"เมเจอร์"เฟ้นทำเลทองรุกรอบใหม่ ปั้นสาขาเชียงใหม่-หาดใหญ่เทียบชั้นพารากอน
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เปิดกลยุทธ์ปักธงขยายธุรกิจ ควบหัวเมืองหลัก-หัวเมืองรอง หลังอานิสงส์หนังไทยรุ่ง ดันกำลังซื้อ-ผู้ชมหนังต่างจังหวัดโตกระฉูด เตรียมเปิด 2 ทำเล "เชียงใหม่-หาดใหญ่" วางเป้าแฟลกชิปเทียบชั้นพารากอน รอจังหวะเร่งเครื่องโมเดลสแตนด์อะโลนปิดจุดบอดทำเลที่ศูนย์การค้าไม่ไป
"เมเจอร์" ยักษ์ใหญ่หมายเลข 1 ธุรกิจโรงหนังของไทยยังคงเดินหน้าหาทำเลทองทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อเปิดสาขาใหม่ ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทุ่มทุนครั้งใหญ่ช่วงปลายปีนี้ เปิดสาขาในศูนย์การค้าของเซ็นทรัลในเชียงใหม่ และหาดใหญ่ สงขลา ด้วยจำนวนโรง โรง 4D และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เทียบเท่ากับสยามพารากอน ถือเป็นการรุกครั้งสำคัญของยักษ์ใหญ่รายนี้ทีเดียว
เฟ้นโลเกชั่นใหม่
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากจำนวนคนดูหนังทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมองหาทำเลที่มีศักยภาพเพื่อลงทุนและมองว่าในอนาคตจำนวนโรงหนังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 โรงได้
ขณะที่การลงทุนประกอบด้วย การเปิดโรงหนังในศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ (เอ็มโพเรียม 2) โรงหนังในโครงการเมการังสิต และเมกาบางใหญ่ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต
"ความนิยมของหนังไทย ทำให้ตลาดต่างจังหวัดเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีส่วนสำคัญทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก"
นอกจากการขยายในต่างจังหวัดแล้ว อีกวิสัยทัศน์ของเมเจอร์ฯคือ การเข้าไปซื้อกิจการโรงหนังในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เป็นต้น ที่จะเริ่มต้นในปีหน้า และยังมีอีกหลายประเทศที่อยู่ในระหว่างศึกษา
ยืดหยุ่น 4 โมเดล
ปัจจุบันมีโมเดลการขยายสาขา 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.สแตนด์อะโลน เป็นรูปแบบที่บริษัทมองหาพื้นที่อยู่ตลอดเวลา เพราะโมเดลดังกล่าวประสบความสำเร็จในทุกพื้นที่ที่เปิด ทั้งนี้ถ้ามีโอกาสหรือจังหวัดไหนที่ไม่มีศูนย์การค้าไปเปิด บริษัทก็พร้อมที่จะเปิด
"อยากขยายสแตนด์อะโลนมากขึ้น เพียงแต่ยังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบ งานเยอะมาก ซึ่งได้ศึกษารายละเอียดสแตนด์อะโลนในต่างจังหวัดอาจจะเป็นอีกสไตล์หนึ่ง ซึ่งต้องให้ชัด อยากให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เมื่อคิดจะดูหนังต้องคิดถึงเมเจอร์"
ยกตัวอย่าง เช่น อุดรธานี ที่เมเจอร์ฯเปิดกับเซ็นทรัล ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งเซ็นทรัลก็ไม่มีแผนที่จะเปิดสาขาที่ 2 และเดอะมอลล์ กรุ๊ป ก็ไม่มีแผนที่จะเปิดสาขาในอุดรธานี ก็อาจจะเป็นอีกโอกาสที่บริษัทจะเปิดสแตนด์อะโลน ตามด้วย 2.การขยายไปกับศูนย์การค้า ต่อด้วย 3.ไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี และ 4.การเปิดในไลฟ์สไตล์มอลล์
นายวิชากล่าวว่า โมเดลการขยายโรงหนังทั่วโลกมี 1 โมเดล คือ การขยายไปกับศูนย์การค้า ซึ่งบริษัทแตกต่างจากโรงหนังทั่วไป เพราะมีการบาลานซ์พอร์ตการขยายสาขา ไม่เน้นเอ็กซ์คลูซีฟกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แต่เป็นพันธมิตรกับทุกกลุ่มทั้งแบรนด์ใหญ่ หรือห้างท้องถิ่น
"ด้วย 4 โมเดลนี้ ทำให้การขยายโรงหนังไม่ต้องจำกัดอยู่แค่การขยายสาขาไปพร้อมกับศูนย์การค้าเท่านั้น แต่สามารถขยายตามโมเดลต่าง ๆ บางจังหวัดที่ไม่มีศูนย์การค้า ก็อาจจะทำไลฟ์สไตล์มอลล์หรือสแตนด์อะโลนรูปแบบใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับจังหวะ แต่ปัจจุบันยังไม่มีจังหวะ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องทำ"
โมเดลเชียงใหม่-หาดใหญ่
ประธานกรรมการบริหาร เมเจอร์ กรุ๊ป กล่าวต่อว่า เตรียมจะเปิดสาขาในหัวเมืองใหญ่อีก 2 แห่ง คือ เชียงใหม่ และหาดใหญ่ มีสเกลที่ใหญ่ด้วยจำนวน 12 โรง โดยโรงหนังในเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ จะเสมือนสยามพารากอนของภาคเหนือ เพราะครบวงจรทั้งไอแมกซ์และระบบ 4 มิติ เมเจอร์ฯวางว่าการทำสเกลที่ใหญ่ของทั้งสองแห่งจะกลายเป็นแฟลกชิปของเมเจอร์ในแต่ละภาค ทั้งนี้การโฟกัสลงทุนขยายสาขาในต่างจังหวัด เรื่องกำลังซื้อไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะที่ผ่านมา เมเจอร์ฯได้เปิดสาขาที่เซ็นทรัล พลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต มีแค่ 7 โรงก็สร้างรายได้ติดอันดับ 3 รองจากพารากอนและรัชโยธิน ที่มีถึง 10 โรง
นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นการจองผ่านออนไลน์ ผู้บริโภคเชียงใหม่ก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี ถือว่าผู้บริโภคเชียงใหม่มีอาร์ตในหัวใจ แม้ว่าจำนวนโรงหนังจะเพิ่มขึ้นในเชียงใหม่ แต่ตลาดนี้ก็ยังเติบโตเพราะเป็นตลาดใหญ่
ต้อง "ทรานส์ฟอร์เมชั่น"
นอกจากนี้ นายวิชากล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ทำธุรกิจแล้วรู้สึกตื่นเต้น เพราะมีการทรานส์ฟอร์เมชั่นกลายเป็นบริบทใหม่ของการทำงาน ทุกอย่างเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยี ระบบการฉายหนังที่เปลี่ยนเป็นดิจิทัล การซื้อ-จองตั๋วต้องผ่านแอปพลิเคชั่น การทำตลาดออนไลน์ทุกอย่างทรานส์ฟอร์มหมดแล้ว ทำให้ผู้บริโภคมีความสุขมากขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น เครื่องอีทิกเก็ตหน้าโรงหนัง สาขาเมกาบางนา ที่เพิ่มจาก 3 เครื่องเป็น 12 เครื่อง เป็นอะไรที่คิดว่าทำให้อุตฯโรงหนังสนุกและมีสีสันมากขึ้น ระบบภาพที่คมชัดแบบความชัดสูง (HD) หลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนไปทำให้วิธีการทำงานสนุกขึ้น เรียกว่า "ทรานส์ฟอร์เมชั่น(Transformation)" ซึ่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของเรา
"ทรานส์ฟอร์เมชั่น ศัพท์นี้เหมาะกับเมเจอร์ฯมาก เพราะไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องทรานส์ฟอร์มผู้บริโภคจะเริ่มรู้สึกสนุกมากขึ้นกับการบริการ ซึ่งบริษัทต้องรับคนใหม่ ๆ ที่เก่งเรื่องเทคโนโลยี และการสื่อสารกับผู้บริโภคบนออนไลน์ด้วย"
ราคาตั๋วผันตามเงินเฟ้อ
นายวิชากล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบอัตราบัตรชมภาพยนตร์ของไทยกับเวียดนามจะพบว่า เวียดนามสูงถึง 6-8 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าครองชีพต่ำกว่าไทย ทั้งนี้เมื่อเทียบระบบการฉาย การบริการ ถือว่าไทยถูกกว่าหลาย ๆ ประเทศ ขณะเดียวกันบริษัทมีการรีโนเวตสาขาอย่างต่อเนื่อง และราคาค่าตั๋วถือว่าคุ้มค่า ซึ่งราคาค่าตั๋วจะขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อถือว่ายุติธรรมแล้ว เพราะแต่ละปีอัตราค่าเช่าพื้นที่
และค่าแรงจะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนของเจ้าของโรงเพิ่มขึ้นด้วย และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งก็ต้องปรับราคา เพื่อสร้างความอยู่รอดของธุรกิจเช่นเดียวกับกรณีหนังใหญ่ที่มีต้นทุนสูงกว่าหนังปกติ เป็นผลให้การแบ่งสัดส่วนระหว่างเจ้าของหนังกับเจ้าของโรงเปลี่ยนไป ทำให้ต้องปรับขึ้นราคาในส่วนของหนังใหญ่ ซึ่งเป็นแนวโน้มเช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ
อย่างเช่นในฮ่องกง มีการปรับราคาตั๋วตามหนัง ถ้าหนังใหญ่ก็ต้องปรับราคาขึ้น หนังกลางก็ไม่ได้ปรับ เพราะต้นทุนการสร้างไม่เท่ากัน แล้วบริษัทจะทำอย่างไร จะขึ้นทั้งระบบหรือจะขึ้นเฉพาะหนังใหญ่ กลายเป็นโจทย์ของเจ้าของโรง ซึ่งบริษัทก็มีทางเลือกให้กับลูกค้า โดยแบ่งเป็นช่วงเวลาและสร้างเซ็กเมนต์อย่างชัดเจน เช่น รอบเช้า ราคาบัตรอยู่ที่ 100 บาท และมูฟวี่เดย์ ในช่วงวันพุธทุกสาขา ผู้บริโภคสามารถเลือกรับชมได้ตามความต้องการ รวมถึงเตรียมจะลอนช์ช่วงราคาสำหรับผู้สูงอายุ