2 ปี "หนี้ครัวเรือน" พุ่งฉิว เหตุดอกเบี้ยต่ำ-แบงก์แข่งดุ-รัฐกระตุ้น

2 ปี "หนี้ครัวเรือน" พุ่งฉิว เหตุดอกเบี้ยต่ำ-แบงก์แข่งดุ-รัฐกระตุ้น

2 ปี "หนี้ครัวเรือน" พุ่งฉิว เหตุดอกเบี้ยต่ำ-แบงก์แข่งดุ-รัฐกระตุ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยรายงานเรื่อง "หนี้ภาคครัวเรือนนั้นสำคัญไฉน ?" ระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่ยืนอยู่ในระดับสูง อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงและกระทบกับรายได้ภาคครัวเรือน อีกทั้งการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคครัวเรือนที่หดตัวลง ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซาได้ในที่สุด

โดย 2 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนที่มาจากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่าง ๆ เร่งตัวขึ้น โดยขยายตัวสูงกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพีเร่งขึ้นจากระดับ 63.3% เมื่อปี 2553 เป็น 77.5% ในไตรมาส 1/56 โดยเฉพาะระหว่างปี 2554-ไตรมาส 1/56 หนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวมากถึง 17% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า (ปี 2547-2553) ที่ขยายตัว 13%

ส่วนการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนพบว่า มาจากธนาคารพาณิชย์มากถึง 43% รองลงมาคือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 30.9% และสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัทเงินทุน โรงรับจำนำ เป็นต้น 26.1% และเป็นที่สังเกตว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีบทบาทให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนที่มาจากการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบมากขึ้น แต่ภาพรวมของสภาพคล่องของครัวเรือนที่พิจารณาจากสัดส่วนสินทรัพย์ทางการเงินต่อหนี้สินได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.3 เท่า (ปี 2554-ไตรมาส 1/56) จากช่วงก่อนหน้า (ปี 2547-2553) อยู่ที่ 2.5 เท่า


ในสถานการณ์ที่การก่อหนี้ภาคครัวเรือนเร่งตัวสูงขึ้นจากอดีต ขณะที่สภาพคล่องของภาคครัวเรือนลดลง ธปท.วิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า มีปัจจัยสนับสนุนจากการมีอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำตั้งแต่ปี 2552

ต่อมาคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ อาทิ มาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ซอฟต์โลนและจากการแข่งขันการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ด้วยกลยุทธ์การขายต่าง ๆ

จึงไม่น่าแปลกใจที่หนี้ภาคครัวเรือนจะขยับตัว "ชัน" มากขึ้นอีกทั้งในรายงานยังระบุว่า ประเภทสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวอย่างมากระหว่างปี 2554-ไตรมาส 1/56 ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 29.1%

สินเชื่อส่วนบุคคล 25% โดยสินเชื่อทั้งสองประเภทมีน้ำหนักรวมกันเฉลี่ย 45.6% ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว

ในรายงานยังวิเคราะห์ระดับการก่อหนี้ที่เหมาะสมของภาคครัวเรือน โดยอ้างอิงผลการศึกษาในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 18 แห่ง (ระหว่างปี 2523-2553) ของ BIS ที่พบว่า

ระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่อาจก่อให้เกิดผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 85% ของจีดีพีนั้นเป็น Benchmark ที่ควร "ระมัดระวัง" มากกว่าจะใช้เป็นเกณฑ์บอกว่าเป็นระดับวิกฤต เนื่องจากระดับการก่อหนี้ที่เหมาะสมของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันไป

โดยสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ประกอบการประเมินเสถียรภาพของภาคครัวเรือน คือ ความสมดุลด้านรายได้-รายจ่าย ระดับการออม ภาระในการชำระหนี้ และวินัยทางการเงินของภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนไทย โดยวัดจากรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน พบว่า ระหว่างปี 2552-ไตรมาส 1/56 ครัวเรือนไทยมีภาระในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 0.34 เท่า เพิ่มขึ้นจากระดับ 0.29 เท่าเมื่อปี 2552 สะท้อนว่า หากครัวเรือนมีรายได้ต่อเดือน 100 บาท ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 34 บาท

แม้สัดส่วนสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ แต่หนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น ทำให้ฐานะการเงินของภาคครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น

ดังนั้นภาคครัวเรือนควรคำนึงถึงฐานะทางการเงินโดยเฉพาะภาระในการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบก่อนก่อหนี้เพิ่มในอนาคต

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook