"ตอม่อ"เกษตร-นวมินทร์ยังมีประโยชน์ เปลี่ยนจากทางด่วนเป็นรถไฟฟ้าสีน้ำตาล

"ตอม่อ"เกษตร-นวมินทร์ยังมีประโยชน์ เปลี่ยนจากทางด่วนเป็นรถไฟฟ้าสีน้ำตาล

"ตอม่อ"เกษตร-นวมินทร์ยังมีประโยชน์ เปลี่ยนจากทางด่วนเป็นรถไฟฟ้าสีน้ำตาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เสาตอม่อ" ถนนเกษตร-นวมินทร์ เดิมทีมีแผนจะก่อสร้างเป็นโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ตอนเหนือช่วง N1 N2 N3 (บางใหญ่-เกษตร-มอเตอร์เวย์) ระยะทาง 42.9 กิโลเมตร แต่ล่าสุดมีความชัดเจนแล้วว่าจะปรับให้เป็นรถไฟฟ้า "สายสีน้ำตาล" แทน

สาเหตุหลักที่ส่งผลต่อการปรับแผน คือ เรื่องเวนคืนที่ดินบริเวณแครายที่ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท บวกกับเสียงคัดค้านจากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาถึงความเหมาะสม

จนในที่สุดกระทรวงคมนาคมจึงมีการปรับรูปแบบก่อสร้างจากทางด่วนขั้นที่ 3 เป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีน้ำตาลแทน โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรณีที่มีโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลทำให้จำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าในแผนแม่บทเดิมเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

ล่าสุด นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 21.6 กม. มูลค่า 45,097 ล้านบาท ซึ่งเป็นแนวรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่นอกเหนือจากแผนแม่บท เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าไปรองรับการเดินทางของประชาชน

สำหรับแนวเส้นทางช่วงแคราย-ลำสาลี เริ่มต้นจาก แครายวิ่งบนถนนงามวงศ์วาน ข้ามไปถนนเกษตร-นวมินทร์ ไปจนถึงลำสาลี มีทั้งหมด 22 สถานี ลักษณะรถไฟฟ้าเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา หรือโมโนเรล โดยโครงสร้างอยู่บนเกาะกลางถนน ซึ่งจะใช้โครงสร้างตอม่อบนถนนเกษตร-นวมินทร์ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยรถไฟสายนี้จะเป็นเส้นทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่แคราย รถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ถนนรัตนาธิเบศร์ รถไฟฟ้าสายสีแดงที่เรือนจำบางเขน และรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อย่างไรก็ดี รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลถือว่าเป็นตัวชี้วัดการทำงานของ รฟม.ที่เสนอโครงการใหม่ให้คณะกรรมการพิจารณา และเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์จึงอนุมัติในหลักการ ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในต้นเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะออกแบบก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2559 เปิดประกวดราคาในปี 2560 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการเดือน ก.ค.2564

ขณะที่ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ตามที่ บอร์ด รฟม. เห็นชอบให้ รฟม.ศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ซึ่งมีแนวเส้นทางส่วนใหญ่ทับซ้อนกับที่กระทรวงคมนาคมให้ สนข.ศึกษาโมโนเรล ช่วงจากแยกแครายถึงมีนบุรี ทดแทนโครงการขั้นที่ 3 ของ กทพ. ที่ถูกประชาชนคัดค้านอย่างหนัก จนต้องยกเลิกไป ทั้งนี้ รฟม.ได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นมาแล้วเป็นอย่างดี เดินหน้าไปมากแล้ว โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาที่จะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชน รวมถึงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่ สนข.ยังไม่มีงบประมาณที่จะใช้ศึกษา เมื่อเป็นเช่นนี้ สนข.ก็จะให้ รฟม.เดินหน้าโครงการต่อไป และ สนข.จะเป็นผู้กำกับดูแล

"แนวเส้นทางของ สนข.ที่เคยศึกษาไว้จะสิ้นสุดที่มีนบุรี แต่ รฟม.ศึกษาไปที่แยกลำสาลี ซึ่งไม่เป็นปัญหา เพราะที่แยกลำสาลีมีแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีปลายทางอยู่ที่มีนบุรี ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเดินทางเชื่อมต่อกันได้"

ว่ากันว่าเบื้องต้นประเมินว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเมื่อเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะมีผู้ใช้บริการ 2.4 แสนเที่ยวต่อวัน หากเก็บในอัตราปกติ จะมีผู้ใช้ประมาณ 2.07 แสนเที่ยวต่อวัน ทั้งนี้ รฟม.ยังมีแนวคิดที่จะศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่เพิ่มเติมอีก เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบริเวณสำโรงด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook