พลังงานสั่งรับมือไฟฟ้าหลังแหล่งก๊าซหยุดซ่อม

พลังงานสั่งรับมือไฟฟ้าหลังแหล่งก๊าซหยุดซ่อม

พลังงานสั่งรับมือไฟฟ้าหลังแหล่งก๊าซหยุดซ่อม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
พลังงาน ห่วงปิดซ่อมบำรุงท่อเจดีเอ สั่ง กรมธุรกิจพลังงาน เจรจาโรงกลั่นเตรียมน้ำมันเตา ดีเซล รับมือไฟฟ้าไม่เพียงพอ ประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดภาคใต้ 2,500 เมกะวัตต์

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปี 2556 ถึงช่วงกลางปี 2557 ไทยจะมีแหล่งก๊าซหยุดซ่อมบำรุงท่อ 3 ช่วง คือ แหล่งเยตากุน สหภาพเมียนมาร์ ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2556 - 8 ม.ค. 2557 แหล่งก๊าซบงกชในอ่าวไทย 10 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2557 และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (ท่อเจดีเอ) หยุดซ่อมในระหว่าง 13 มิ.ย. - 10 ก.ค. 2557 ซึ่ง 2 ช่วงแรกที่มีการหยุดซ่อมได้เตรียมแผนรับมือโดยไม่มีปัญหา แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือช่วงท่อเจดีเอ หยุดซ่อม เพราะจะทำให้โรงไฟฟ้าภาคใต้ ต้องหยุดเดินเครื่อง ทำให้ปริมาณไฟฟ้าหายไปถึง 720 เมกะวัตต์ และมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดไฟฟ้า เพราะขณะนี้กำลังการผลิตไม่เพียงพอ ต้องพึ่งไฟฟ้าจากภาคอื่นเข้ามาเสริมโดยตลอด รวมทั้งยังไม่สามารถพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าฉุกเฉินจากมาเลเซียได้ เพราะท่อก๊าซเจดีเอก็ใช้ร่วมกับโรงไฟฟ้าในมาเลเซีย ทำให้ทางมาเลเซีย ก็จะขาดแคลนไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ไปเจรจากับโรงกลั่นน้ำมัน 3 แห่ง ได้แก่ ไทยออยล์ เอสโซ่ และบางจาก ให้เลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น เพื่อให้มีปริมาณน้ำมันเตา และดีเซล เพียงพอรับมือจากการปิดซ่อมบำรุงท่อก๊าซเจดีเอ และไม่ให้กระทบกับแผนผลิตไฟฟ้าป้อนพื้นที่ภาคใต้

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือไฟฟ้าดับในภาคใต้ จากการหยุดซ่อมบำรุงท่อก๊าซ เบื้องต้น ประเมินทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจ้งว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้จะอยู่ที่ 2,500 เมกะวัตต์ เมื่อดึงไฟฟ้าจากภาคกลางมาแล้ว จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่รวม 2,300 เมกะวัตต์ ซึ่งยังขาดอีก 200 เมกะวัตต์ จึงให้ กฟผ. หาแนวทางอื่น เช่น ดึงไฟฟ้าฉุกเฉินจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กได้ประมาณ 80 เมกะวัตต์ และเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนใน สปป.ลาว คาดว่าจะได้เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 100 เมกะวัตต์ รวมทั้งให้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ประสานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมช่วงดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะประหยัดได้ไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ รวมถึงให้สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปจัดแคมเปญรณรงค์ประชาชนประหยัดไฟ ซึ่งที่ผ่านมา เคยดำเนินการได้ส่วนนี้อีกหลักร้อยเมกะวัตต์ ให้ กฟผ. ประสานเขื่อนให้พร้อมผลิตไฟฟ้า ทั้งหมดมั่นใจว่าจะรับมือไม่ให้เกิดวิกฤติไฟดับเช่นที่ผ่านมา แต่หากเกิดเหตุวิกฤติกำลังไฟฟ้าตกลงฉับพลัน ก็ได้ประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการเลือกพื้นที่ดับไฟฟ้าเป็นจุดที่ไม่กระทบประชาชนส่วนใหญ่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook