือว่าเป็นช่องว่างที่จะมีทั้งช่องฟรีทูแอร์ และช่องที่ต้องจ่ายเงินก่อนรับชมหรือเพย์ทีวี ดังนั้นบริษัทจึงเข้ามาอยู่ตรงกลางที่มีช่องสามารถรับชมได้เหมือนตลาดล่าง และเสริมช่องรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศเข้ามา
ฟ้าใหม่ : จากนี้ไปจำนวนกล่องรับสัญญาณจะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน
ผู้บริโภคก็มีทางเลือก ซึ่งบริษัทมีกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท ที่รองรับความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกล่องฟรีทูแอร์ "แซท มินิ" เจาะตลาดล่าง ตามด้วยกล่องสมาร์ท เจาะตลาดกลาง และกล่อง
เอชดี เจาะตลาดกลางบนที่ต้องการคอนเทนต์คุณภาพ ทำให้ทั้งปีจะมียอดขายเพิ่มอีก 1.5 ล้านกล่อง รวมเป็น 3 ล้านกล่องเมื่อถึงสิ้นปี
และคาดว่าจะมีสมาชิกเพย์ทีวีประมาณ 4.5-6 แสนราย หรือคิดเป็น 15-20% ของจำนวนกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท ซึ่งมั่นใจว่าคอนเทนต์ที่มีจะเป็นแรงผลักดันให้ยอดขายกล่องเติบโต
- เป้าหมายการเป็น "แพลตฟอร์ม" ถึงขณะนี้
ฟ้าใหม่ : ชนวนที่จุดประกายให้แกรมมี่สร้างแพลตฟอร์มของเราเองเมื่อหลายปีก่อน เกิดจากตลาดทีวีดาวเทียมขยายตัวอย่างรวดเร็ว ช่องฟรีทูแอร์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 6 ช่องอีกต่อไป ตลาดเปิดกว้างขึ้นด้วยราคาถูกลง เทคโนโลยี (ดาวเทียม) เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายทยอยเข้ามา แต่เหมือนไก่กับไข่ เพราะถึงแม้ว่าหลายปัจจัยเข้ามาเอื้อ แต่เมื่อกฎหมายไม่เปิด ทุกอย่างก็ยังเดินหน้าไม่ได้
แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กฎหมายเปิดกว้างขึ้น แกรมมี่ได้จับมือกับพีเอสไอสร้างตลาดนี้ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน โดยแกรมมี่คือผู้ผลิตคอนเทนต์ ส่วนพีเอสไอคือแพลตฟอร์ม โดยที่ตลาดโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกินส่วนแบ่งถึง 70% จาก 22 ล้านครัวเรือน ทำให้บางแพลตฟอร์มเริ่มเก็บเงินค่าเรียงช่อง (ช่องแรก ๆ จะถูกเรียกค่าธรรมเนียมสูงกว่า) แกรมมี่ในฐานะคอนเทนต์โพรไวเดอร์จึงต้องสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง
"ตอนนั้นถ้าไม่จ่ายเงิน เขาก็ไม่ให้เราอยู่ในกล่อง ไม่ให้อยู่ในแพลตฟอร์มเขา เราก็ขาดทุน เพราะเราคือคอนเทนต์โพรไวเดอร์ และด้วยจำนวนคอนเทนต์ที่มีมาก ทำให้ตัดสินใจสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสร้างบ้านให้แก่คอนเทนต์"
จึงเป็นที่มาของการสร้างแพลตฟอร์ม "วันสกาย" ประมาณปี 2554 ก่อน
รีแบรนด์เป็น "จีเอ็มเอ็ม แซท" เพราะไม่ต้องการให้ติดภาพความเป็นแกรมมี่ และบอกทุกคนว่า ไม่ว่าใครก็อยู่บนแพลตฟอร์มนี้ได้
เมื่อรีแบรนด์เสร็จก็ต้องมีกลยุทธ์ทางการตลาด โดยใช้คอนเทนต์ฟุตบอลยูโรเป็นตัวสร้างชื่อ ซึ่งผลประสำเร็จ มียอดขายกล่องเกือบ 1 ล้านกล่อง และแตะ 1.5 ล้านกล่องเมื่อสิ้นปีที่แล้ว
- ปัจจุบันมีช่องทีวีเกิดขึ้นมากมาย
จีเอ็มเอ็ม แซท มีคอนเทนต์เด่น ๆ อะไรมาสู้กับคู่แข่ง ในเมื่อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกหลุดมือไปแล้ว
ฟ้าใหม่ : ตอนแรกเสียดายเล็กน้อย (หัวเราะ) แต่พอเห็นราคาแล้วดีใจ เพราะลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกเป็นเสมือนขนมหวานเคลือบยาพิษ โดยช่วงแรกคิดว่าจะใช้คอนเทนต์ตัวนี้เป็นตัวชูโรง เพื่อดึงให้สมาชิกเพิ่มขึ้นในราคาที่เหมาะสม แต่ปัจจุบันราคาค่าลิขสิทธิ์สูง ถ้าได้มาก็คงไม่คุ้ม เพราะเราเจาะตลาดกลาง
ระฟ้า : เรายังมีคอนเทนต์กีฬาและบันเทิงอีกมากมาย สำหรับเพิ่มฐานสมาชิก จากนี้ไปคาดว่าคอนเทนต์ที่เป็นฟรีทูแอร์จะลดลงเรื่อย ๆ รวมถึง
ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ไม่ได้คุณภาพจะค่อย ๆ หายไป จากการเข้ามากำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งเป็นอีกโอกาสของบริษัท
โดยปีนี้คอนเทนต์จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นจึงผลิตคอนเทนต์โลคอลและเดินหน้าหาพันธมิตรจากต่างประเทศภายใต้ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.สร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสื่อสารให้รู้ว่า จีเอ็มเอ็ม แซท คือใคร มีแนวทางอย่างไร ถือว่าได้รับการตอบรับดี เจ้าของลิขสิทธิ์รู้ว่า จีเอ็มเอ็ม แซท ดูแลลิขสิทธิ์ได้ 2.การสร้างแบรนด์ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เจ้าของลิขสิทธิ์รู้ว่า เราสามารถรักษาแบรนด์ของเขาได้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
3.ทรานสปอนเดอร์ (Transponder) เตรียมเช่าไทยคม 6 สำหรับขยายช่องเพิ่ม เพื่อรองรับคอนเทนต์ ปัจจุบันมี 4 กลุ่ม ได้แก่ ภาพยนตร์ การ์ตูน สารคดี และบันเทิง อนาคตจะเพิ่มอีกหลายหมวด
รวมถึงเพิ่มแพ็กเกจที่หลากหลายรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2 แพ็กเกจคือบันเทิงและกีฬา รวม 8 ช่องรายการ
ทั้งนี้คอนเทนต์ที่อยู่ในตลาดส่วนใหญ่ คือฟรีทูแอร์ ส่วนคอนเทนต์ของเราก็ไม่ได้พรีเมียมและไม่ได้แมสมาก เจาะตลาดกลาง ด้วยการเพิ่มคุณภาพของรายการเข้าไป ทำให้ดูดีขึ้น เจาะเซ็กเมนต์ขึ้น และแตกต่างจากตลาด เพราะเป็นคอนเทนต์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศ เทียบเท่ากับคอนเทนต์พรีเมี่ยม
- มองภาพรวมของตลาดโทรทัศน์บอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) อย่างไร
ฟ้าใหม่ : จากอุตสาหกรรรมโฆษณาทั้งหมด 1 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันเพย์ทีวีไทยมีส่วนแบ่งไม่ถึง 10% ของมูลค่าตลาดรวม ขณะที่เพย์ทีวีต่างประเทศมีสัดส่วนมากกว่า 50% และบางประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนถึง 80-90% ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคพัฒนาขึ้น รับรู้ เริ่มเข้าใจ และต้องการอยากชมรายการที่มีคุณภาพ พรีเมี่ยมมากขึ้น ไม่ต้องการช่องจำนวนมาก ๆ เหมือนก่อน
ระฟ้า : ตลาดเพย์ทีวีถือว่ามีความยาก มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ 1.ทรานสปอนเดอร์ ซึ่งเราเตรียมเช่าไทยคม 6 เพิ่มแล้ว 2.การบริหารคอนเทนต์ และ 3.การสร้างแพลตฟอร์ม วันนี้จีเอ็มเอ็ม แซท ขยายได้ 1.5 ล้านกล่อง ถือว่าเพียงพอต่อการทำตลาดเพย์ทีวี
"มีกลุ่มผู้บริโภคที่ยอมจ่ายเงินเพื่อรับชมทีวีอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าคอนเทนต์จะโดนใจหรือเปล่า ซึ่งเราต้องทำคอนเทนต์ให้โดนใจ"
- ด้วยวัยวุฒิแล้ว มีผลต่อการบริหารงานหรือไม่
ฟ้าใหม่ : จริง ๆ ผม (ฟ้าใหม่) กับระฟ้า อาจจะไม่นับเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ของแกรมมี่ เพราะที่นี่มีหลายเจเนอเรชั่น อย่างเจเนอเรชั่นที่ 1 ก็มีพี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง และพี่กริช ทอมมัส ถือเป็น
เจเนอเรชั่นที่ 2 อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ารู้สึกกดดันต่อการบริหารครั้งนี้ แต่ถือเป็นความกดดันที่ดีสำหรับการพิสูจน์ฝีมือการทำงานให้เป็นที่ยอมรับ
ระฟ้า : แม้ผม (ระฟ้า) ไม่ใช่ลูกอากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) หรือคนในครอบครัว ก็อยากจะทำงานกับแกรมมี่ เพราะเป็นบริษัทบันเทิง เมื่อพูดถึงความบันเทิงคนก็อยากมาทำ เพราะเป็นงานที่สนุก
- คาดหวังกับประมูลดิจิทัลทีวีแค่ไหน
ฟ้าใหม่ : เราสนใจเข้าร่วมประมูลทั้งช่องทั่วไป ช่องเด็ก เตรียมงบประมาณสำหรับการเข้าประมูลไว้เรียบร้อย ขณะที่สัดส่วนรายได้ช่วงแรกอาจจะยังไม่เปลี่ยน คงจะมีรายได้มาจาก 3 ส่วน คือ การขายกล่อง การให้บริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก และการขายโฆษณา
อย่างไรก็ตามหากประมูลดิจิทัลทีวีได้ อาจจะต้องมีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารจัดการ
"แกรมมี่ถือว่าอั้นมานาน ที่ผ่านมาไม่เคยมีพื้นที่สื่อเป็นของตัวเอง วันนี้เทคโนโลยีถูก ทุกอย่างเปิดกว้างขึ้นพอที่จะทำการค้าได้ ทำให้บริษัทรุกเข้ามาทำตลาดได้เต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นงานที่ยากและใหม่สำหรับทุกคน แต่มั่นใจว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา การมีคอนเทนต์เป็นของตัวเองถือว่าเป็นความได้เปรียบ และเป็นจุดแข็งที่จะทำให้ จีเอ็มเอ็ม แซท ประสบความสำเร็จ"
ยังไม่นับรวมถึงเงินทุน และบุคลากรที่ไม่เป็นสองรองใครแน่นอน
อัลบั้มภาพ 30 ภาพ