ผู้บริโภคร้องจ๊าก! โรงกลั่นขอขึ้นราคา น้ำมันปาล์มขวด 47 บาท
โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์โอด ราคาน้ำมันปาล์มดิบพุ่งผิดปกติ แค่ 2 สัปดาห์ขึ้นพรวดถึง กก.ละ 32 บาท ทำหนังสือถึง คน.ขอปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์มขวดอีก 2-5 บาท เชื่อมีกระบวนการปั่นราคา เหตุราคา CPO ไทยสูงกว่ามาเลเซียถึง 6 บาท ชาวสวนปาล์มออกโรงให้รัฐบาล "ชดเชย" ส่วนต่าง
แหล่งข่าวจากโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปาล์มได้ทำหนังสือผ่านสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม แจ้งขอปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์มขวดไปยังกรมการค้าภายใน จากปัจจุบันถูกควบคุมราคาจำหน่ายขวดละ 42 บาท (ขนาด 1 ลิตร) โดยการขอปรับขึ้นราคาครั้งนี้เป็นผลมาจากราคาน้ำมันปาล์มดิบจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบปรับราคาสูงขึ้นจาก กก.ละ 29 บาท เป็น 32 บาท ทอนกลับไปเป็นราคาผลปาล์มทะลายที่ปรับสูงขึ้นถึง กก.ละ 5.20-5.80 บาท เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดู
ทั้งนี้ ตามสูตรโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มเดิมที่ กลุ่มโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ตกลงไว้กับกรมการค้าภายในจะอยู่ที่การคำนวณราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ กก.ละ 29 บาท ผ่านกระบวนการกลั่นและบรรจุเป็นน้ำมันปาล์มขวดขนาด 1 ลิตร (ราคาควบคุม) ขวดละ 42 บาท หรือเท่ากับมีส่วนต่างราคาอยู่ระหว่าง 12-15 บาท แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับขึ้นราคาไปถึง กก.ละ 32 บาท ดังนั้นหากคำนวณตามสูตรเดิมจะต้องจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดอยู่ที่ราคาขวดละ 44-47 บาท โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์จึงจะอยู่ได้และไม่ประสบภาวะขาดทุนจากวัตถุดิบที่ปรับราคาสูงขึ้น
นายอนุรักษ์ ธารีรัตนาวิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ ไอ เอนเนอร์จี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดแบรนด์พาโมลากล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการผลิตน้ำมันปาล์มประสบภาวะขาดทุนจากการจำหน่ายน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาด 1 ลิตร ขวดละ 2 บาท เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับขึ้นไปที่ กก.ละ 32 บาท ภายในสัปดาห์เดียว หรือสูงกว่าเดิมที่เคยซื้อในราคา กก.ละ 25-29 บาท ซึ่งหากคิดทอนกลับไปเป็นราคาผลปาล์มดิบอยู่ กก.ละ 5 บาทกว่า โดยระดับราคานี้ถือว่าสูงอย่างรวดเร็วและผิดปกติ
และหากเปรียบเทียบราคา CPO น้ำมันปาล์มไทยกับมาเลเซีย/อินโดนีเซีย ซึ่งปกติจะแตกต่างกันประมาณ 1 บาท/กก. โดยราคา CPO ของไทยจะ "ต่ำกว่า" ราคา CPO มาเลเซีย/อินโดนีเซีย กก.ละ 50 สตางค์ถึง 1 บาท แต่ขณะนี้ราคา CPO ของไทยอยู่ที่ กก.ละ 32-33 บาท หรือ "สูงกว่า" ราคามาเลเซียถึง กก.ละ 6 บาท ถือว่า "ผิดปกติมาก"
"ผมไม่แน่ใจว่ามีการปั่นราคาน้ำมันปาล์มดิบหรือไม่ แต่ที่ราคาสูงขึ้นอาจเป็นเพราะตกใจสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศที่ลดลง จากเดิมที่มีสต๊อกอยู่ในระดับ 300,000 ตัน ซึ่งถือว่าล้นตลาด หรือเกินไปกว่า Safety Stock ที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 200,000 ตัน มาตั้งแต่ปี 2555 จนมาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อยู่ดี ๆ สต๊อกก็หายไป สาเหตุเพราะตอนนี้เป็นปลายฤดูของปาล์มและทุก ๆ ปีก็จะน้อย แต่ปีนี้ผิดปกติทางโรงหีบบอกว่าแล้ง จนสต๊อกน้ำมันปาล์มภายในประเทศลดลงเหลือ 260,000 ตัน ส่วนหนึ่งมีการส่งออกไปต่างประเทศ ถามว่า น่ากลัวไหม ผมคิดว่า เริ่มอึดอัดแล้ว อย่างโรงสกัดปาล์มที่เราขอซื้อเขา 1,000 ตัน แต่ซื้อได้จริงแค่ 500 ตัน บางโรงบอกซื้อได้ 300 ตัน ไม่มีน้ำมันปาล์มดิบ ทางเราเมื่อเห็นว่าไม่มีของก็ต้องซื้อเพราะต้องใช้ผลิตตามออร์เดอร์ที่รับไว้ ไม่ว่าจะราคาเท่าไหร่" นายอนุรักษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาวะราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ผิดปกติอย่างนี้ กรมการค้าภายในต้องอนุญาตให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากนอกประเทศ "แต่มันไม่ง่าย" เพราะเมื่อรัฐบาลบอกให้มีการนำเข้าได้ น้ำมันปาล์มในประเทศก็จะออกมาสู่ตลาดทันทีเพราะ "มีใครเก็บสต๊อกไว้ นาทีนี้แค่รัฐบาลควบคุมเรื่องส่งออกให้ดีเท่านั้น คุณนั่งมอนิเตอร์อย่างเดียว แต่คุณไม่ได้ทำอะไร ถ้ามีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ 50,000-100,000 ตัน แล้วก็มองเฉยไม่ได้ทำอะไร จนของในประเทศขาด ถ้าไม่ดูเรื่องส่งออก คุณก็ปล่อยให้นำเข้า ให้มันสมดุลกัน แต่ในมุมมองของผม รัฐบาลควรปลดสินค้านี้ออกจากบัญชีควบคุมราคาเพราะตลาดนี้มีการแข่งขันสมบูรณ์อยู่แล้ว"
ล่าสุดมีรายงานข่าวจากสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทยเข้ามาว่า เป็นธรรมดาที่ราคาผลปาล์มในช่วงปลายฤดูกาลผลิตจะปรับราคาสูงขึ้นถึง กก.ละ 5 บาท ซึ่งหมายถึงการกระทบต่อต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ แต่การแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันปาล์มดิบขึ้นราคาจะต้องไม่กระทบกับราคาผลปาล์มทะลายของเกษตรกร ดังนั้นทางสมาคมได้เตรียมยื่นข้อเสนอให้กระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาด้วยการจ่าย "ส่วนต่าง" ระหว่างราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ปรับสูงขึ้นกับราคาน้ำมันปาล์มขวดให้กับโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยคงราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดไว้ที่ 42 บาท ตามโครงสร้างราคาเดิมยกตัวอย่างโรงกลั่นน้ำมันปาล์มซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงสกัดในราคา กก.ละ 32 บาท ก็ให้กระทรวงพาณิชย์จ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันปาล์มดิบที่สูงขึ้นให้กับโรงกลั่นในราคา กก.ละ 2-5 บาท โดยที่โรงกลั่นไม่ต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์มขวด แต่มีเงื่อนไขให้จ่ายเฉพาะการผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ไม่รวมน้ำมันปาล์มบรรจุถุงกับน้ำมันปาล์มบรรจุปี๊บที่ไม่ได้ควบคุมราคา วิธีการจ่ายชดเชยตรงเช่นนี้จะต้องปรับลดตามราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ขึ้นเร็วลงเร็ว ในปริมาณน้ำมันปาล์มบรรจุขวดไม่เกินเดือนละ 30,000 ตัน
แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายในกล่าวว่าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการราคาน้ำมันปาล์มในเร็ว ๆ นี้ แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ คณะอนุกรรมการฯอาจจะดำเนินการได้เพียงประเมินสถานการณ์น้ำมันปาล์มเท่านั้น "เรายังไม่สามารถกำหนดมาตรการที่ชัดเจนออกมาได้"