สภาพคล่องตึง-เช็คเด้งพุ่ง กระฉูด2แสนใบ"ค้าปลีก-อสังหา"จ๊าก!

สภาพคล่องตึง-เช็คเด้งพุ่ง กระฉูด2แสนใบ"ค้าปลีก-อสังหา"จ๊าก!

สภาพคล่องตึง-เช็คเด้งพุ่ง กระฉูด2แสนใบ"ค้าปลีก-อสังหา"จ๊าก!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เศรษฐกิจ ชะลอตัว-กำลังซื้อทรุดฉุดภาคธุรกิจ-เอสเอ็มอีเจอปัญหาเงินทุนหมุนเวียน สภาพคล่องตึงตัว แบงก์พาณิชย์เข้มสินเชื่อ ส่งผลสถิติเช็คเด้งไตรมาส 3 ทะลุ 2 แสนฉบับ 2.8 หมื่นล้าน หนุนยอดเอ็นพีแอลขยับทั้งกลุ่มอุปโภคบริโภค-ยานยนต์-อสังหาฯ แบงก์กรุงไทยเผยลูกค้าขอยืดหนี้เพิ่มขึ้น สมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกโอดยอดขายตก ร้านค้าเจอปัญหาหมุนเงินไม่ทัน

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินตามเช็คผ่านศูนย์หักบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตร มาส 3/56 พบว่ามีปริมาณเช็คคืนไม่มีเงิน (เช็คเด้ง) 205,703 ฉบับ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 14,102 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าเช็คเด้งถึง 27,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมูลค่า 1,780 ล้านบาท หรือ 6.82% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 5,390 ล้านบาท หรือ 23.96% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

นอกจากนี้ยังพบว่ายอดเช็คเด้งที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ปีนี้ยังเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ผ่านมา นับตั้งแต่ไตรมาส 2/55 ที่มียอดเช็คเด้งอยู่ที่ 1.78 แสนฉบับ ด้วยมูลค่า 29,060 ล้านบาท

ธปท.ชี้เอสเอ็มอีสภาพคล่องตึงตัว

แหล่ง ข่าวจาก ธปท.กล่าวถึงกรณีเช็คเด้งที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและเป็นยอดสูงสุดใน รอบเกือบ 2 ปีนั้นเชื่อว่าปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากปัญหาที่ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องลดลง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี กิจการร้านค้าและบริษัทต่าง ๆ ที่ใช้ธุรกรรมเช็คเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวอาจส่งผลให้สภาพคล่องของธุรกิจปรับลดลงจนเกิด ปัญหาเช็คเด้งเพิ่มขึ้นด้วย

"ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผล ให้เช็คเด้งในระบบเพิ่มมากขึ้น ยิ่งตอนนี้มีปัญหาการเมือง เศรษฐกิจก็ชะลอตัว สภาพคล่องของเอสเอ็มอี กิจการร้านค้าก็ต้องลดลงบ้าง แต่อีกส่วนก็น่าจะมาจากปริมาณเช็คโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เช็คเด้งปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม"

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคบางกลุ่มที่ขอยกเลิกการขึ้นเงินจากเช็ค ก่อนถึงมือผู้รับ เพื่อหันไปใช้ระบบหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค (ICAS) ซึ่งช่วยร่นเวลารับเงินจากเดิม 2 วันลงเหลือ 1 วัน

อย่างไรก็ตาม เช็คเด้งที่เพิ่มขึ้นนั้น ธปท.มองว่ายังไม่ใช่ภาวะวิกฤต เพราะหากดูจากสัดส่วนเช็คเด้งต่อเช็คเรียกเก็บรวมในไตรมาส 3/56 โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีปริมาณเรียกเก็บเช็คสูงสุด พบว่าสัดส่วนเช็คเด้งต่อสัดส่วนรวมยังต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.2% ซึ่งถือว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ข้อมูลในอดีตยอดเช็คเด้งที่เพิ่มขึ้นจนถึงระดับวิกฤตนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 และปี 2543 ที่เกิดวิกฤตการเงินในประเทศ ทำให้ยอดเช็คเด้งปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงเป็นสัดส่วนถึง 0.5% ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่น่าห่วงมากนัก แต่ ธปท.ก็ได้ติดตามตัวเลขเช็คเด้งทุกไตรมาสอย่างใกล้ชิด หากสัดส่วนเช็คเด้งต่อเช็คเรียกเก็บรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 0.4% ก็ถือว่าเข้าใกล้วิกฤต ดังนั้นตัวเลขในปัจจุบันที่ 0.2% ถือว่าทรงตัว

แบงก์คุมเข้ม"คุณภาพ"คู่ค้า

นาย ปพนธ์ มังคละธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอสเอ็มอีและซัพพลายเชน ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ปกติปัญหาเช็คเด้งที่เพิ่มปริมาณขึ้นจะเป็นตัวสะท้อนปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้น ที่อาจหมุนเงินไม่ทัน ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่าภาคธุรกิจเริ่มได้รับผลกระทบ จากเศรษฐกิจที่เริ่มฝืดมากขึ้น ฉะนั้นในเวลานี้ธุรกิจควรต้องระมัดระวังเรื่องคู่ค้าและซัพพลายเออร์ให้มากขึ้น

"สัญญาณ เช็คเด้งตอนนี้ยังถือว่าเป็นแค่เบื้องต้นให้ธุรกิจต้องระมัดระวังมากขึ้น เท่านั้น ดูให้ดีว่าจะขายให้ใคร สภาพธุรกิจของเขาเป็นอย่างไร ซึ่งปริมาณของเช็คเด้งก็ยังไม่มากนัก และยังคงไม่ถึงระดับวิกฤตที่จะบอกว่าธุรกิจไม่มีเงินหรือขาดความน่าเชื่อถือ ขนาดนั้น ตอนนี้ยังเป็นปัญหาในระดับรายธุรกิจ คงยังไม่ใช่ปัญหาทั้งระบบ" นายปพนธ์กล่าว

กรุงไทยชี้ลูกค้าขอยืดจ่ายหนี้

ด้านนายเวทย์ นุชเจริญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ยอมรับว่าในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ปริมาณเช็คเด้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า

เอสเอ็มอีซึ่งพบมากที่ สุด ส่วนหนึ่งมาจากการขาดสภาพคล่องของคู่ค้าทำให้ชำระค่าสินค้าล่าช้า รวมถึงธนาคารพาณิชย์ยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเช่นกัน

"ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี เป็นปกติที่เช็คเด้งจะเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มลูกค้ารายเล็ก ๆ และทำธุรกิจแบบเดี่ยว รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกได้รับผลกระทบจากกำลัง ซื้อต่างประเทศที่ชะลอตัว ที่ผ่านมาเราก็จะช่วยเหลือลูกค้าโดยดูเป็นรายกรณี ทั้งการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ หรือบางรายที่กระทบหนักก็เข้าไปเพิ่มวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนให้มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าอยู่รอดได้และผ่านพ้นสถานการณ์ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว"

นอก จากนี้ธนาคารได้พยายามเข้าไปจับลูกค้าแบบซัพพลายเชน ดีลทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่รายใหญ่ รายกลาง และเอสเอ็มอี ทำให้เห็นกระแสเงินที่จ่ายผ่านระหว่างกันได้ชัดขึ้น จ่ายตรงให้คู่ค้าระหว่างกัน ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาเช็คเด้งได้ค่อนข้างมาก

ขณะ ที่นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มองว่า เป็นเรื่องปกติเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก็ย่อมจะทำให้มีปริมาณเช็ค เด้งเพิ่มขึ้นตาม เมื่อดูกิจกรรมทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 พอสมควร และเศรษฐกิจโดยรวมที่เติบโต 3-4% ถือว่าไม่ได้ต่ำเกินไป ปัญหานี้จึงไม่อาจสรุปว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวได้ รวมถึงมูลค่าเช็คเด้งที่เกิดขึ้นก็ยังไม่ได้มากเมื่อเทียบกับสินเชื่อโดยรวม แต่ก็คงต้องติดตามดูผลว่าจะเป็นการเด้งชั่วคราวหรือต่อเนื่อง

NPL พุ่ง อุปโภค-อสังหาฯ ปะทุ

นอกจากปริมาณเช็คเด้งที่เพิ่มขึ้นสะท้อนปัญหาภาวะเศรษฐกิจแล้ว ล่าสุดรายงานของ ธปท.ยังพบว่า สิ้นไตรมาส 3/56 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ในระบบเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.22% คิดเป็นมูลค่าหนี้เสียคงค้าง 266,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,431 ล้านบาท จากไตรมาส 2/56 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.20% ด้วยยอดหนี้เสียคงค้าง 263,883 ล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นสูงสุดคือกลุ่มอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ อัตราขยับมาอยู่ที่ 2.17% มูลค่าหนี้เสียคงค้าง 68,392 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,237 ล้านบาท จากไตรมาส 2/56 อัตราหนี้เสีย 2.06% ด้วยมูลค่า 63,155 ล้านบาท

นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจที่เอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้นคือ ค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจยานยนต์และจักรยานยนต์ ที่มียอดหนี้เสียคงค้าง 39,117 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 910 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หนี้เสียคงค้าง 24,882 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 821 ล้านบาท

ค้าปลีก-ค้าส่งขายตก-เงินชอร์ต

ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ยอมรับกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เริ่มมีสัญญาณเช็คเด้งให้เห็นตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา และขณะนี้ตัวเลขเช็คเด้งก็มีมากขึ้น แต่เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่นั้นทำมาค้าขายกันมานาน เมื่อใครมีปัญหาก็ยืดหยุ่นให้ โดยอาจยืดเครดิตออกไป 7-15 วัน

"เมื่อยอด ขายปลายทางไม่ดีก็ทำให้ร้านค้าปลีกมีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน ปกติหลังออกพรรษาการจับจ่ายก็จะเริ่มมีมากขึ้นต่อเนื่องถึงลอยกระทง คริสต์มาส ปีใหม่ แต่ปีนี้ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้คนไม่มีอารมณ์จับจ่าย ร้านค้าปลีก ยี่ปั๊ว ซาปั๊วไม่สั่งสินค้า"

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากการสำรวจจากสมาชิกของสมาคม พบว่าตัวเลขยอดขายอยู่ในทิศทางที่ปรับลดลงติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ยอดขายสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันขยายตัวเพียง 3.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่โตถึง 9% โดยเฉพาะกำลังซื้อในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มเกษตรกรที่ระมัด ระวังรายจ่ายอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงก็ชะลอการจับจ่ายลง จากบรรยากาศการเมือง

ขณะที่ความต้องการสินเชื่อเพื่อการบริโภค ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และการแบ่งจ่ายเป็นรายงวดยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนที่ยังคงมีอยู่

จาก ยอดขายสินค้าทุกหมวดลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ของประชาชนไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับ รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ประชาชนต้องลดการบริโภค ซึ่งสัญญาณดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ตลาดค้าปลีกชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ เหลือเพียง 9% จากไตรมาสแรกที่โตถึง 12%

รับเหมา จ่ายเช็คเด้ง-ยืดเครดิต

แหล่ง ข่าวจากบริษัท แกรนด์โฮมมาร์ทจำกัด ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์จำหน่ายกระเบื้อง-สุขภัณฑ์แกรนด์โฮมมาร์ท เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มพบว่ามีลูกค้าที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางจ่ายเช็คเด้ง วงเงิน 1-2 ล้านบาท รวมทั้งมีคู่ค้า 2-3 รายที่เริ่มมีปัญหาขอยืดเครดิตเทอมจากปกติ 60 วัน ขอขยายเป็น 90-120 วัน ซึ่งถือว่ายังไม่มากเนื่องจากบริษัทระมัดระวังการทำธุรกิจมาตลอด สาเหตุมาจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นผู้ว่าจ้างผู้รับเหมาไม่ สามารถโอนบ้านได้ตามแผน จึงจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาล่าช้าและกระทบชิ่งมาเป็นทอด ๆ

ด้านนาย วิทวัส พรกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีคอนโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปและเสาเข็มคอนกรีต เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณว่าภาคธุรกิจเริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน โดยมีลูกค้าบางรายเริ่มขอยืดการจ่ายเงินออกไปอีก 5-10 วัน เช่น กำหนดจ่ายเงิน 15 วันหลังจากสั่งของ ขอยืดไปเป็น 20-25 วัน

นายวิรัตน์ จินดานุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนกรีตไลน์ จำกัด ผู้ผลิตเสาเข็มคอนกรีต เปิดเผยว่า บริษัทยังไม่เจอปัญหาเช็คเด้งแต่ทราบจากเพื่อนผู้ประกอบการในวงการว่า เจอปัญหาถูกดึงเงิน และเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย เข้าใจว่าเป็นผลมาจากงานก่อสร้างล่าช้าและปัญหาเศรษฐกิจทำให้ยอดโอน กรรมสิทธิ์ไม่เป็นไปตามเป้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook