"เจียวดาว" เมนูตระกูลไข่รสเลิศ อิ่ม อร่อยแค่จานละ 15 บาท
เมื่อเอ่ยชื่อของ "เจียวดาว" หลายคนคงสังสัย หรืออุทานออกมาว่า "เอ๊ะ! มีด้วยเหรอ"
กินอย่างไร รูปร่างหน้าตาจะออกมาอย่างไร คงเป็นคำถามค้างคาใจอยู่ไม่น้อย
เอาไข่เจียวกับไข่ดาวมารวมอยู่ในจานเดียว แล้วกินด้วยกันอย่างนั้นหรือ ก็ไม่ใช่อีก
แต่สำหรับเด็กเชียงใหม่ คงร้องอ๋อ! เพราะรู้จักและคุ้นเคยดี
โดยเฉพาะช่วงดึกๆ หลังมช. จะมีให้กินเป็นประจำ ไม่เว้นวันหยุดราชการ และมีให้กินตลอดทั้งปี
ที่สำคัญคือ ราคาไม่แพง เพราะด้วยปริมาณของข้าว วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ ราคา 10 บาท คงไม่เกินความสามารถในการจ่าย สำหรับไข่เจียวธรรมดา เติมเครื่องปรุงไม่อั้น จะหิ้วกลับบ้านหรือนั่งกิน
หากเป็น "เจียวดาว" ก็ราคา 15 บาท นั่นหมายความว่า ไข่เจียวธรรมดา 10 บาท เพิ่มดาวอีกฟอง 5 บาท อิ่มพอดี พิเศษสุดๆ เพิ่ม 2 ฟอง ก็ 20 บาท
ถามว่า 10 บาท หรือ 15 บาท จะคุ้มเหรอ เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจยุคข้าวยากหมากแพงสมัยนี้ แม่ค้าส่วนใหญ่บอกว่า ส่วนนี้ก็คงต้องลดปริมาณตามความจำเป็น หรือยอมได้กำไรน้อยในช่วงที่วัตถุดิบปรับสูงขึ้น
จะว่าไปแล้ว "เจียวดาว" ไม่ใช่เมนูแปลกอะไรเลย แต่อาจจะไม่ค่อยเห็นใครทำกันเท่านั้น
ขณะเดียวกัน "ไข่" ถือเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาดัดแปลง หรือนำไปเป็นส่วนประกอบอื่นได้อย่างลงตัว และเป็นเมนูที่ไม่ว่าจะเป็นร้านไหนๆ ก็ต้องมี หรือจะสั่งมาเป็นพิเศษ สำหรับคนที่ไม่กินเผ็ด และมักจะหมดก่อนเสมอ
ฉะนั้นการที่จะนำไข่ดิบสองฟองมาทำเป็น "เจียวดาว" จึงไม่ได้ซับซ้อน และมีให้กินตามท้องตลาดทั่วไป แต่อาจจะไม่ใช่ถิ่นกำเนิดที่แท้จริง หรือถูกดัดแปลงมาจากที่อื่น
วิธีทำก็ง่ายๆ ก็เริ่มจากตีไข่ 1 ฟอง ผสมเครื่อง 5 อย่าง ได้แก่ ต้นหอม หอมหัวใหญ่ แครอท พริก ไส้กรอก หมูบด หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ตามความต้องการ ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำปลา รสดี นิดหน่อย
ตั้งกระทะให้ร้อน แล้วก็เทไข่ที่ผสมเครื่องปรุงดังกล่าวใส่ในกระทะ แต่กระทะที่หลังมช. เป็นขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดพอเหมาะกับขนาดกับกล่องโฟมที่ใส่อาหารตามสั่งทั่วไปได้พอดีเป๊ะ บางร้านจะเป็นกระทะทั่วไป แต่ขนาดจะพอดีกับจาน
จากนั้นจึงตอกไข่เปล่าๆ ลงไปในถ้วยแล้วเทลงกระทะบนไข่เจียวที่ใกล้สุก แล้วหลิกเพื่อให้ไข่ดาวสุก หรือสุกพอดี ตามอารมณ์ของลูกค้า
เมื่อได้ที่แล้ว จึงยกกระทะเท "เจียวดาว" มาใส่บนข้าวสวยร้อนๆ ที่ตักใส่กล่องเตรียมไว้ ทำให้ส่วนของไข่ดาวพลิกขึ้นมาอยู่ข้างบนโดยอัตโนมัติ
ดูเหมือนง่ายใช่ไหมครับ แต่จะยากก็ตกพลิกไข่นี่แหละ ในทางกลับกันก็ไม่ยากอย่างที่คิด หากเรามาทำกินเองที่บ้าน กระทะใบใหญ่ๆ ก็ควงตะหลิวได้อย่างเต็มความสามารถ
เห็นแบบนี้แล้ว คงนึกอยากกิน "เจียวดาว" ขึ้นมาทันใด
ฉะนั้น หากนึกจะเจียวไข่เมื่อไหร่ ก็ลองเอาสูตรนี้ไปทำได้ เผื่อจะอร่อยกว่าไข่เจียวธรรมดาทั่วไป
หรือไปเชียงใหม่คราวใด ก็ลองหากิน "เจียวดาว" กันได้ โดยเฉพาะหลังมช. ซึ่งเรียงรายขายตั้งแต่หัวค่ำจนถึงดึก บางรายขายจนถึงใกล้สว่าง
หลังๆ บางเจ้าก็อาจจะดัดแปลงนิดหน่อย เช่น เอาใบตองมารองเพื่อทำให้น่ากิน แต่ความอร่อยคงวัดกันลำบาก เพราะเมื่อไข่เจียวดาวออกมาแล้ว อร่อยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นร้านไหน หรือใครเป็นคนทำ
จะว่าไปแล้ว ยังไม่มีข้อมูลที่ระบุได้อย่างชัดเจนว่า ใครเป็นคนริเริ่มเป็นคนแรกในเชียงใหม่ เพราะร้านที่ขายข้าวไข่เจียวทุกร้านทำได้หมด
ก็มีแต่ข้อมูลที่บอกว่าเป็นสูตรพิเศษเฉพาะของร้านทรงเครื่องตระกูลไข่ ที่คิดค้นโดย "เต้ย" เจ้าของร้าน โดย "เต้ย" เล่าถึงที่มาของเมนูไข่สุดพลิกแพลง ว่าเมื่อ 10 ปีก่อนขายแค่ข้าวไข่เจียวทรงเครื่องธรรมดา วันหนึ่งมีนักศึกษาวิศวะมช. มาท้าให้ลองทำไข่เจียวกับไข่ดาวในกล่องเดียวกัน ถ้าทำได้จะซื้อ
นั่นจึงเป็นที่มาของ "เจียวดาว" ที่แสนโด่งดังและขายดิบขายดีเรื่อยมา จากเดิมมีแค่ร้านเดียวในบริเวณเดียวกัน กลายเป็น 10 ร้าน ในระยะเวลาไม่กี่ปี
หากคำนวณปริมาณไข่ ที่ทำเป็นไข่เจียวธรรมดา หรือ "เจียวดาว ที่ขายหลังมช. ต่อวัน คิดแบบคร่าวๆ ต่อร้านไม่ต่ำกว่า 5 แผงๆ ละ 30 ฟอง จำนวน 10 ร้าน หากสรุปออกมาเป็นตัวเลข ก็จะได้ 1,500 ฟอง โอ้ววว!!
อย่างไรก็ตาม ยุคข้าวยากหมากแผงเช่นนี้ ข้าวไข่เจียวดาว น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา
มากกว่านั้น "เจียวดาว" ยังเป็นเมนูแปลกอีกอย่างหนึ่งที่น่าลิ้มลอง หรือยังเป็นเมนูที่คุณสามารถทำเองได้ที่บ้าน
หากตอนนี้ใครมีไข่ในตู้เย็นสัก 2 ฟอง และหาข้าวสรวยร้อนๆ มาลองทำดู ไม่น่าจะเสียหาย และเชื่อว่า เมนูไข่เจียวมื้อนี้จะพิเศษและอร่อยจนลืมไม่ลง!!