"ไมโครซอฟท์" ฮุบกิจการ "มือถือโนเกีย" ติดเขี้ยวเล็บเดินหน้าลุยแอปเปิล-กูเกิล

"ไมโครซอฟท์" ฮุบกิจการ "มือถือโนเกีย" ติดเขี้ยวเล็บเดินหน้าลุยแอปเปิล-กูเกิล

"ไมโครซอฟท์" ฮุบกิจการ "มือถือโนเกีย" ติดเขี้ยวเล็บเดินหน้าลุยแอปเปิล-กูเกิล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในที่สุดชะตากรรมของกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย แห่งฟินแลนด์ที่ถูกปกคลุมด้วยความมืดยาว นานกว่า 2 ปีต่อเนื่องกัน

ก็พบกับแสงสว่างไสวเมื่อค่ายไมโครซอฟท์มองเห็นคุณค่าและตัดสินใจทุ่มเงินจำนวนมหาศาลถึง 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 230,000 ล้านบาท เหมาซื้อกิจการไปดูแล

ยุทธการยึดกิจการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่โนเกียของค่ายไมโครซอฟท์ ด้วยเงิน 230,000 ล้านบาทนี้ถือเป็นข้อตกลงซื้อขายกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกนับจากการเข้าซื้อกิจการกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่โมโตโรล่า ของค่ายกูเกิลเมื่อปีที่แล้ว

ขณะเดียวกันข้อตกลงซื้อขายกิจการระดับ "เมกะดีล" นี้ ยังถือเป็นปฏิบัติการทิ้งทวนสั่งลาตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมโครซอฟท์ ของนายสตีฟ บอลเมอร์ ซึ่งออกมาประกาศลาออกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยระบุเป็นสัจจะวาจาว่า "จะพ้นจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมโครซอฟท์ภายในไม่เกิน 12 เดือน"

เหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไมโครซอฟท์ มองเห็นคุณค่าและโอกาสที่ซ่อนอยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่โนเกียทั้งๆ ที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กระทั่งยอมตัดสินใจทุ่มเงินก้อนใหญ่เข้าซื้อกิจการมีเพียงประการเดียวคือ โนเกีย สามารถใช้เป็น "ทางลัด"

ที่จะพาไมโครซอฟท์ก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เต็มรูปแบบได้อย่างรวดเร็ว เพื่อแข่งขันกับค่ายแอปเปิล และค่ายกูเกิล โดยไม่เกี่ยงว่าในตลาดสมาร์ทโฟน ค่ายแอปเปิล และค่ายกูเกิล มีส่วนแบ่งตลาดทิ้งห่างโนเกียแบบไม่เห็นฝุ่นก็ตาม

บุคคลสำคัญที่ถือเป็น "โซ่ข้อกลาง" ทำให้เกิดเมกะดีล ระหว่างค่ายไมโครซอฟท์และค่ายโนเกีย คือ "สตีเฟ่น อีลอป" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโนเกีย วัย 49 ปี ซึ่งเคยบริหารธุรกิจไมโครซอฟท์ออฟฟิศในค่ายไมโครซอฟท์ ร่วมกับสตีฟ บอลเมอร์ ก่อนที่จะลาออกไปดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโนเกียเมื่อปี 2553

อีลอป เริ่มปูทางกระชับสัมพันธ์ระหว่างโนเกียกับไมโครซอฟท์แบบค่อยเป็นค่อยไปเมื่อปี 2554 ด้วยการชะลอการพัฒนาระบบปฏิบัติการซิมเบี้ยนของโนเกียลง แล้วหันไปดึงเอาระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์มาใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนแบบสมาร์ทโฟน ของตระกูลโนเกีย ซึ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยความราบรื่น

เขายกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้สูงขึ้นไปอีก ด้วยการประสานนัดหมายให้สตีฟ บอลเมอร์ ได้พบปะสนทนากับริสโต้ ซิลลาสมา ประธานกรรมการของค่ายโนเกีย ในระหว่างงาน Mobile World Congress ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

ณ ตรงนั้นคือจุดเริ่มต้นการซื้อขายกิจการระหว่างกัน โดยฝ่ายโนเกีย มอบหมายให้เจพีมอร์แกนเชสแอนด์โก ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงิน และฝ่ายไมโครซอฟท์ มอบหมายให้โกลด์แมนแซคส์กรุ๊ปอิงค์ ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกัน

กระทั่งเป็นที่มาของราคาซื้อขายที่ 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 230,000 ล้านบาท โดยฝ่ายไมโครซอฟท์ต้องชำระราคาเป็นเงินสด

สาระสำคัญในข้อตกลงนี้ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และสิทธิบัตรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่โนเกียเท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังการดำเนินงานทุกอย่างภายใต้ความตกลงนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าไม่น่า จะเกินเดือนมีนาคม 2557 คือกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมพนักงาน 32,000 คนที่เคยอยู่กับโนเกีย จะโอนย้ายมาอยู่ในสังกัดไมโครซอฟท์ โดยที่ค่ายโนเกีย จะเหลือเพียง ธุรกิจผลิต จำหน่าย

และบริการติดตั้งเครือข่ายอุปกรณ์ไร้สาย ภายใต้ชื่อ "โนเกียโซลูชั่นแอนด์เน็ทเวิร์คส์" ซึ่งมีคู่แข่งสำคัญคืออีริคสัน อัลคาเทล-ลูเซนต์ หัวเหว่ย และซีทีอี

สตีฟ บอลเมอร์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอ ของค่ายไมโครซอฟท์ที่เหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 12 เดือนนับจากนี้ บอกว่าหลังการเข้าครอบครองธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่โนเกียแล้ว จะกำหนดจุดยืนให้ "ลูเมีย" เป็นตราผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับสมาร์ทโฟน

ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง ขณะที่ "โนเกีย" จะใช้สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ราคาประหยัด ที่จับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีกำลังซื้อต่ำ

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ลืมที่จะยืนยันจะให้การดูแลและสนับสนุนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ แก่แนวร่วมสำคัญอย่างค่ายซัมซุง และค่ายเอชทีซี แม้ในทางธุรกิจจะต้องแข่งขันกันก็ตามที

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือจากนี้ และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่วงการธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลกเฝ้าจับตาดู คือใครจะเป็นผู้ถูกเลือกให้สืบทอดตำแหน่งซีอีโอต่อจากสตีฟ บอลเมอร์

ตอนนี้ชื่อที่เด่นและมีโอกาสดีที่สุดคือ "สตีเฟ่น อีลอป" ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการซื้อขายกิจการระหว่างไมโครซอฟท์และโนเกีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook