"ออง-ฌอน" 2 พาวเวอร์แมน "พม่า-ไทย" นักปั่นไฟจุดแสงศิวิไลซ์เมียนมาร์
2 หนุ่มนักธุรกิจไทย "ศุภศิษฏ์ สกลธนารักษ์ หรือ ฌอน" และนักธุรกิจชาวพม่า "ออง ทีฮา" ผู้รับผิดชอบดูแลเมกะโปรเจ็กต์ 9 พันล้านบาท พัฒนาพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศเมียนมาร์ โดยการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ป้อนเมืองใหญ่ ๆ และพื้นที่ห่างไกลในพม่าขนาด 210 เมกะวัตต์ ขีดความสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 350 ล้านวัตต์ต่อปี
โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นแห่งแรกในพม่านี้ ถือเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ประเภท PV หรือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ดำเนินงานภายใต้บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด
นับว่าเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ใหญ่ที่บริษัทต่างชาติเข้าไปดำเนินกิจการในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศเปิดใหม่อย่าง"สหภาพเมียนมาร์" โดยมี 2 หนุ่ม เจ้าบ้านและเพื่อนบ้านช่วยกันประสานงาน จนได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลพม่าให้ดำเนินกิจการจนได้รับความร่วมมือกับทางการ เพื่อช่วยกันสร้างแสงสีและความศิวิไลซ์ให้กับสหภาพเมียนมาร์
ฌอน-ศุภศิษฏ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด อีกสถานะหนึ่งเขายังเป็นศิลปินนักร้องหนึ่งในสมาชิกทั้งหกคนของวงดนตรี "The Begins" หลายคนรู้จักเขาในนาม "ฌอนโบรคเกอร์" และยังเป็นนักธุรกิจร้านอาหารและพลังงานทดแทน
ส่วน "ออง ทีฮา" นักธุรกิจหนุ่มชาวพม่า หนึ่งในกรรมการบริหารบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้บริหารประจำสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ผู้มีประสบการณ์โลดแล่นในวงการหุ้นกระดานใหญ่แห่งวอลล์สตรีตกว่า 8 ปี และยังมีธุรกิจอื่น ๆ อีก ได้แก่ บริษัท AVA Capital Trading จำกัด ที่เน้นการลงทุนธุรกิจในประเทศสหภาพเมียนมาร์
ทั้งคู่ถือเป็นคู่หูนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มากทั้งประสบการณ์และฝีมือ อย่าง ณอน วัย 30 ปี ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจด้านบริหารงานกิจกรรมการตลาด หรือ event management ร่วมด้วยรายการโทรทัศน์แบบออนไลน์ บริษัทดูแลงานคอนเสิร์ตและงานบันเทิง และยังเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกขนาดใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน
นอกจากงานสายดนตรีที่เขาชื่นชอบแล้วเขายังทำงานในสายการเงิน เริ่มต้นอาชีพกับสถาบันการเงินระดับโลก (HSBC - The Hong Kong and Shanghai Banking Corporation) รับผิดชอบการพัฒนาความสัมพันธ์และการจัดการพอร์ตการลงทุนสำหรับบุคคลมูลค่าสุทธิสูง
ส่วน "ออง" วัย 32 ปี ผ่านงานสายการเงิน และเชี่ยวชาญในธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศญี่ปุ่น ในฐานะหุ้นส่วนของบริษัท Asahi Shokuhin จำกัด อีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจ เขายังได้รับผิดชอบดูแลการปรับโครงสร้างหนี้ และเป็นผู้บริหารในตำแหน่งรองประธานกลุ่มธุรกิจ NextBridge ผู้นำในการซื้อกิจการและการจัดจำหน่ายสำหรับอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์
ออง เริ่มต้นในด้านการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ CWCapital ในการจัดจำหน่าย, การวางโครงสร้างสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์และการให้บริการมูลค่ารวมมากกว่า 2,500,000,000 ล้านบาท
ดังนั้นการเข้าไปดูแลกิจการพลังงานไฟฟ้าในสหภาพเมียนมาร์ จึงไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ง่าย ในสายตาของทั้ง 2 หนุ่มที่เข้าถึงการนำโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ ลงทุนในประเทศเปิดใหม่
"ทำงานที่พม่าไม่ยาก แต่ทำงานกับรัฐบาลพม่ายากครับ" ออง นักธุรกิจชาวพม่ากล่าวไว้ก่อนจะนำไปสู่วิธีการทำงานที่เต็มไปด้วยอุปสรรคปัญหาและความสนุกสนานไปในตัว
ฌอนเล่าว่าถึงเขาจะเป็นชาวพม่าโดยสัญชาติ แต่ก็เพิ่งมีโอกาสกลับประเทศของตนเมื่อปีกว่า ๆ มานี้เอง เนื่องจากเขาเกิดและเติบโตที่เมืองไทย อาศัยอยู่กับแม่ที่ทำงานเป็นทูตพม่าประจำ UNESCAP ในเมืองไทยมากว่า 30 ปี กระทั่งอายุ 19 ปี ถึงไปเรียนต่อประเทศอังกฤษและอเมริกา
เมื่อโอกาสมาถึง เขาจึงไม่รีรอที่จะกลับไปพม่าด้วยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
"พม่ายังขาดไฟฟ้าอีกมาก เพราะทั้งประเทศผลิตไฟฟ้าแค่ 2,500 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1 ส่วน 10 ของเมืองไทย จำนวนประชากรใกล้เคียงกันมาก แต่คนพม่าที่เข้าถึงไฟฟ้ามีเพียงแค่ 25% ของคนทั้งประเทศเท่านั้นเอง" อองกล่าว
ฌอนเสริมว่า การลงทุนในประเทศที่เพิ่งเปิด ควรจะมีการลงทุนในภาคของโครงสร้างหลักอย่างระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า
"พม่าขาดแคลนไฟฟ้ามาก เพราะคนทะลักเข้าไป หลังประเทศเปิด ดูจากห้างสรรพสินค้าไฟฟ้ายังติด ๆ ดับ ๆ หรืออย่างตอนที่ผมไปเซ็นสัญญาลงทุนทำไฟฟ้ากับทางการกระทรวงพลังงานพม่า ขนาดมีรัฐมนตรีมาร่วมลงนาม ไฟฟ้าในห้องเซ็นเอ็มโอยูยังดับเลย ไฟดับจึงเป็นเรื่องปกติมาก" ฌอนฉายภาพพลังงานที่ยังขาดแคลนอีกมาก
ขณะที่อองบอกว่า ที่กลับไปทำพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ก็เหมือนกับได้ช่วยประเทศชาติด้วย ส่วนใหญ่ประเทศที่เพิ่งเปิดใหม่ ๆ ไม่มีประเทศไหนที่แอดวานซ์พอจะมีโซลาร์เซลล์ได้ แต่เรามีโครงการใหญ่พอที่จะช่วยประเทศพม่าได้ เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็นพลังงานน้ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์
"ตอนนี้ทุกคนอยากไปลงทุนที่ประเทศพม่ากันมาก แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า ยังไม่มีอะไรพร้อมเลย ยังขาดอีกหลายอย่าง สิ่งแรกที่ขาดก็คือไฟฟ้านี่แหละครับ" อองเล่าภาพรวมให้ฟัง
เป็นสิ่งที่เขาตั้งใจอยากให้เกิดขึ้นเพื่อรองรับนักลงทุนที่กำลังด้อม ๆ มอง ๆ มายังสหภาพเมียนมาร์
สำหรับภาพรวมความเชื่อมั่นของพม่าในสายตา 2 นักธุรกิจ จากที่พวกเขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาจากหลายประเทศ ฌอนมองว่า ประเทศพม่าปิดมา 40 ปี และเพิ่งเปิดได้ 2 ปี แต่พม่าพัฒนาไปเร็วมาก มีโอกาสอีกเยอะมากโดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ
สิ่งที่ 2 นักธุรกิจผู้ตระเวนไปในโลกกว้างระดับซื้อหนี้สิน ทำงานในสายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถึงกับร้อง "โอ้ย" ช็อกกับตัวเลขราคาที่ดินที่สูงปรี๊ดในเมืองพม่า ดูจะแพงเว่อร์ขนาดที่นักลงทุนยังไม่กล้าเสี่ยง
"ตอนนี้ที่ดินในพม่าแพงมาก ๆ ราคาที่ดินในย่างกุ้ง แพงพอ ๆ กับกรุงเทพฯ บางแห่งตารางวาละ 2-5 ล้านบาทก็ยังมี และพม่าสร้างอะไรสูงมากไม่ได้ โซนใกล้เจดีย์ต้องไม่เกิน 12 ชั้น นอกเจดีย์ ในเมืองจำกัดแค่ 20 ชั้น"
แม้แต่ราคาโรงแรมที่พัก เมื่อ 2 ปีก่อนอยู่ที่ 2 พันกว่าบาท แต่ตอนนี้ขยับขึ้นเป็นหมื่นกว่าบาท โรงแรมก็ไม่ได้ดีมาก ทั้งที่เป็นโรงแรมเก่าสร้างมาแล้ว 15 ปีหรือแม้แต่ร้านอาหารดี ๆ ราคายังแพงกว่าเมืองไทย
ส่วนปริมาณคนไม่ต้องพูดถึง เพราะเต็มทุกร้าน อย่างร้านอาหารญี่ปุ่น "ฟูจิ" เต็มตลอด
"ผมเชื่อว่าอีก 5 ปี น่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสมกับการลงทุนเรียลเอสเตต" นักธุรกิจไทยทำนายระยะเวลารุ่งเรือง
อย่างไรก็ตามในฐานะที่ออง เป็นชาวพม่า เขาก็อยากเห็นแรงงานพม่าส่งออก ควรแก่เวลากลับไปพัฒนาประเทศได้แล้ว
"ผมอยากให้คนที่มีโปรไฟล์แบบผม และแรงงานที่มีทักษะการทำงานได้กลับมาช่วยประเทศของเรา" อองฝากไปถึงเพื่อนร่วมชาติในต่างแดน แต่คนรุ่นใหม่ที่ไปใช้ชีวิตเมืองนอก หากกลับไปอาจจะต้องปรับตัวอีกเหมือนกัน
ถึงอย่างไรภาพที่อองแวบขึ้นมาในหัวก่อนเห็นภาพจริง ก็แตกต่างกันมาก พม่าเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จากรถยนต์ที่แพงกว่าเมืองไทย ตอนนี้ถูกกว่าเมืองไทยอีก เรียกว่าพม่าพร้อมพอสมควร นั่นหมายความว่า ภาพจริงดีกว่าที่เขาคะเนไว้มากทีเดียว
"เดี๋ยวนี้ย่างกุ้งเหมือนกรุงเทพฯมาก มีนักเรียนนอกเหมือนผมเยอะ บางคนอาจจะเป็นลูกครึ่ง ตอนนี้ในเมืองก็มีห้างสรรพสินค้า ฟิตเนส เปิดบริการเต็มตลอด แต่ทุกอย่างยังแพงมาก"
หากจะเปรียบกับเมืองไทย พม่ายังตามหลังอยู่มาก อย่างนักธุรกิจที่มาลงทุน
หากเทียบราคาแรงงานกันแล้ว เมืองไทยอาจจะแพงกว่าเล็กน้อย แต่ก็พร้อมกว่า คนมีทักษะมากกว่า และเมืองไทยก็ไม่ขาดแคลนไฟฟ้าด้วย
"จะพร้อมหรือไม่พร้อม แต่ใครไปถึงก่อนย่อมมีโอกาสก่อน" ตามที่ 2 หนุ่มอธิบายในฐานะผู้บุกเบิก