"สคบ." จัดระเบียบสินค้าขายตรง
"สันติ พร้อมพัฒน์" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จี้ "สคบ." เร่งจัดการปัญหาร้องเรียนของผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจขายตรง โดยเฉพาะเรื่องสินค้า "จิรชัย มูลทองโร่ย" ขานรับ จัดประชุมสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการ รณรงค์บริษัทขายตรงรีบทำบาร์โค้ดรหัสสินค้าสากล GS1 ระบุ ที่มาที่ไปสินค้า รองรับ AEC พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการโฆษณา เผยโฆษณาขายตรง ทำสถิติ ผู้บริโภคร้องเรียนสูงสุด ด้าน "นีโอไลฟ์" ยกมือเห็นด้วย ยันบริษัทมี GS1 มาแล้ว 2 ปี แสดง มาตรฐานสินค้าบริษัทชัดเจน
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดประชุม สัมมนา เรื่อง 'การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการโฆษณาในธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง และการจัดทำฐานข้อมูลสินค้าเพื่อรองรับ GS1" โดยทางสคบ.มีความต้องการที่จะรณรงค์ผลักดันให้บรรดาผู้ประกอบการนำสินค้าของแต่ละบริษัทเข้ามาขอบาร์โค้ด โดยจะนำร่องที่ธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรงเป็นอันดับแรก
โดยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีการควบคุมดูแลในเรื่องของคุณภาพสินค้าและการโฆษณาอย่างจริงจัง
"ปัจจุบันก็มีผู้บริโภคร้องเรียนมายัง สคบ. เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา ชำระเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า ตลอดจนปัญหาการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค สคบ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้ให้แก่ผู้บริโภค โดยการนำนวัตกรรม ทางด้านอุตสาหกรรม GS1 Barcode มาใช้ในการเป็นเครื่องมือ เพื่อจำแนกและสอบทวนสินค้าที่ผลิต และจำหน่ายในประเทศ"
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธภาพในการคัดกรองและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจที่ดี ซึ่งประชาชนในฐานะที่เป็นผู้บริโภคจะเป็น ผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง
ด้านนายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้ไปร่วมพูดคุยเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอาเซียน การจัดทำ ฐานข้อมูลสินค้านับเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งยังถือเป็นทางออกในการ ควบคุมสินค้าของแต่ละบริษัท การจัดทำฐานข้อมูลสินค้านี้นับเป็นการจัดระเบียบสินค้า เพื่อติดตามสินค้าในแต่ละรายการ ซึ่ง ถือว่ามีประสิทธิภาพมากในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี หากนับถึงปัจจุบัน ขณะนี้ มีบริษัทขายตรงที่เข้ามาจดทะเบียนดำเนินธุรกิจอยู่มีทั้งหมด 380 บริษัท จาก เดิมในช่วงก่อนหน้าที่มี 353 บริษัท ซึ่งอยู่ ระหว่างตรวจสอบอยู่อีกประมาณ 20 บริษัท โดยในกลุ่ม 380 บริษัทที่กล่าวถึงนี้ จะเริ่มทำเรื่องของฐานข้อมูลสินค้าในทันที
"สคบ. พยายามเดินหน้าผลักดันการจัดระเบียบธุรกิจขายตรงไทย ซึ่งเป็น ไปตามนโยบาย หลังเข้ารับตำแหน่งเลขา สคบ. เมื่อปีที่ผ่านมาที่ต้องการจัดระเบียบ ข้อมูลสินค้า หรือที่เรียกว่า มาตรฐานรหัส สากล GS1 ซึ่งเป็นรหัสสินค้าสากล 13 หลัก และการจัดระเบียบผู้ประกอบการ โดย ก่อนหน้านี้ สคบ.
ได้มีการแยกประเภท บัญชีของผู้ประกอบการขายตรงจำนวน 353 บริษัท และเพิ่มเป็น 380 บริษัท เมื่อ สิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจัดให้เป็นบัญชี ก. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน และบัญชี ข. คือ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนกับ สคบ.
แต่ไม่มีการรายงานความเคลื่อนไหวในการทำธุรกิจให้ สคบ. รับทราบแต่อย่างใด รวมถึงการจัดระเบียบด้านการโฆษณาสินค้า หากเกิดความเสียหายจากการโฆษณา จากนี้ไปผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน"
"สคบ. ตั้งเป้าจะจัดทำฐานข้อมูลสินค้าของแต่ละบริษัท ซึ่งได้มีการประชุม ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เกี่ยวกับการ เปิดตลาดอาเซียน และจากการประชุม ร่วมกัน ผู้นำบาหลีได้จุดประกายเรื่องการ จัดทำรหัสสากล เพราะตอนนี้ทั่วโลกก็ใช้กันอยู่แล้ว และจากนี้ไปก็มีจะมีการซักซ้อม ความเข้าใจกับบริษัททั้งหมด ส่วนโลโก้ สคบ. ที่จะมอบให้ผู้ประกอบการ
ก็จะมีการทำต่อไปเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 อันนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เบื้องต้นการจัดทำรหัสสากล GS1 จะเป็นความ สมัครใจของผู้ประกอบการ โดย สคบ. จะไม่บังคับ แต่จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็น ดังกล่าวอีกครั้ง และต่อจากนี้ไป สคบ. ก็จะมีการเตรียมแผนการจัดทำฐานข้อมูลการจ่ายผลตอบแทนต่อไป"
นอกจากเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูลสินค้าแล้ว ในด้านของการโฆษณา ธุรกิจขายตรงก็นับว่าเป็นปัญหา เนื่องจาก ธุรกิจขายตรง เป็นกลุ่มธุรกิจที่ถูกฟ้องร้อง จากผู้บริโภค ให้มีการตรวจสอบมากที่สุด โดย สคบ. ได้แก้ปัญหาในเรื่องนี้
ด้วยการ ลงนาม MOU กับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องของการโฆษณาสินค้าถึง 10 หน่วย งาน อาทิ อย. กสทช. เป็นต้น ซึ่งในการโฆษณาอวดอ้าง หรือผิดกฎหมาย หากหน่วยงานใดพบก็สามารถจัดการฟ้องร้อง ได้ทันที
+ "นีโอไลฟ์" ชี้ขออนุมัติ "GS1" 2 ปีที่แล้ว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายภัทรพล ไพรจิตร กรรมการบริหาร บริษัท นีโอไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า การจัดทำฐานข้อมูลสินค้าที่ สคบ.พยายามรณรงค์ในปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในส่วน ของผู้ประกอบการ การจัดทำบาร์โค้ดรองรับ GS1 นับว่ามีความสำคัญที่จะทำให้ เรารู้ถึงที่มาที่ไปของสินค้าในแต่ละรายการ
ซึ่งง่ายต่อการควบคุม และสืบค้น ไม่ว่าสินค้าของบริษัทจะส่งไปจำหน่ายในที่ใด ด้านของผู้บริโภคก็จะมีความมั่นใจถึงที่มา ที่ไปของสินค้า ทั้งยังรู้สึกเชื่อถือในสินค้า เพราะมีหน่วยงานรัฐที่ให้ความสำคัญในการจัดระเบียบอยู่
"ที่ผ่านมา ทาง "นีโอไลฟ์" ได้มีการขออนุมัติเลขหมายสัญลักษณ์รหัสสากล และตอบรับการเป็นสมาชิก ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.54 หรือ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็เคร่งครัดปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกลุ่มสินค้าหลักของบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเสริมอาหาร "นีโอไลฟ์" มีรหัสบาร์โค้ดนี้ ในทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งในช่วงต่อไปในกลุ่มของสินค้าใหม่ บริษัทก็จะเดินหน้าทำรหัสสากล เพื่อเป็นการให้ ความมั่นใจในมาตรฐานของบริษัทต่อไป" ภัทรพล กล่าว
"ภัทรพล" กล่าวต่อว่า ในปัจจุบัน "นีโอไลฟ์" ได้มีการเปิดศูนย์ "นีโอไลฟ์ ออนไลน์ เซ็นเตอร์" ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้เป็นเจ้าของเซ็นเตอร์ ซึ่งจะกระจายอยู่ทุกอำเภออำเภอละ 1 เซ็นเตอร์ ซึ่งรหัสบาร์โค้ดสากลนี้ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการใช้จ่ายสินค้าของสมาชิก ซึ่งจะทำให้สมาชิกที่ซื้อสินค้ายิงรหัสบาร์โค้ด ก็จะได้รับคะแนนในทันที ซึ่งเรื่องออนไลน์ นับเป็นจุดแข็งของบริษัท
ทั้งนี้ สถาบันรหัสสากล หรือ GS1 เป็นองค์กรที่ไม่ได้หวังผลกำไร และเป็นผู้นำมาตรฐานสากลอันดับ 1 ของโลกที่เกิดจากพลังแห่งความร่วมมือระหว่างบาร์โค้ดระบบ EAN ของยุโรป กับ UCC ระบบของทวีปอเมริกา ทำให้ GS1 เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้อย่างแพร่หลายจากกว่า 1 ล้านบริษัท ใน 150 ประเทศทั่วโลก
สำหรับ GS1 ประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่ง GS1 จะช่วยสร้างความมั่นใจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรให้เป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังลดความซับซ้อนในเรื่องต่างๆ
โดยบาร์โค้ดรหัสสากลของ GS1 จะมี 13 ตัวเลข ซึ่ง 3 ตัวเลขแรก จะระบุ รหัสที่มาของสินค้าของแต่ละประเทศ 5 เลขตัวต่อมาเป็นรหัสสมาชิก หรือรหัสบริษัท 4 ตัวเลขต่อมาเป็นรหัสสินค้า และ ตัวเลขตัวสุดท้ายเป็นรหัสในการตรวจสอบ สินค้านั้นๆ