ผุดมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-ลำปาง4.9หมื่นล.
เพื่อไทยทุ่มกว่า 5 หมื่นล้านสร้างโครงข่ายคมนาคมใหม่ รองรับการเติบโตเมืองเชียงใหม่ ทอท.เล็งสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ขนาด 3,000 ไร่ ย่าน "สันกำแพง-บ้านธิ" ผังเมืองรับลูกปั้นเป็นเมืองใหม่-ฮับการบิน กรมทางหลวงลุยไม่ยั้งขยาย 8 เลนถนนสาย 11 "แยกดอยติ-เมืองเชียงใหม่" กับวงแหวนรอบที่ 3 ขุดอุโมงค์ทางลอดแก้จุดตัดนับ 10 แห่ง เร่งศึกษาวงแหวนรอบที่ 4 ผุดมอเตอร์เวย์สายเชียงใหม่-ลำปาง 53 กม. วงเงิน 4.9 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่มีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีมานี้ทั้งเศรษฐกิจ การค้า ที่อยู่อาศัย การท่องเที่ยว เพื่อรองรับการขยายตัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 มีผลให้กรมโยธาธิการและผังเมืองทำการทบทวนผังเมืองรวมจังหวัดใหม่ ให้สอดรับกับการลงทุนทั้งโครงการ 2 ล้านล้านบาท และโครงการที่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจเตรียมจะลงทุนเพิ่ม เช่น สนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 การขยายถนนวงแหวนรอบนอกวงที่ 3 เพื่อให้โครงข่ายครบสมบูรณ์ นอกจากนี้มีโครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่ เพื่อรับมือเมืองที่จะเติบโตขึ้นจากคลื่นลงทุนและคนที่จะย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก รวมเบ็ดเสร็จใช้เม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นร่วม 55,200 ล้านบาท
ปักหมุดเมืองใหม่ สันกำแพง
นายสุรพล ศราทธทัต นักวิเคราะห์ผังเมืองชำนาญการพิเศษโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า อีกเหตุผลที่จะต้องทบทวนผังเมืองรวมจังหวัดฉบับปัจจุบันใหม่ เพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินสอดคล้องกับโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ในเชียงใหม่ โดยมีแผนดำเนินการก่อสร้างในอนาคต บริเวณพื้นที่รอยต่ออำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูนและบริเวณนี้จะเป็นเมืองใหม่ในอนาคต
"ขณะเดียวกันจะต้องพิจารณาเพิ่มโครงข่ายการคมนาคมเข้าไปในผังเมืองรวมจังหวัดที่จะปรับใหม่นี้ด้วย เช่น ขยายถนนวงแหวนรอบนอกวงที่ 3 ให้สมบูรณ์จากเดิมมีแค่ 2 ช่องจราจร" นายสุรพลกล่าว
ศึกษาสนามบินเชียงใหม่ 2
นายพงษ์ศักดิฐ์ เสมสันต์ กรรมการและรักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ทอท.กำลังศึกษาความเหมาะสมและรายละเอียดโครงการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ซึ่งทางจังหวัดเสนอให้มีการก่อสร้างเพิ่ม สอดคล้องกับแผนงาน ทอท.ที่บรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนพัฒนาและลงทุนในอนาคตอยู่แล้ว แต่คงจะไม่ใช่เร็ววันนี้ เหตุผลการลงทุนเนื่องจากต่อไปเชียงใหม่จะเป็นศูนย์กลางการบินและเออีซี แนวโน้มมีคนเดินทางเพิ่มขึ้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปสร้างหรือไม่สร้างต้นปี 2557 นี้
"สนามบินเดิมยังรองรับผู้โดยสารได้อีกประมาณ 3 ปีนับจากปี 2557-2559 ยังไม่หนาแน่นเหมือนภูเก็ต สุวรรณภูมิ เพราะก่อนหน้านี้ได้ขยายพื้นที่รันเวย์ อาคาร ที่จอดแท็กซี่ และปรับปรุงภายในอาคารใหม่ โครงการแห่งที่ 2 จะขยายแค่ไหนดูจากของเดิมเป็นฐาน เช่น จำนวนผู้โดยสาร ขนาดพื้นที่ เป็นต้น โดยทางจังหวัดจะเป็นคนเลือกพื้นที่ให้"
เล็ง อ.สันกำแพง-บ้านธิ
น.ท.หลักชัย เฉลยปราชญ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาความเป็นไปได้จากส่วนกลางเรื่องการสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 เช่น ขนาดพื้นที่ เงินลงทุน การจัดวงจรการบิน เนื่องจากต้องดูหลายองค์ประกอบมาพิจารณา คาดว่าการดำเนินการคงไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้
เนื่องจากปัจจุบันสนามบินเชียงใหม่ปริมาณผู้โดยสารยังไม่เต็มตามที่ประเมินไว้ที่ 8 ล้านคนต่อปี แม้ว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 10% โดยปัจจุบันยังอยู่ที่ 5.1 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ที่ 4.1 ล้านคนต่อปี ในปี 2557 คาดว่าอยู่ที่ 6 ล้านคนต่อปี ยังสามารถรองรับได้อีก 5 ปี
เวนคืนที่ดิน 3 พันไร่
"พื้นที่ก่อสร้างแห่งใหม่ที่เหมาะสมอยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด ห่างจากสนามบินเดิมประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เปิดใหม่อยู่บริเวณอำเภอสันกำแพงกับอำเภอบ้านธิ ด้านตะวันตกไม่สามารถสร้างได้เพราะติดเขา ส่วนด้านเหนือและใต้ติดพื้นที่ทหาร" ผอ.ท่าอากาศยานเชียงใหม่กล่าว
สำหรับขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมคาดว่าจะอยู่ประมาณ 3,000 ไร่ ตามที่ทางจังหวัดได้นำเสนอ และจะต้องมีการเวนคืนที่ดินหากมีข้อสรุปชัดเจนว่าจะใช้บริเวณนี้ ทั้งนี้นับว่าเป็นพื้นที่ใหญ่กว่าสนามบินเดิม 2 เท่าตัว เนื่องจากสนามบินปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่เท่านั้น อย่างไรก็ตามในการบริหารจัดการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและสายการบินที่เพิ่มขึ้น มีแนวคิดจะเปิดการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จากปัจจุบันเปิดบริการเวลา 06.00-24.00 น. เพื่อเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีหลายสายการบินขอเปิดชาร์เตอร์ไฟลต์หรือบินตรงเพิ่ม
ทล.ลุยขยายถนน-ขุดอุโมงค์
นายสอาด ประจันพล ผู้อำนวยการส่วนวางแผนสำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่) กล่าวว่า ในแผนงานก่อสร้างมีหลายโครงการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น เป็นโครงการที่กำลังดำเนินการใช้งบประมาณปี 2556 และงบประมาณปี 2557 และโครงการในอนาคตที่อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณโครงการที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย 1.ขยายถนนวงแหวนรอบที่ 3 จาก 2 ช่องเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร วงเงิน 1,000 ล้านบาท
ยังไม่รวมก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดจุดตัดอีก 7 แห่ง เช่น แยกหลุยส์ แยกสันกำแพง จะมีการพัฒนาในระยะต่อไปหลังขยายถนนเสร็จแล้ว หากรวมด้วยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีการออกแบบเสร็จแล้วรอการจัดสรรงบประมาณ
2.ขยายทางหลวงหมายเลข 11 บริเวณแยกดอยติ จ.ลำพูน ไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ จาก 4 ช่องเป็น 6-8 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร วงเงิน 1,200-1,400 ล้านบาท อยู่ระหว่างของบประมาณส่วนกลางมาดำเนินการ
3.ก่อสร้างทางลอดแยกกองพันธุ์สัตว์ป่า วงเงิน 600 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ใช้งบประมาณปี 2556 ก่อสร้าง 2 ปี
4.โครงการในงบประมาณปี 2557 มีอุโมงค์ทางลอดบริเวณสามแยกแม่โจ้ ขยายสะพานข้ามแม่น้ำปิง จาก 4 ช่องเป็น 6 ช่องจราจร วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี ผุดมอเตอร์เวย์ไปลำปาง
5.โครงการถนนวงแหวนรอบที่ 4 เป็นความต้องการของจังหวัดที่จะให้ดำเนินการก่อสร้าง แต่ยังไม่ได้มีความคืบหน้า เนื่องจากกรมยังไม่ได้งบประมาณศึกษาโครงการ คาดว่าจะตั้งงบประมาณในปี 2557 นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ที่กรมทางหลวงได้จ้างบริษัทที่ปรึกษามาดำเนินการนั้น ในแผนเร่งด่วนช่วง 10 ปีแรก (2557-2567) มีโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ เส้นทางจากอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง-เชียงใหม่ บรรจุอยู่ในแผนงานด้วยระยะทางประมาณ 53 กิโลเมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ค่าก่อสร้างเบื้องต้นประมาณ 49,000 ล้านบาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1,000 ล้านบาทเนื่องจากออกแบบเจาะอุโมงค์ด้วยทำให้ค่าก่อสร้างสูงขึ้น
โดยแนวเส้นทางเปิดพื้นที่ใหม่จะเริ่มจากบริเวณอำเภอแจ้ห่ม แล้วไปบรรจบพื้นที่ทางด้านตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ รัศมีประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับวงแหวนรอบนอกรอบที่ 3 ส่วนช่วงจากเชียงใหม่ไปเชียงรายคาดว่าจะเป็นระยะต่อไป