กยศ.เร่งรัดหนี้่ ห่วงกระทบปล่อยกู้ นศ.ใหม่ปี 2557
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่ามีลูกหนี้ติดค้างชำระถึง 1 ใน 4 ของผู้กู้ทั้งหมด โดยตั้งแต่ปี 2539 มีผู้กู้ยืมแล้วกว่า 4.3 ล้านราย คิดเป็นเงินราว 400,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันมีผู้ค้างชำระ 1.2 ล้านราย คิดเป็นเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท จากผู้ที่ครบกำหนดชำระ 2.7 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 70,000 ล้านบาท
กระบวนการติดตามหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ผู้จัดการ กยศ. ยอมรับว่า ดำเนินการไม่เข้มข้น จึงเกิดปัญหาขึ้นอย่างที่สะท้อนจากตัวเลขค้างชำระ แต่วันนี้กองทุนได้ปรับโครงสร้าง และมีการรณรงค์ชำระหนี้ "พี่ช่วยน้อง" โดยให้สิทธิพิเศษเป็นครั้งแรกสำหรับผู้กู้ กยศ.ที่ครบกำหนดชำระหนี้ และไม่เคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถูกดำเนินคดี
เหตุผลสำคัญที่ต้องเร่งรัดให้ผู้กู้รายเก่าชำระหนี้ เพราะว่าในปีงบประมาณ 2557 กยศ. ถูกตัดงบประมาณไป 6,700 ล้านบาท จากที่ขอไป 35,000 ล้านบาท จึงทำให้มีเงินไม่เพียงพอ และถ้าหากไม่ได้เงินคืนจากรุ่นพี่ที่กู้ยืมไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีงานทำ ก็อาจจะกระทบกับเด็กรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเรียนและรุ่นปัจจุบันที่กำลังเรียนอยู่บางส่วน เป็นจำนวน 370,000 คน, กยศ. จึงได้มีโครงการรณรงค์ชำระหนี้กองทุนที่ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้กู้ โดยจะแบ่งเป็น ลูกหนี้ไม่ค้างชำระ กับ ลูกหนี้ค้างชำระ เช่น กรณีลูกหนี้ไม่ค้างชำระ หากปิดบัญชี จะได้รับการลดหย่อนหนี้ร้อยละ 3.5 ของเงินต้นที่มาปิดบัญชี และจะได้คืนส่วนลดเงินต้นภายใน 30 วัน
โครงการนี้จะมีระยะเวลา 5 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนถึง 31 มีนาคม 2557 ซึ่ง กยศ. ก็คาดหวังว่าจะมีลูกหนี้ที่ค้างชำระครึ่งหนึ่ง มาชำระหนี้ คิดเป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จะนำเงินดังกล่าวมาปล่อยกู้ทดแทนเงินถูกตัดลดงบประมาณ
หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ก็จะประสานงานกับองค์กรนายจ้าง ให้ร่วมตรวจสอบทั้งก่อนเข้าทำงาน และทั้งที่ทำงานอยู่ และในอีก 5 ปีข้างหน้า กองทุนจะส่งข้อมูลลูกหนี้เข้าเครดิตบูโร ซึ่งจะมีผลต่อการทำธุรกรรมการเงินในอนาคต ที่ผ่านมา ยอดการฟ้องร้องมีประมาณ 600,000 ราย และอยู่ระหว่างการบังคับคดี หรือ ฟ้องร้องแล้วแต่ยังไม่จ่าย ประมาณ 4,000 ราย
สำหรับภาพรวมการจ้างงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า เดือนสิงหาคมมีคนว่างงานเพิ่ม 93,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มจาก 224,000 คน เป็น 317,000 คน ขณะที่ภาคธุรกิจ บอกว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้ ทำให้มีนักศึกษาจบใหม่ที่ตกงานรวมกัน 120,000 คน
ในจำนวนผู้ว่างงาน 300,000 คน ตามที่สำนักงานสถิติได้รายงานไป เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 114,0000 และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 173,000 คน โดยมาจากภาคบริการและการค้า 104,000 คน ภาคการผลิต 53,000 คน และภาคเกษตรกรรม 16,000 คน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่า ในปีนี้นักศึกษาจบใหม่แต่ตกงานรวมกัน 120,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ เป็นสัญญานที่ชี้ให้เห็นว่า การจ้างงานเริ่มอยู่ในภาวะวิกฤต และจากการสอบถามสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็พบว่า ในรอบ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ไม่มีการรับพนักงานใหม่ หากลาออกก็จะนำแรงงานจากส่วนอื่นมาทดแทน รวมทั้งไม่มีการทำงานล่วงเวลา หรือ โอที
นายธนิต ยังบอกว่า หากยังเกิดความวุ่นวายทางการเมือง เศรษฐกิจก็จะทรุดตัวลงอีก และทำให้การจ้างานใหม่ลดลงต่อเนื่อง สำหรับเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจต่อการต่อต้าน "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ในวันนี้เวลา 12.34 น.ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย จะรณรงค์ต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ที่ถนนสีลม และในเวลา 14.00 น.หอการค้าไทย จะแถลงจุดยืนเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้