ม็อบฉุดภาษีแวตพ.ย.วูบ2พันล้าน คนเก็บเงินสดไม่กล้าใช้ ยุบสภาทำกม.ค้าง11ฉบับ

ม็อบฉุดภาษีแวตพ.ย.วูบ2พันล้าน คนเก็บเงินสดไม่กล้าใช้ ยุบสภาทำกม.ค้าง11ฉบับ

ม็อบฉุดภาษีแวตพ.ย.วูบ2พันล้าน คนเก็บเงินสดไม่กล้าใช้ ยุบสภาทำกม.ค้าง11ฉบับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สรรพากรยอมรับชุมนุมม็อบฉุดกำลังซื้อฟุบยาว ชี้คนไม่กล้าใช้จ่าย โดนลูกหลงภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนพฤศจิกายนวูบไปด้วย 2 พันล้าน ส่วนยุบสภาทำกฎหมายภาษีค้างเติ่ง 11 ฉบับ

นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยถึงการจัดเก็บรายได้เดือนพฤศจิกายนว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวลงมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากสถานการณ์การเมืองและการชุมนุมในประเทศ ทำให้ประชาชนเก็บเงินสดไว้ ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่เก็บจากสินค้าและบริการลดลงอย่างมาก โดยต่ำกว่าเป้าหมายถึง 2.1 พันล้านบาท หรือลดลง 3.7% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4.5 พันล้านบาท หรือ 7.3% ขณะที่รายได้จากแวตเองก็ลดลงจากการนำเข้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยเป็นผลมาจากการชะลอนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ ตามการลงทุนที่ชะลอตัวลง

นายสุทธิชัยกล่าวต่อว่า สถานการณ์ของภาษีมูลค่าเพิ่มน่าจะกลับมาเป็นปกติได้ในเดือนธันวาคม เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล มีการใช้จ่ายสูง และไม่น่าจะกระทบต่อเนื่องไปถึงปีหน้า โดยกรมสรรพากรยังมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเน้นไปขยายฐานภาษีส่วนอื่นๆ แทน

"สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) วิเคราะห์แล้วว่าผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ ทำให้การบริโภคอุปโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวลงจริง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังรอดูสถานการณ์ทำให้ไม่กล้าใช้จ่ายและเก็บเงินสดไว้ในมือ" นายสุทธิชัยกล่าว และว่า เมื่อรวม 2 เดือนของงบประมาณปี 2557 กรมยังจัดเก็บรายได้รวมเกินเป้าหมาย 2,500 ล้านบาท และสูงกว่าปีก่อน 1,200 ล้านบาท โดยภาษีตัวอื่นๆ ยังเก็บได้สูง ทั้งนิติบุคคล บุคคลธรรมดา ธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์" นายสุทธิชัยกล่าว

นายสุทธิชัยกล่าวว่า การยุบสภาทำให้ร่างกฎหมายต่างๆ ที่กรมเสนอแก้ไขต้องตกไป รวมทั้งสิ้น 11 ฉบับ ซึ่งคงต้องรอเสนอรัฐบาลใหม่ให้ผลักดันต่อไป คือ พ.ร.บ. 3 ฉบับ ประกอบด้วยร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร กรณีการเก็บภาษีคณะบุคคลและห้างหุ้นส่วนจำกัด ร่างแก้ไขเพิ่มเติมกรณีการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย และกรณีเงินบริจาคสนับสนุนพรรคการเมือง กรณีบุคคลธรรมดา ไม่เกิน 5 พันบาท บริษัทให้ลงรายจ่ายไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ส่วนร่างพระราชกฤษฎีกา 8 ฉบับ ประกอบด้วย การยกเว้นเงินบริจาค 2 เท่าสำหรับการบูรณะโบราณสถาน การยกเว้นภาษีกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กรณีกู้ยืมหรือผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ การยกเว้นค่าจัดสัมมนาในประเทศ การหักค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นได้ร้อยละห้าสิบของมูลค่าต้นทุน สำหรับเครื่องจักรสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การยกเว้นภาษีสำหรับการบริจาคให้ ศอ.บต.เป็นตัวกลางเพื่อนำไปช่วยเหลือกรณีเหตุไม่สงบภาคใต้ และกรณีแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะ 2

(ที่มา:มติชนรายวัน 18 ธ.ค.2556)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook