แบงก์เฮโกยสินเชื่อบ้านทะลุเป้า โค้งท้ายแข่งดุงัด"ดบ.0%2ปี" โฟกัสลูกค้ารายได้สูง

แบงก์เฮโกยสินเชื่อบ้านทะลุเป้า โค้งท้ายแข่งดุงัด"ดบ.0%2ปี" โฟกัสลูกค้ารายได้สูง

แบงก์เฮโกยสินเชื่อบ้านทะลุเป้า โค้งท้ายแข่งดุงัด"ดบ.0%2ปี" โฟกัสลูกค้ารายได้สูง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์เปิดแชมเปญฉลอง แค่ 9 เดือน สินเชื่อบ้านทะลุเป้าทั้งปีแล้ว จับตาโค้งท้ายยังรุกหนัก ชี้ดีเวลอปเปอร์งัดไม้เด็ดลุยเดือด บางแบงก์อัดหนักดอกเบี้ย 0% นานสุด 2 ปี ย้ำรุกแต่ระวังคุณภาพหนี้ คัดกลุ่มรายได้สูง 4-5 หมื่น/เดือน จุดพลุนาทีทองลูกค้ารวย ด้าน ส.สินเชื่อที่อยู่อาศัยห่วงหนี้เสียเร่งตัว ชง ธปท.ลดเพดานปล่อยกู้เหลือแค่ 80%

นางพิกุล ศรีมหันต์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ช่วง 9 เดือนแรก ธนาคารปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหม่ได้แล้วราว 1 แสนล้านบาท เติบโต 15% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เข้าตามเป้าหมายสินเชื่อใหม่ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นปี 1 แสนล้านบาท แต่ระหว่างปีได้ปรับเพิ่มเป้าหมายเป็น 1.2 แสนล้านบาท

ขณะที่สินเชื่อคงค้างสุทธิช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นมาแล้ว 4 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายปีนี้ตั้งไว้ 4.5-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ภายสิ้นปีนี้แน่นอน

"ช่วงปลายปีเราคงใช้แคมเปญ "กู้บ้าน-บินฟรี" ต่อเนื่องจากที่ใช้เมื่อช่วงต้นปีเนื่องจากได้การตอบรับที่ดีมาก โดยลูกค้าสินเชื่อที่ทำประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินกู้ด้วย จะได้ทั้งอัตราดอกเบี้ยพิเศษและบริการรับ-ส่งเอกสารถึงบ้าน รวมถึงได้บัตรกำนัลทัวร์เอื้องหลวง 1-4 หมื่นบาท ตามระดับวงเงินสินเชื่อ คาดว่าสิ้นปีเราจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ถึง 1.3 แสนล้านบาท" นางพิกุลกล่าว

นายวิชิต พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สินเชื่อบ้านในช่วง 9 เดือนแรก ขยายตัวได้เกินเป้าหมายทั้งปีถึง 30% โดยทั้งปีตั้งเป้าหมายไว้ที่ 28,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ทำได้ราว 36,400 ล้านบาท หรือเติบโต 11% จากช่วงสิ้นปีที่แล้ว สะท้อนความสำเร็จของกลยุทธ์รุกจับมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) ในกลุ่ม 10 รายชั้นนำของประเทศ และเน้นเจาะตลาดลูกค้ารายได้สูง 4-5 หมื่นบาท/เดือน ซึ่งเป็นพอร์ตหลักถึง 65% คุณภาพลูกหนี้ จึงอยู่ในระดับที่ดี

ส่วนช่วงท้ายปี นายวิชิตมองว่า ธนาคารยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เดิมที่ร่วมกับดีเวลอปเปอร์รายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงที่ดีเวลอปเปอร์ต้องเร่งมือเพื่อเตรียมปิดงบฯประจำปีเช่นกัน และน่าจะมีโปรโมชั่นร่วมกับธนาคารต่าง ๆ ออกมา ถือเป็นนาทีทองของคนซื้อบ้าน เพราะตอนนี้เริ่มเห็นมีโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ย 0% นานตั้งแต่ 3 เดือนจนถึงสูงสุด 2 ปี

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เป้าหมายสินเชื่อบ้านที่ปีนี้ธนาคารคาดว่าจะเติบโต 8% หรือมีมูลค่าสินเชื่อคงค้าง 2.3 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ทำได้เกิน

เป้าหมายแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าที่เคยจ่ายเกินค่างวดเยอะเริ่มหันมาจ่ายปกติหรือจ่ายเกินวงเงินเล็กน้อย สอดคล้องกับภาพรวมของตลาดช่วง 9 เดือนแรกที่สินเชื่อคงค้างขยายตัวได้ราว 7-9% แล้ว ทำให้มูลค่าสินเชื่อบ้านทั้งระบบขยับมาอยู่ที่ 2.35-2.4 ล้านล้านบาทแล้ว จากปลายปีที่แล้วอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท

"เป้าหมายช่วงปลายปีนี้ เรายังคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่อีก 1.4 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นน่าจะต้องมีพอร์ตบางส่วนราว 5 พันล้านบาท ที่จะขายไปให้กับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เพื่อทำให้ธนาคารขยายสินเชื่อใหม่ได้เพิ่มขึ้นดังกล่าว" นายชาติชายกล่าว

ส่วนนางสาวดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านผลิตภัณฑ์เพื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ขณะนื้ธนาคารขยายสินเชื่อได้ตามเป้าหมายทั้งปีแล้ว เนื่องจากความต้องการซื้อในช่วงที่ผ่านมาเติบโตค่อนข้างมาก สวนทางกับการบริโภคในประเทศที่ชะลอลง บวกกับดีเวลอปเปอร์ก็พัฒนาโครงการออกมาทำโปรโมชั่นร่วมกับธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีเช่นกัน

แม้จะขยายสินเชื่อได้เข้าเป้าหมายแล้ว แต่ช่วงท้ายปีธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ก็จะยังเดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อบ้านต่อเนื่อง โดยอาศัยกลยุทธ์จับมือกับดีเวลอปเปอร์เพื่อปล่อยกู้ทั้งพรีไฟแนนซ์และโพสต์ไฟแนนซ์ แต่คงพิจารณาคัดเลือกเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยที่อาจจะต้องเลือกกลุ่มที่มีรายได้สูงเป็นหลักเพื่อคุมคุณภาพสินเชื่อ ท่ามกลางการแข่งขันที่ยังรุนแรงอยู่ เห็นจากบางแคมเปญในปัจจุบันให้ดอกเบี้ย 0% นาน 1-2 ปี และช่วงปลายปีก็เป็นจังหวะที่ดีเวลอปเปอร์ต้องเร่งปิดงบฯ จะเริ่มเห็นโปรโมชั่นส่งท้ายอีกเช่นกัน

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ในจังหวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรฐานสินเชื่อบ้านให้เทียบเท่าระดับสากล โดยเสนอให้ลดสัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value-LTV) ลงมาอยู่ที่ 80% เท่ากันทุกกลุ่ม หรือเท่ากับดาวน์อย่างน้อย 20% จากปัจจุบัน LTV อยู่ที่ 90% สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวราบ และ 95% สำหรับที่อยู่อาศัยแนวดิ่ง (คอนโดมิเนียม)

"ตอนเศรษฐกิจดี ปล่อยสินเชื่อในวงเงินสูงก็ไม่มีปัญหา แต่ตอนที่เศรษฐกิจแย่หรือชะลอตัว ปล่อยสินเชื่อในวงเงินสูงเกินไปจะทำให้เอ็นพีแอลเร่งตัวได้ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณการเร่งตัวขึ้นบ้างแล้ว แม้จะไม่ได้เป็นปัญหาที่น่าเป็นกังวล แต่ส่วนตัวแล้วไม่อยากให้แบงก์เข้มงวดเป็นช่วง ๆ เท่านั้น ส่วนยอดสินเชื่อบ้านที่เติบโตค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมาเป็นอานิสงส์จากต้นปีและปีก่อนหน้าที่ขยายตัวดี" นายกิตติกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook