โอกาสทางธุรกิจ SME กับ Digital TV

โอกาสทางธุรกิจ SME กับ Digital TV

โอกาสทางธุรกิจ SME กับ Digital TV
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวคราวที่น่าสนใจในวงการสื่อสารมวลชนรอบปีที่ผ่านมา คือ Digital TV ภายใต้การผลักดันของ กสทช. ซึ่งในแง่การสื่อสารและประชาสัมพันธ์แล้ว จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเจ้าของสินค้าและบริการต่างๆ ทั่วประเทศไทย

Digital TV หรือชื่อเต็มๆ ว่า Digital Terrestrial TV คือระบบการแพร่สัญญาณทีวีแบบใหม่ ที่ต่างไปจากระบบสัญญาณแอนะล็อกในปัจจุบัน (ของฟรีทีวีแบบเสาก้างปลา-หนวดกุ้งทั้ง 6 ช่อง) มาเป็นสัญญาณดิจิทัล

การเปลี่ยนจากสัญญาณแอนะล็อกมาเป็นดิจิทัล ช่วยให้คุณภาพของสัญญาณภาพชัดเจนขึ้น และการส่งสัญญาณแบบดิจิทัลใช้ช่วงความถี่น้อยกว่าระบบแอนะล็อกแบบเดิมมาก ส่งผลให้ฟรีทีวีในประเทศไทยมีจำนวนช่องได้เยอะกว่า 6 ช่องในระบบแอนะล็อกเดิมมาก (เบื้องต้น กสทช. จะออกใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 24 ช่อง และจะมีเพิ่มเติมอีกในอนาคต)
ในส่วนของภาครับสัญญาณ ผู้ชมสามารถใช้เสาแบบก้างปลา-หนวดกุ้งเดิมได้ แต่ต้องเพิ่มตัวถอดสัญญาณดิจิทัลก่อนเชื่อมสัญญาณเข้าทีวีอีกหนึ่งชั้น ซึ่งตัวถอดสัญญาณดิจิทัลน่าจะวางขายในราคา 500-1000 บาท (ขึ้นกับนโยบายสนับสนุนของ กสทช. ที่ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนนัก)

โดยสรุปแล้ว การเกิดขึ้นของ Digital TV จะช่วยให้ผู้ชมฟรีทีวีในประเทศไทยมีทางเลือกมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องติดเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม


ในต่างประเทศส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้ระบบทีวีแบบดิจิทัลกันหมดแล้ว แต่เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการตั้งหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ (กสช.) มานานนับสิบปี จนสุดท้ายสามารถตั้งได้สำเร็จในสมัยของ กสทช. จึงทำให้การแพร่ภาพในระบบดิจิทัลล่าช้ามานานมาก และเป็นเหตุผลให้ กสทช. ต้องเร่งออกใบอนุญาตเพื่อก้าวตามให้ทันประเทศอื่นๆ
โอกาสของภาคธุรกิจ SME กับ Digital TV


ในมุมมองของภาคธุรกิจ SME ถือว่า Digital TV เป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์หรือการตลาดช่องทางใหม่ที่น่าสนใจ เพราะจะเกิดสถานีช่องใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาก ทั้งบันเทิง ความรู้ และข่าวสาร โดยเข้าถึงผู้ชมระบบฟรีทีวีซึ่งเป็นผู้ชมส่วนใหญ่ของประเทศ แต่การเกิดขึ้นของช่องสถานีถึง 24 ช่อง ย่อมก่อให้เกิดการแข่งขันกันในตลาดอย่างหนัก และย่อมทำให้อัตราค่าโฆษณาทางฟรีทีวีที่เดิมทีสูงลิบลิ่ว เริ่มลดลงนั่นเอง

นอกจากนี้รูปแบบของช่องทีวีจะเริ่มเปลี่ยนไป จากระบบฟรีทีวีเดิมที่ 6 ช่องมีเนื้อหาครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม (mass market) ทิศทางตลาดจะกลายเป็นช่องเฉพาะทาง (niche market) มากขึ้น เช่น ช่องที่เน้นข่าวโดยเฉพาะ ช่องที่เน้นรายการเด็กโดยเฉพาะ หรือช่องที่เน้นความบันเทิงเพียงอย่างเดียว ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกลงโฆษณาที่ตรงกลุ่มได้มากขึ้น ไม่ต้องลงโฆษณาแบบหว่านแห (แต่จ่ายในราคาแพง) แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คาดว่าผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมจำนวนมากจะสนใจตลาด Digital TV และเข้าร่วมการประมูลด้วย ซึ่งจะทำให้ช่องที่เคยอยู่บนระบบดาวเทียม เพิ่มช่องทางออกอากาศบน Digital TV จำนวนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น บริษัทโรสมีเดีย เจ้าของช่องการ์ตูนทางดาวเทียม ก็ประกาศเตรียมประมูล Digital TV ในส่วนของช่องเด็ก ซึ่งจะกลายเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ของ SME ที่ทำสินค้าหรือบริการเกี่ยวกับเด็กได้เป็นการเจาะจง ซึ่งถือเป็นมิติใหม่เมื่อเทียบกับการลงโฆษณาใน "ช่วงการ์ตูนในฟรีทีวี" แบบเดิม หรือการลงโฆษณาในเคเบิลทีวีที่อาจมีผู้ชมจำนวนไม่มากนัก

นอกจากนี้ Digital TV ยังมีแนวคิดเรื่อง "ช่องท้องถิ่น" ที่เน้นรายการเฉพาะท้องถิ่น (เช่น กลุ่มจังหวัดหรือภาค) ซึ่งจะช่วยให้การประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรือสินค้า สามารถลงรายละเอียดเฉพาะภูมิภาคได้ดีขึ้นตามมา
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ Digital TV ในประเทศไทยถือว่าล่าช้ากว่าที่ควรไปมาก และผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยย้ายไปชมทีวีดาวเทียมแล้ว ซึ่งผู้ลงโฆษณาในระบบ Digital TV ควรพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงเรื่องความซ้ำซ้อนของกลุ่มเป้าหมาย และราคาโฆษณาที่อาจแตกต่างกันของทีวีช่องเดียวกัน (แต่อยู่คนละระบบ)

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.scbsme.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook