มช.เดินหน้าศึกษาก๊าซCBGทดแทนLPG
นายประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศมีศักยภาพด้านการผลิตก๊าซชีวภาพ ทั้งภาคปศุสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน มากกว่า 1,170 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถผลิตเป็นก๊าซชีวภาพอัด (CBG) ได้ถึง 600 ล้านกิโลกรัม ซึ่งมีราคาต้นทุนอยู่ที่ 12 บาทต่อกิโลกรัม และสามารถนำไปทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ถึง 600 ล้านกิโลกรัมต่อปี คิดเป็นมูลค่าถึง 10,878 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม ทาง มช. จึงจัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน เพื่อทดแทนก๊าซปิโตรเลียมเหลวในเชิงพาณิชย์ เพื่อศึกษาระบบผลิตก๊าซชีวภาพอัดสำหรับทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 33,542,300 ล้านบาท เพื่อสร้างต้นแบบ ศูนย์สาธิตระบบผลิตและบรรจุก๊าซชีวภาพอัดสำหรับนำไปใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งผลทดสอบเบื้องต้น พบว่า ก๊าซ CBG มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับก๊าซ LPG สามารถใช้ทดแทนกันได้ โดยทาง มช. ได้ทำการออกแบบถังบรรจุก๊าซชีวภาพอัด ให้เหมาะสมกับการใช้งานและมีความปลอดภัย โดยจะดำเนินการทดสอบใช้งานจริงไปจนถึงวันที่ 30 มี.ค. 57 ในครัวเรือนและชุมชนต้นแบบ จำนวนไม่น้อยกว่า 100 ครัวเรือน เพื่อประเมินผลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป และนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป