บุกสำรวจ "เกาะกง" กัมพูชา คู่ค้าเศรษฐกิจชายแดนไทยหมื่นล้าน !
จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ห่างจากตัวเมืองจังหวัดตราดประมาณ 90 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณตำบลบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด 4-5 กิโลเมตร
ก่อนหน้านี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักเกาะกงในมุมมองของนักเสี่ยงโชค เพราะมีบ่อนกาสิโนให้บริการอยู่ในเกาะกงรีสอร์ต แต่ข้อเท็จจริงวันนี้คือ เกาะกงมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านเศรษฐกิจจากกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใน "เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง" (KOH KONG SPECIAL ECONOMIC ZONE) จากการพัฒนาพื้นที่ของบริษัท ลี.ยง.พัด.กรุ๊ป จำกัด (L.Y.P. GROUP CO.,LTD) ของ "นายพัด สุภาภา" หรือ "ลี ยง พัด" นักธุรกิจชื่อดังชาวกัมพูชา
"ประชาชาติธุรกิจ" ลงพื้นที่สำรวจล่าสุดพบว่า ปัจจุบันในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงมีบริษัทเข้ามาลงทุนทำสัญญาเช่าพื้นที่แล้ว 5 บริษัท พื้นที่ 200 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 2,100 ไร่ ประกอบด้วย 1.บริษัท แคมโก มอเตอร์ จำกัด (CAMKO MOTOR COMPANY LTD.)
จากเกาหลีใต้ ประกอบรถยนต์ฮุนไดสำหรับขายตลาดในประเทศ 2.บริษัท ยาซากิ จำกัด (YAZAKI (Cambodia) Products Co.,Ltd. จากญี่ปุ่น ผลิตสายไฟรถยนต์ส่งออก
3.บริษัท เคเคเอ็น แอปพาเรล จำกัด (KKN Apparel Co.,Ltd) โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกจากประเทศไทย 4.บริษัท ฮาน่า (HANA MICROELECTRONICS) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่น และ 5.บริษัท มิกาซ่า สปอร์ต (MIKASA Sport) จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์กีฬาชั้นนำเพื่อส่งออก
ทั้งนี้ บริษัทที่เดินเครื่องผลิตและสามารถส่งออกสินค้าแล้ว ได้แก่ "ยาซากิ" ส่งกลับเข้ามาฝั่งไทยเพื่อส่งออกทางท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้ง "เคเคเอ็น" ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์อาดิดาส ไนกี้ ส่งออกไปยุโรปผ่านเส้นทางพนมเปญ
ขณะที่โรงงาน "มิกาซ่า" อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ ส่วน "ฮาน่า" เบื้องต้นจะใช้เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท บนเนื้อที่ 116,000 ตารางเมตร เพื่อก่อสร้างโรงงานและบ้านพักผู้บริหาร-พนักงาน โดยจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนตุลาคม 2556 นี้ จะแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายนปี 2557
นอกจากนี้ ด้านหน้าประตูทางเข้าเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงยังมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์เกือบ 100 ยูนิต ให้เช่าในอัตราเดือนละ 3,000-5,000 บาท พร้อมกับการสร้างบ้านพักจำนวนมาก เพื่อรองรับแรงงานจำนวนมากในอนาคต พร้อมกันนั้น
รัฐบาลกัมพูชายังได้ให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์และศุลกากรตั้งสำนักงาน "KOH KONG SPECIAL ECONOMIC ZONE OFFICE" เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องเอกสารอินวอยซ์ และใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) หรือใบ CO เพื่อส่งออกจากพื้นที่พิเศษเกาะกงแห่งนี้
เจ้าหน้าที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุดแข็งของการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงมี 3-4 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย การยกเว้นภาษี GSP ประเภทสิ่งทอ และสินค้าเกษตรบางรายจากจีน 100% และมีค่าแรงที่ถูกเดือนละ 120-130 ดอลลาร์สหรัฐ
"บุน ตุน" ประธานหอการค้าจังหวัดเกาะกง วิเคราะห์ว่า หากมีการเปิดเส้นทางชายฝั่งทะเลไทย-กัมพูชา-เวียดนาม หรือ "ถนน R10" รวมทั้งเปิดเออีซีอย่างเป็นทางการ เศรษฐกิจเกาะกงจะคึกคักกว่าเก่า แต่ทว่าในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจค่อนข้างชะลอตัวหยุดชะงักชั่วคราว เพื่อรอดูท่าทีจากปัญหาการเมืองภายในประเทศที่กำลังคุกรุ่น
อย่างไรก็ตาม เอกชนในกัมพูชาเชื่อมั่นว่า สุดท้ายแล้วการเมืองในกัมพูชาจะไม่มีความรุนแรงเฉกเช่นอดีต และธุรกิจการค้าการลงทุนจะเดินหน้าได้ต่อไป
ด้านตัวแทนภาครัฐจังหวัดตราดมองว่า ช่วงนี้เกาะกงไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องการเมืองในประเทศมากเท่าใดนัก การค้าขายยังเดินไปได้ด้วยดี เพียงแต่นักธุรกิจส่วนใหญ่ค่อนข้างเก็บตัวเพื่อรอดูท่าทีชัดเจนจากภาคการเมือง
และในที่สุดจะมีการลดทอนความตึงเครียดลงมาเพื่อให้ประเทศเดินไปได้ เพราะพวกเขาผ่านเหตุการณ์สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มามากแล้ว ไม่อยากกลับไปเห็นเขมรฆ่าเขมรอีก
เขาบอกด้วยว่า ทุกวันนี้การพัฒนาหลายด้านเริ่มเดินทางมาสู่กัมพูชาอย่างเต็มตัว จีนก็เข้ามาช่วยเต็มที่ ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาะกงทั้งภาครัฐและเอกชนแนบแน่นดีมาก ฉะนั้น หากไทยสงบ กัมพูชาสงบ หรือพม่าเข้าสู่ระบบ เส้นทางสายอาเซียนจะกลายเป็นสวรรค์ และตราดจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
"สุมิตร เขียวขจี" ประธานหอการค้าจังหวัดตราดชี้ว่า เวลานี้เศรษฐกิจอาเซียนเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน อะไรที่เป็นเมดอินไทยแลนด์ขายได้ที่เกาะกงตลอด 24 ชั่วโมง ไม่นับรวมการศึกษา วัฒนธรรม ที่พึ่งพากันได้อย่างสนิทใจ ขณะที่ภาวะการค้าบริเวณแนวชายแดนบ้านหาดเล็ก กับจังหวัดเกาะกง ปัจจุบันมีมูลค่าเกิน 3 หมื่นล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว
นี่คือความเปลี่ยนแปลงล่าสุดของ "เกาะกง" เพื่อนบ้านและคู่ค้าเศรษฐกิจชายแดนที่สำคัญของจังหวัดตราด