ซื้อแฟรนไชส์อย่างไร ไม่ปวดใจ

ซื้อแฟรนไชส์อย่างไร ไม่ปวดใจ

ซื้อแฟรนไชส์อย่างไร ไม่ปวดใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ระบบแฟรนไชส์ เป็นกลยุทธ์ที่ได้รับการพิสูจน์ทดลอง และมีตัวอย่างของความสำเร็จมาแล้วมากมาย ว่าสามารถช่วยให้เจ้าของธุรกิจ ขยายตลาดออกไปได้อย่างกว้างขวาง

สำหรับผู้ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเองก็สามารถใช้สูตรสำเร็จที่มีอยู่เดิมมาปฏิบัติได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้นาน แต่การดำเนินธุรกิจทุกประเภทย่อมต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไปและเพื่อลดความเสี่ยง ความสูญเสีย หรือข้อขัดแย้งต่างๆ ที่จะตามมา อันเกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดและขาดข้อมูลที่ชัดเจน ผู้เลือกซื้อแฟรนไชส์หรือผู้รับสิทธิจึงควรศึกษาและพิจารณาถึงรายละเอียดต่างๆ ของผู้ขายแฟรนไชส์หรือผู้ให้สิทธิอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ

เจาะลึกวิธีเลือกซื้อแฟรนไชส์

การตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์รายใดนั้น ผู้เป็นเจ้าของควรศึกษารายละเอียดสำคัญๆ ดังนี้

- ผู้ให้สิทธิมีประสบการณ์ สถานภาพทั้งการเงินและการลงทุนเป็นอย่างไร ผู้ให้สิทธิมีความน่าเชื่อถือและมีความเข้มแข็งมากน้อยเพียงใด รายละเอียดส่วนนี้ไว้พิจารณาถึงโอกาสที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จ และโอกาสที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้สิทธิรับตามสัญญา

- ผู้ให้สิทธิควรมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับธุรกิจหรือกิจการที่ดีกว่าผู้รับสิทธิ เพื่อจะสามารถถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แก่ผู้รับสิทธิได้

- การตลาดส่วนแบ่งการตลาด และการเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ผู้ซื้อแฟรนไชส์ควรพิจารณาว่า ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าหรือบริการ ณ เวลานั้นๆ มีอยู่เท่าใด และจะสามารถขยายตลาดออกไปได้อีกมากน้อยเพียงใด

- ผลงานการวิจัยและพัฒนาสินค้า-บริการ ดูว่าผู้ให้สิทธิสามารถให้การอบรมวิจัยพัฒนาระบบธุรกิจ สินค้าและบริการได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะส่วนนี้จะสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันและการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง

- พิจารณาถึงเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ชื่อทางการค้า สูตร กรรมวิธีการผลิต การฝึกอบรม และการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้รับจากผู้ให้สิทธิ

- ค่าธรรมเนียม (Franchise Fee) เป็นจำนวนเท่าใด และผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้สิทธิประโยชน์มากน้อยเพียงใด

- ค่าใช้จ่ายในการเริ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ อาคาร ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

- ในสัญญาแฟรนไชส์ได้กำหนดให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องซื้อสินค้า หรือวัตถุดิบจากผู้ให้สิทธิหรือ Supplier ที่ผู้ให้สิทธิกำหนดหรือไม่ และผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด

- เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งแหล่งที่มาสินค้าและระบบควบคุมคุณภาพ ที่ผู้ให้สิทธิจะมอบให้เพื่อดำเนินกิจการนั้น มีความทันสมัย และได้มาตรฐานเพียงพอหรือไม่

- ผู้ให้สิทธิจะเรียกเก็บค่า Royalty ค่าโฆษณา และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกเท่าใด

- ผู้ให้สิทธิจะเรียกเก็บค่าฝึกอบรม หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกหรือไม่

- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานประจำเดือนมีอะไรบ้าง และเป็นจำนวนเท่าใด

- ผู้ให้สิทธิได้กำหนดเขตการค้าของผู้รับสิทธิไว้หรือไม่ และเขตการค้านั้นกำหนดไว้อย่างชัดเจนมากน้อยเพียงใด มีรายละเอียดอย่างไร

- ผู้ให้สิทธิจะช่วยเลือกทำเลที่ตั้งของร้านค้าหรือไม่ และผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มหรือไม่ ใครเป็นคนจัดการเรื่องทำเลที่ตั้งร้าน การเจรจาค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ

- เงื่อนไขในการคุ้มครองที่ผู้ให้สิทธิจะมอบแก่ผู้รับสิทธิ ได้มีการระบุไว้ในสัญญาหรือข้อตกลงใดๆหรือไม่นั่นคือ ผู้ให้สิทธิจะไม่หาผู้รับสิทธิรายใหม่มาแข่งขันในอาณาเขตการขาย หรือบริเวณใกล้เคียง

- ผู้ให้สิทธิจะช่วยในเรื่องการก่อสร้างหรือไม่ และการก่อสร้างอาคารต้องเป็นไปตามแบบที่ผู้ให้สิทธิกำหนดหรือไม่ รวมทั้งผู้รับสิทธิจะต้องเสียค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมในส่วนนี้อีกหรือไม่

- ผู้ให้สิทธิมีกระบวนการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าและบริการ อย่างไร

- ผู้ให้สิทธิได้กำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องการฝึกอบรมพนักงานไว้อย่างไรบ้าง รวมทั้งผู้รับสิทธิจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในด้านการฝึกอบรมพนักงาน

- ผู้ให้สิทธิได้กำหนดระเบียบข้อบังคับ หรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจประจำวัน ของผู้รับสิทธิไว้อย่างไร

- ผู้ให้สิทธิได้กำหนดระเบียบในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ไว้อย่างไร

- ผู้รับสิทธิหรือผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องเข้าร่วมในการโฆษณา และส่งเสริมการขายสินค้าโดยรวมมากน้อยเพียงใด และในแต่ละปี ผู้รับสิทธิจะต้องเสียค่าใช้จ่ายการเข้าร่วมโฆษณาและส่งเสริมการขาย เป็นจำนวนเท่าใด

-ผู้ให้สิทธิจะสนับสนุนการจัดการธุรกิจของผู้รับสิทธิอย่างไร และมีระยะเวลานานเท่าใด

- ผู้ให้สิทธิกำหนดมาตรฐานเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ไว้เป็นรูปแบบเฉพาะหรือไม่ รวมถึงผู้ให้สิทธิได้กำหนดวิธีการและกระบวนการซ่อมแซม เครื่องมือเครื่องใช้ และอุปกรณ์เหล่านั้นไว้อย่างไร
และผู้รับสิทธิจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อย่างไรบ้าง

- ผู้ให้สิทธิมีข้อกำหนดหรือรูปแบบในการว่าจ้างพนักงานในร้านไว้อย่างไร

- ผู้ให้สิทธิกำหนดระบบบัญชี และรูปแบบของรายงานต่างๆ ไว้อย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการจัดทำตามรูปแบบนั้นๆ

- ผู้ให้สิทธิกำหนดรูปแบบและสไตล์ของสินค้าที่จะจำหน่ายไว้หรือไม่

- มีข้อกำหนด ข้อบังคับ ให้ผู้รับสิทธิจะต้องซื้อ หรือเช่าอุปกรณ์ วัตถุดิบในการผลิตจากผู้ให้สิทธิหรือไม่ และถ้ามี ผู้รับสิทธิจะได้รับส่วนลดในการซื้อหรือไม่ อย่างไร

- ผู้รับสิทธิสามารถยกเลิกสัญญากับผู้ให้สิทธิได้ในกรณีใดบ้าง

- ผู้ให้สิทธิสามารถยกเลิกสัญญากับผู้รับสิทธิได้ในกรณีใดบ้าง

- อายุของสัญญามีระยะเวลานานเท่าใด และมีเงื่อนไขในการต่อสัญญาอย่างไร

- สัญญาธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถจะโอน ขาย จำนำ จำนอง ได้หรือไม่ และผู้ให้สิทธิได้กำหนดระเบียบ ข้อจำกัด และวิธีการไว้อย่างไร

- สัญญาของธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถตกทอดไปยังทายาทได้หรือไม่ ถ้าไม่มีข้อตกลงนี้ จะทำอย่างไร

- ผู้ที่จะซื้อแฟรนไชส์ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในการปฏิบัติงานจริง จากผู้ประกอบการรายเดิมที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว

เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

ผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือผู้รับสิทธิควรให้ความสำคัญกับการหาข้อมูล ทั้งสอบถามจากผู้ให้สิทธิในแฟรนไชส์นั้นๆ โดยตรง หรือจากผู้ที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว ผู้ซื้อสิทธิควรศึกษารายละเอียดต่างๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วนำธุรกิจแฟรนไชส์รายต่างๆ มาเปรียบเทียบถึงผลดีผลเสียก่อนตัดสินใจเลือก การเลือกแฟรนไชส์ก็เหมือนการเลือกคู่ครอง เพราะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และเมื่อตกลงปลงใจกันแล้ว ต่างฝ่ายต่างต้องปรับตัวเข้าหากัน พร้อมที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และช่วยกันประคับประคองเพื่อให้ชีวิตคู่อยู่กันได้อย่างยาวนานที่สุด ดังนั้น การเริ่มต้นจึงมีส่วนสำคัญ ดังคำกล่าวที่ว่า "การเริ่มต้นที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง"

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ธุรกิจแฟรนไชส์ ฝ่ายวิชาการ, สมาคม .สู่ความสำเร็จในธุรกิจแฟรนไชส์. พิมพ์ครั้งที่ 1.
แฟรนไชส์-มหัศจรรย์แห่งธุรกิจ. ธีระป้อมวรรณกรรม, 2543.

แจฟฟรีย์ แอล บราคัล.องค์กรแฟรนไชน์:การบริหารร้านเครือข่ายลูกโซ่ให้ประสบความสำเร็จ.
แปลโดย สายฟ้า พลวายุ.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ บริษัท เออาร์ อินฟอร์เมชัน แอนด์ พับริเคชัน, 2541.
Franchise.http//:www.fpo.mof.go.th/Source/Article/Economis/Econ14/econ.html.

คำไข : เคล็ดลับ-วิธีการเริ่มต้นธุรกิจ วิธีเลือกซื้อแฟรนไชส์

ซื้อแฟรนไชส์อย่างไร ไม่ปวดใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการเลือกซื้อแฟรนไชส์ที่ดี ซึ่งจะช่วยผู้ที่คิดจะเป็นผู้ประกอบการ โดยผ่านระบบแฟรนไชส์ มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น เพราะการเลือกแฟรนไชส์ เป็นปัจจัยค่อนข้างสำคัญที่จะชี้ว่า ธุรกิจมีโอกาสเกิดหรือเติบโตได้หรือไม่ และเพียงใด
ซื้อแฟรนไชส์อย่างไร ไม่ปวดใจ

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook