ธุรกิจแห่งปี 2556 : กาแฟถุงกระดาษ
"ร้านกาแฟ" เป็นหนึ่งในธุรกิจยอดฮิตในช่วงเกือบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านกาแฟคั่วบดในเมืองไทยมีมูลค่ากว่า 5-6 พันล้านบาท หลายคนจะมองว่าด้วยไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่หันมานิยมดื่มกาแฟกันมากขึ้น ทำให้ใครๆ ก็อยากเปิดร้านกาแฟ ทำให้มีผู้แข่งขันในตลาดจำนวนมาก ทั้งกาแฟสดระดับพรีเมี่ยม กาแฟสดตามปั๊มน้ำมัน ร้านกาแฟอินดี้เปิดเดี่ยวๆ ขายบรรยากาศ ร้านแฟรนไชส์ กาแฟโบราณ ถามว่ากาแฟสดถึงจุดอิ่มตัวแล้วหรือยัง
การเตรียมตัวที่ดีอยู่ให้รอดท่ามกลางธุรกิจร้านกาแฟที่มีอัตราการขยายตัว จริงอยู่รสชาติที่กลมกล่อมของกาแฟช่วยสร้างฐานลูกค้าให้กับร้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่เวลาอยากกินกาแฟจะเลือกซื้อกาแฟจากร้านใกล้ๆ ตัวมากกว่า ส่องไปที่ตลาดกาแฟสดพรีเมี่ยมในปีนี้แข่งขันกันเดือด (ที่ SMEs อย่างเราได้แต่ดู) ตลาดนี้สายป่านไม่ยาวจริงมีอันต้องตายคาสนาม
แบรนด์กาแฟพรีเมี่ยม เริ่มตั้งแต่แบรนด์ คอฟฟี่เวิลด์ ทรูคอฟฟี่ แมคคาเฟ่ บลูคัพ (แบรนด์ร้านกาแฟพรีเมี่ยมของค่ายเอสแอนด์พี) เซกาเฟรโด ซาเนตติ เอสเพรสโซ (แบรนด์พรีเมี่ยมจากออสเตรเลียของกลุ่มไมเนอร์) กลอเรีย จีนส์ (นำเข้ามากลุ่มเซ็นทรัล) The Amazon Embrace ของ ปตท.ขยายตลาดอยู่ในศูนย์การค้าชั้นนำและเปิดขายแฟรนไชส์
แบรนด์ไนน์ตี้-โฟร์ กลับมารุกขยายสาขาอีกครั้ง หลังกลุ่มอโรม่าหมดสัญญาส่งเม็ดกาแฟคั่วกับ ปตท.หลังจากอีกครั้ง แบรนด์"อินทนิล พรีมิโอ้" ออกไปนอกปั๊มรุกตลาดห้างเช่นกัน "ซีพี ออลล์" เจ้าของ 7-11 ขอแจม เปิดร้านกาแฟพรีเมี่ยมสไตล์อิตาเลี่ยนแบรนด์ เบลลินี่ เบค แอนด์ บรู การขยายตัวของแบรนด์ บวกกับการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆ โดยเฉพาะแบรนด์ระดับพรีเมี่ยม เชื่อได้ว่าโอกาสของกาแฟสดในเมืองไทยยังไปได้สวย
กลับมาที่ตลาดกาแฟกลุ่ม SMEs ในตลาดยังมีธุรกิจร้านกาแฟรายย่อยอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะลงทุนในรูปแบบมุมกาแฟ (Corner/Kiosk) หรือรถเข็น (Cart) ที่ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่งออกและนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟ จะเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์และวัตถุดิบต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย เช่น อโรม่ากรุ๊ป ดังนั้นผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ เหล่านี้ จึงมีบริการให้คำปรึกษา สอนการทำกาแฟให้กับร้านกาแฟรายย่อยๆ เพื่อเป็นช่องทางจัดจำหน่ายอุปกรณ์กาแฟและเมล็ดกาแฟ
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังมีทางเลือกในการลงทุนร้านกาแฟสดในรูปของการซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์จากบริษัทแม่ หรือการเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทแบรนด์ใหญ่ๆ การเข้าร่วมลงทุนใน 2 ลักษณะนี้ ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาเงื่อนไขสัญญา แผนการตลาด รวมทั้งประวัติความเป็นมาของบริษัทอย่างรอบคอบ ทางที่ดี ผู้ลงทุนควรศึกษาจากหลายๆ แห่ง และนำมาเปรียบเทียบกันก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
"กระดาษ" ปลุกตลาดกาแฟถุงคึกคัก
ครึ่งปีหลังตลาดกาแฟโบราณครึกครื้นเป็นพิเศษ กาแฟโบราณ (อัดน้ำแข็ง) ถุงใหญ่ ใช้ยางรัดมัดปากถุง หิ้วกับบ้านพร้อมถุงกระดาษสีน้ำตาลดูคลาสสิค (ที่ว่ากันว่าช่วยเก็บรักษาความเย็น 5-6 ชั่วโมง) แบรนด์ต่างๆ กลายเป็นกระแสธุรกิจใหม่ของกาแฟโบราณที่ถ้าร้านไหนไม่มีถุงน้ำตาลวางพร้อมขายอยู่หน้าร้าน ถือว่าผิด!! มีหลายชื่อที่คุ้นหูเช่น ยกนิ้ว กาแฟถุงกระดาษ, โอ้โห โบราณจัง, เปิ่น กาแฟโบราณอู่ทอง, กาแฟถุงกระดาษ 3 สลึง, แฟ..โว้ย แฟ..ป่าว, เต็ม-ถุง กาแฟโบราณ, ชงดะ กาแฟโบราณ, เอ็นจอย กาแฟโบราณ ฯลฯ
ส่วนใครเป็นเจ้าของนวัตกรรมถุงกระดาษห่อกาแฟคนแรกไม่มีใครรู้ ว่ากันว่าจุดกำเนิดอยู่ที่เมืองกาญจน์แล้วขยายเข้าสู่กรุงเทพฯ และตอนนี้กำลังระบาดไปทั่วประเทศ ธุรกิจนี้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วนั้นเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำได้ไม่ยาก ลงทุนไม่สูงมากนัก เพียงแค่มีสูตรกาแฟและน้ำชงอื่นๆ ที่อร่อยอยู่แล้ว เพิ่มเติมแค่ถุงกระดาษ ซึ่งสามารถสั่งให้โรงงานผลิตถุงให้สกรีนชื่อร้านและกราฟิกได้ตามที่ต้องการ
ปัจจุบันมีแบรนด์กาแฟโบราณหุ้มถุงหลายยี่ห้อ กำลังแปลงวิกฤตเป็นโอกาส ขยายแฟรนไชส์อย่างรวดเร็ว "โอ้โห โบราณจัง" ร้านกาแฟถุงแห่งนี้สามารถขยายกิจการได้มากถึง 40 สาขา ภายในเวลาไม่ถึงปี "เพ็ญศิริ ม่วงงาม" เจ้าของแฟรนไชส์บอกว่า ยอดขายของร้าน 200 ถุงต่อวัน ยอดขายสูงสุด 800-900 ถุงต่อวันที่สาขาประตู้น้ำ ราคาขายถุงละ 25-30 บาท ผลตอบแทนที่ได้กาแฟโบราณสูงกว่ากาแฟสด อยู่ที่ 40% ในส่วนต้นทุนแพกเกจจิ้งถุงสีน้ำตาลอยู่ที่ใบละ 1.50 บาท แต่ถ้าสั่งเยอะต้นทุนก็จะถูกลงอีก ใครที่อยากร่วมธุรกิจ เธอเปิดสอนเฉพาะสูตรชงกาแฟ 15,000 บาท และขายกาแฟคั่วบดเท่านั้น
ถุงกระดาษ แฟ..โว้ย แฟ..ป่าว ที่เปิดขายแฟรนไชส์ โดยมีรูปแบบการลงทุน 2 รูปแบบ คือ ราคา 25,000 บาท ได้รับอุปกรณ์ วัตถุดิบพร้อมขายได้เลย และ ราคา 45,000 บาท ได้รับเคาน์เตอร์ อุปกรณ์ วัตถุดิบพร้อมขายได้เลย โดยเป็นการจ่ายขาดครั้งเดียวไม่มีเก็บค่าแฟรนไชส์รายปี แต่จะมีสัญญาในเรื่องของการซื้อวัตถุดิบกับเจ้าของแฟรนไชส์เท่านั้น
เปิ่น กาแฟโบราณอู่ทอง ลงทุนเพียง 25,000 บาท เปิดมาได้ 2 ปี ปัจจุบันมี 70 สาขา "วิวัฒน์ ใบบัว" เจ้าของแฟรนไชส์แจกแจงรายรับเฉลี่ยต่อร้านขายได้ประมาณ 250-300 ถุงต่อวัน ราคา 25 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 15 บาทต่อถุง กำไรอยู่ที่ถุงละ 10 บาท โดยเฉลี่ยต่อวันจะมีกำไร 2,500-3,000 บาท หากคิดเป็น ต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 50,000-80,000 บาทต่อเดือน (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่า ค่าแรง) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเลด้วย หากอยู่ในที่คนพลุกพล่าน อาจขายได้มากกว่า การันตีระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 1 เดือน
ธุรกิจนี้มันมี "โอกาส" อีกเยอะเลย ซึ่งโอกาสที่ว่านี้ ถ้าใครเจอเร็วและไปก่อนก็ได้เปรียบ!!