9 คำถาม คำตอบ เพื่อความเข้าใจกับ RMF
กองทุน RMF เป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำเงินที่ลงทุนมาหักภาษีได้ แต่หลายคนก็ยังสับสนว่า กองทุน RMF คืออะไรและมีวิธีการลงทุนอย่างไรกันแน่ เรามี 9 คำถามเกี่ยวกับ RMF มาฝาก
1. RMF คืออะไร
RMF ย่อมาจากคำว่า Retirement Mutual Fund หรือเรียกในชื่อไทยว่า "กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ" เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์พิเศษ แตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป คือ RMF เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสะสมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ ที่ทางการให้การสนับสนุน สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจ
2. RMF เหมาะกับใคร
RMF เหมาะกับคนทุกกลุ่มที่ต้องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ยังไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มารองรับ หรือมีสวัสดิการดังกล่าว แต่ยังมีกำลังออมเพิ่มมากกว่านั้นได้อีก
3. RMF มีนโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร
RMF มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เช่นพันธบัตร กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงปานกลาง ที่อาจผสมผสานระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน ไปจนถึงกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูง เน้นลงทุนในตราสารทุน เช่น หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิการซื้อหุ้น (warrant)
4. RMF มีข้อแตกต่างจากกองทุนรวมทั่ว ๆ ไปอย่างไร
1. หากลงทุนครบตามเงื่อนไขจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
2. ไม่สามารถโอน จำนำ หรือนำหน่วยลงทุนไปเป็นหลักประกันได้
3. ไม่มีการจ่ายเงินปันผล
5. เงื่อนไขการลงทุนของ RMF เป็นอย่างไร
เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี การลงทุนใน RMF มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
• ต้องสะสมเงินอย่างต่อเนื่องโดยซื้อ หน่วยลงทุนของ RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง
• ต้องลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000บาท(แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า)
• ลงทุนสูงสุดไม่เกิน15%ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่เกิน 500,000 บาท
• ต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน (ยกเว้นปีใดที่ไม่มีเงินไดก็ไม่ต้องลงทุนเนื่องจาก 3% ของเงินได้ 0 บาท เท่ากับ 0 บาท)
• การขายคืนหน่วยลงทุนทำได้เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
6. สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ RMF มีอะไรบ้าง
หากปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนใน RMF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 2 ทางด้วยกัน คือ
ทางที่ 1 เงินซื้อหน่วยลงทุนใน RMF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15 % ของเงินได้ในแต่ละปี โดยเมื่อนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ทางที่ 2 กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (capital gain) ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ
7. อย่างไรที่เรียกว่าผิดเงื่อนไขการลงทุนของ RMF
1. ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน
2. ลงทุนขั้นต่ำไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3. ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนที่ผู้ลงทุนจะอายุครบ 55 ปี
4. ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนที่จะมีการลงทุนครบ 5 ปีทั้งนี้ หากเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุนแล้ว ยกเว้นกรณีที่ผู้ลงทุนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจะไม่ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน
8. จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ลงทุน หากมีการผิดเงื่อนไขการลงทุน
ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป และต้องดำเนินการดังนี้
1. กรณีที่ลงทุนไม่ถึง 5 ปี และมีการผิดเงื่อนไข
- ต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดทุกปีที่ได้รับการยกเว้นไป
- เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนต้องจ่ายภาษีของกำไรส่วนเกินทุน (capital gain) โดยนำกำไรที่ได้รับจากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ของปีที่ขายคืนเพื่อเสียภาษีเงินได้ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อผู้ลงทุนขายคืนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะหักภาษี ณ ที่จ่าย3% ของกำไรส่วนเกินทุนไว้ก่อน และเมื่อผู้ลงทุนไปยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ก็จะคำนวณอีกครั้งว่าจะต้องจ่ายเงินภาษีเพิ่มอีกหรือไม่ อย่างไรลงทุน
2. กรณีที่ลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และมีการผิดเงื่อนไข
- ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไปในช่วง 5 ปีย้อนหลัง
9. Checklist ก่อนลงทุนใน RMF มีอะไรบ้าง
- ถามตัวเองว่าต้องการออมเพื่อวัยเกษียณ
- มีวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และระยะยาว
- รู้จักตัวเอง รู้ว่ามีเป้าหมายการลงทุนเป็น แบบใด สามารถออมเงินได้มากน้อยเพียงไร และยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนได้ขนาดไหน
- รู้จักผลิตภัณฑ์ รู้ว่านโยบายการลงทุนของ RMF ที่สนใจจะลงทุนเป็นอย่างไร เช่น มีความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง หรือสูง
- รู้ผลงานของบริษัท คุณภาพในการให้บริการรวมทั้งการคิดค่าธรรมเนียมจัดการและค่าใช้จ่าย ต่าง ๆ
- เลือกลงทุนใน RMF ที่เหมาะสมกับตัวเอง
ตัวอย่าง RMF ช่วยประหยัดภาษีได้อย่างไร
* คำนวนจากโครงสร้างภาษีเดิม
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.aimc.or.th/ และ http://www.tsi-thailand.org/