การบินไทยขาดทุนต่อเนื่อง! บริหารพลาดโอทีสูงเกินจริง

การบินไทยขาดทุนต่อเนื่อง! บริหารพลาดโอทีสูงเกินจริง

การบินไทยขาดทุนต่อเนื่อง! บริหารพลาดโอทีสูงเกินจริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของบริษัทและบริษัทย่อย ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์ อีสต์เอเชีย จำกัด บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด และบริษัท ทัวร์เอื้องหลวง จำกัด ซึ่งงบการเงินรวมของไตรมาส 3/2556 มีรายได้รวม 5.1351 ล้านบาท ขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,087 ล้านบาท ขณะที่ปีที่ผ่านมามีกำไร 2,490 ล้านบาท

นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย เปิดเผยว่า การขาดทุนในครั้งนี้ เนื่องจาก อุตสาหกรรมการบินมีการแข่งขันสูง ต้นทุนการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดย การบินไทย และบริษัทย่อย ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 2,890 ล้านบาท ขาดทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อน 2,770 ล้านบาท เป็นผลให้การบินไทย และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 6,182 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 1,857 ล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 6,195 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 2.84 บาท เปรียบเทียบ กับไตรมาสเดียวกันปีก่อนซึ่งมีกำไรต่อหุ้น 0.80 บาท

ด้าน พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การบินไทยขาดทุนเกิดจากการบริหารงานที่มีปัญหาทั้งในเรื่องการตลาด ที่ไม่สามารถปรับตัวเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ คู่แข่ง และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ที่เข้ามากระทบได้รวดเร็วเพียงพอ อีกทั้งมีการรับมอบเครื่องบินเข้ามา แต่ไม่สามารถหาผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนที่นั่งที่เพิ่มขึ้นได้ ทำให้การสร้างรายได้และกำไรไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังพบว่า การบินไทยมีค่าใช้จ่ายด้านค่าล่วงเวลา (โอที) สูงเกินความจำเป็นและส่งผลทำให้สูญเสียกำไรที่ควรจะได้ไป โดยในปี 2556 ค่าโอทีสูงเกินจากงบประมาณที่ตั้งไว้อย่างผิดปกติ เนื่องจากมีการจ่ายโอทีในการทำงานเกินความจำเป็นและความเป็นจริง โดยนายสรจักร กำลังทบทวนและให้ฝ่ายบริหารและหัวหน้างานในทุกส่วนช่วยกันเคร่งครัดกวดขันให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายแรงงาน ซึ่งจากการกวดขัน พบว่า เดือนกันยายนที่ผ่านมาค่าโอทีปรับลดลงจากเดือนสิงหาคมแล้ว

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า การบินไทยมีวัฒนธรรมองค์กรสะสมมานาน ยิ่งทำให้ผู้บริหารและพนักงานขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ขณะที่การแข่งขันด้านธุรกิจการบินกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนนายสรจักรนั้น ต้องให้เวลาพิสูจน์ตัวเองอีกระยะ เพราะจะมีการประเมินผลงานอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์นี้

แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวกับ "สยามธุรกิจ" ว่า ปัญหาของการบินไทยเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน เนื่องจากเป็นแหล่งหากินของทหารอากาศและนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย ในการที่จะแก้ปัญหาต้องใช้ความกล้าหาญและต้องได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น สมัยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ อดีตดีดี คนที่แล้ว ก็เจอกับปัญหาการขาดทุนสะสม แต่ก็มีนโยบายลดค่าใช้จ่าย ปรับลดเงินเดือนพนักงาน ปลดพนักงาน ตัดงบประมาณส่วนที่ไม่จำเป็นของบริษัทออกอย่างมหาศาลทำให้การบินไทยกลับมามีกำไรได้

"ปัญหาของการบินไทยส่วนใหญ่มาจากต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งทำให้แข่งขันในตลาดค่อนข้างลำบาก ในการที่จะแข่งขันได้ต้องลดต้นทุนโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายคงที่ เช่นเงินเดือนพนักงาน ที่มีข้อมูลว่าพนักงานส่วนใหญ่เป็นพวกลูกท่านหลานเธอ ที่จ้างก่อนปี 2548 ประมาณ 20,000 กว่าคนที่ทางการบินไทยต้องออกค่าภาษีเงินเดือนให้ประมาณ 1,500 ล้านบาททุกปี ไม่รวมค่าจ้างที่สูงกว่าคู่แข่ง ประมาณ 30-40% และมีค่าล่วงเวลาคนละหลายชั่วโมงต่อเดือน ฯลฯ รวมถึงค่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของผู้บริหาร ฯลฯ ด้วย ในส่วนของสหภาพฯการบินไทย ก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องปกป้ององค์กรของตัวเองเลย มีแต่ประท้วงโดยเอาประเด็นเหล่านี้มาอ้าง พอได้ขึ้นเงินเดือนหรือเพิ่มโบนัสให้ก็สลายตัวไป"

ผู้โดยสารสายการบินไทย กล่าวกับ "สยามธุรกิจ" ว่า ก่อนอื่นขอร้องเรียนนายสรจักร ถึงเรื่องการบริการของพนักงานการบินไทย เชื่อว่าส่วนใหญ่บริการดี แต่ยังมีบางส่วนที่บริการไม่ดี เพราะจากการเดินทางด้วยสายการบินไทยมาตลอด กว่า 20 ปี ในเส้นทางไทย-ญี่ปุ่น-ไทย หรือ ไทย-บังกลาเทศ-ไทย ต้องเจออะไรที่หลากหลายอยู่แล้ว แต่ที่เจอกับสามีบ่อยๆ ก็จะเป็นการขอร้องให้กรอกใบตรวจคนเข้าเมืองให้ เนื่องจากเขียนไม่ได้เพราะจบการศึกษาเพียงแค่ ป.4 แต่สิ่งที่ได้รับ คือ คำพูดที่ว่า "ไม่มีนโยบายกรอกให้ผู้โดยสาร"

"การบินไทยขาดทุน ถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแค่การบริการก็ยังบกพร่องได้ แล้วรางวัลบริการดีเยี่ยมที่ได้รับทุกปีได้มาอย่างไรก็ไม่รู้ ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่การบินไทยต้องใส่ใจทุกรายละเอียด ถ้ายังทำงานแบบเดิมๆ สายการบินอื่นเอาลูกค้าไปหมดแน่ๆ เพราะ อย่าลืมด้วยว่า ทางเลือกของผู้โดยสารไม่ได้มีเฉพาะแค่การบินไทย และการที่ขอร้องให้กรอกเอกสารให้ ไม่ได้แปลว่า ต้องการความสบายจนเกินไป แต่คนจบแค่ ป.4 ก็เป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่ากรอกไม่ได้แน่นอน จึงอยากขอฝากไปยังท่าน สรจักรŽ ด้วยว่า น่าจะมีนโยบายกรอกเอกสารให้ผู้โดยสารที่เขียนไม่ได้บ้าง"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook