บินไทยเจ๊ง 8.4 พันล้าน กระเพื่อมเก้าอี้ ดีดี "สรจักร"
ผลประกอบการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไตรมาส 2 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสรุปออกมาว่า มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิในส่วนที่เป็นบริษัทใหญ่ 8,439 ล้านบาท สาเหตุเนื่องมาจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อาทิ การชำระค่าเครื่องบินที่เข้ามา ความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินเยน
"สรจักร เกษมสุวรรณ" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า การดำเนินงานครึ่งปี 2556 มีผลขาดทุนสุทธิในส่วนที่เป็นบริษัทใหญ่จำนวน 156 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 2 บริษัทมีการบันทึกขาดทุนด้อยค่าเครื่องบินที่จอดทิ้งไว้ไม่ได้นำมาให้บริการสูงถึง 3,600 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ขาดทุนเพียง 181 ล้านบาท รวมทั้งในไตรมาส 2 ยังประสบปัญหาขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 4,200 ล้านบาท และขาดทุนการดำเนินงาน 2,900 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไตรมาส 2 มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิในส่วนที่เป็นบริษัทใหญ่ 8,439 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมกำไรทั้งปี 2556 จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะพลาดเป้าประมาณ 2,000 ล้านบาท มีกำไรเพียง 4,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีกำไร 6,000 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้ เป็นปีที่การบินไทยจะมีภาระหนี้สูงสุดถึง 1.8 แสนล้านบาท จากค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีการรับมอบเครื่องบินที่มีมากถึง 7 ลำ
ด้าน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต ดีดี การบินไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyasvasti Amranand ทันที โดยระบุว่า การบินไทยขาดทุน 8,426 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 นี้ และเมื่อรวมกับกำไรในไตรมาสแรกซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวแล้ว น่าตกใจมากว่าในครึ่งแรกของปีนี้ขาดทุน 131 ล้านบาทเทียบกับกำไร 3,772 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
จะโทษอัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่ได้เพราะในครึ่งแรกปีนี้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,927 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2555 ไม่เข้าใจว่าบริหารกันยังไง เพราะสภาพแวดล้อมปีนี้ ดีมาก ราคาน้ำมัน ซึ่งคือ 40% ของต้นทุนก็ลดลงประมาณ 8% เมื่อคิดเป็นเงินบาทจำนวนผู้โดยสารต่างชาติผ่านสนามบินในไทยเพิ่มขึ้นถึง 19.4% จำนวนผู้โดยสารผ่านสนามบิน 6 แห่งของ AOT เพิ่มขึ้น 18%
ในขณะเดียวกันไม่มีภัยพิบัติหรือความวุ่นวายทางการเมืองเหมือนปีก่อนๆ ที่น่าตกใจไปกว่านั้นอีกคือ นกแอร์และไทยแอร์เอเซียมีกำไรในไตรมาสสองเพิ่มขึ้นถึง 136% และ 109% ตามลำดับ
ต่อกรณีที่การบินไทยขาดทุนอย่างย่อยยับกว่า 8.4 พันล้านบาท ข่าวลือที่ว่าจะมีการปลดนายสรจักรก่อนหน้านี้ ยิ่งเป็นแรงกระเพื่อมให้ข่าวมีท่าทีกระจ่างขึ้นไปอีกว่า นายสรจักรอาจจะรั้งเก้าอี้ไว้ไม่อยู่
แต่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาระบุเบื้องต้นว่า ยังไม่ได้รับรายงานในฐานะที่ดูด้านนโยบาย และมองว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย น่าจะต้องรายงานมาที่ตน แต่เรื่องนี้ถือเป็นอำนาจของบอร์ดในการตัดสินซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลที่อธิบายได้ ส่วนตัวมองว่าการประเมินผลการทำงานรอบแรกในช่วง 6 เดือน แล้วตัดสินใจปลดออกอาจแรงเกินไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุผลการทำงานเป็นหลัก
"ตามที่มีข่าวระบุว่า เหตุผลที่มีการปลดนายสรจักร เพราะผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ขาดทุน 7,800 ล้านบาทนั้น ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นความบกพร่องที่เกิดจากการทำหน้าที่ของนายสรจักร หรือในหลักการทำงานนั้นบอร์ดควรจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่"
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา นายสรจักรได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ฝ่ายการเมืองจะปลด นายสรจักร ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ของการบินไทย
โดยนายสรจักร ยังยืนยันว่า สาเหตุที่การบินไทยมีผลประกอบการขาดทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 นั้นมาจากสาเหตุที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น อาทิ การชำระค่าเครื่องบินที่เข้ามา ความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินเยน แต่ผลประกอบการปิดครึ่งปีแรกปี 2556 ถือว่ายังมีผลประกอบการที่ดี ทั้งนี้ มองว่าการขาดทุนของบริษัทไม่ใช่การบริหารงานที่ผิดพลาดของตนไปเสียหมด บางส่วนเป็นผลกระทบที่ได้รับจากปัจจัยภายนอกหลายๆ ด้าน
ขณะที่พล.อ.พฤณท์ บอกว่า นายสรจักรเข้าพบเพื่อแจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ เพราะต้องรอแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน โดยตัวเลขขาดทุนบอกได้ว่า ไม่ใช่ผลขาดทุนจากการดำเนินงานเพียงอย่างเดียว แต่มาจากหลายปัจจัยต้องมาพิจารณาจุดอ่อนว่าจะทำอย่างไรให้รายได้เพิ่มขึ้น โดยได้หารือร่วมกันกับ นายสรจักร และมอบหมายให้การบินไทยกลับไปทบทวนแนวคิดเรื่องการพัฒนาในเชิงธุรกิจ ว่าจะทำอย่างไรจะเพิ่มรายได้ขึ้นมาได้ โดยให้กลับมารายงานภายใน 30 วัน
ในเบื้องต้น การบินไทย ควรมีวิธีการปรับการบริหารงาน ยกตัวอย่างเช่น ควรจะแยกครัวการบินไทย หรือ คาร์โก้ ออกจากบริษัทแม่หรือไม่ เพื่อให้การบริหารเป็นอิสระ ป้องกันไม่ให้บริษัทแม่เข้าไปล้วงลูกการแยกเป็นบริษัทลูกจะมี คณะกรรมการเข้ามาดูแล คล้ายๆ กับแนวการบริหารงานของ ปตท. ที่ประสบความสำเร็จในการแยกบริษัทลูก และสามารถทำกำไรได้