รู้จัก ตั๊น จิตภัสร์ ทายาทสิงห์สละสกุลภิรมย์ภักดี
ทำความรู้จัก ตั๊น จิตภัสร์ ผู้หญิงที่น่าจะติดทำเนียบคนดังที่สุดในปีนี้ ตั๊น จิตภัสร์ เป็นหนึ่งในทายาทสิงห์ แต่ล่าสุดเธอโดดลงมาทำงานการเมือง และมีข่าวว่าเพื่อไม่ให้กระทบกับองค์กรที่อยู่มานานนับร้อยปีอย่างสิงห์ เธอตัดสินใจสละสกุล "ภิรมย์ภักดี" โดยคาดว่าจะไปใช้นามสกุล "กฤดากร" ซึ่งเป็นนามสกุลเดิมของ หม่อมหลวงปิยาภัสร์ คุณแม่ของ ตั๊น จิตภัสร์
สำหรับประวัตินามสกุล "กฤดากร" นามสกุลเก่าของคุณแม่ของ น.ส.จิตภัสร์ ที่คาดว่าจะใช้นั้น วิกิพีเดีย ระบุว่า หม่อมหลวงปิยาภัสร์ มีนามเดิมหม่อมหลวงปิยาภัสร์ กฤดากร เป็นบุตรีของ หม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์ กฤดากร เป็นโอรสของหม่อมเจ้าเสริมสวาสดิ์ กฤดากร กับ หม่อมหลวงแส กฤดากร (สนิทวงศ์) นอกจากนี้ยังมีนามสกุล "รัตตกุล" ซึ่งเป็นนามสกุลเก่าของคุณแม่ นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี อีก 1 ทางเลือก ที่น.ส.จิตภัสร์ จะใช้แทนนามสกุล "ภิรมย์ภักดี"
ส่วน ตั๊น จิตภัสร์ สาวสวยคนนี้หอบหิ้วใบปริญญาจากคณะภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ กลับมาฝากคุณพ่อคุณแม่ได้สำเร็จ ตั๊น จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี เคยผ่านการฝึกงานตั้งแต่อายุแค่ 16 ปี จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างเช่นที่บริษัทโฆษณา Blue UIR Advertising, บริษัท Orange (True Move), Christian Dior ประเทศฝรั่งเศส และบริษัทโพลีพลัสเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ปัจจุบันทำงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ และมุ่งมั่นที่จะเป็นนักการเมืองหญิงคุณภาพของประเทศไทย
สำหรับประวัติตระกูลภิรมย์ภักดี เริ่มมาจาก พระภิรมย์ภักดี ( ชม เศรษฐบุตร ) กับ นางมา เศรษฐบุตร มีบุตรชายชื่อ พระยาภิรมย์ภักดี หรือ ( บุญรอด เศรษฐบุตร ) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ เบียร์สิงห์ และ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ( พ.ศ. 2476 )
พระยาภิรมย์ภักดี เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2415 ณ บ้านสะพานยาว วัดบพิตรพิมุข ( เชิงเลน ) ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบล จักรวรรดิ อำเภอ สัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อยังเด็ก เรียนหนังสือกับบิดา พออายุได้ 11 ปี เรียนกับพระอาจารย์เนียม วัดเชิงเลนได้ปีเศษ ก็ได้ฝึกหัดวาดเขียนที่บ้านหลวงฤทธิ์ฯ เรียนภาษาอังกฤษกับ ท่าน หมอ.เอ.ยี.แมคฟาแลนด์ ที่โรงเรียนหลวงสวนอนันต์ เรียนได้ 2 ปี ก็ย้ายโรงเรียนมาที่สุนันทาลัย สอบได้ที่ 1 ในทุกวิชาของโรงเรียน และได้มาเป็นครูสอนในปีพ.ศ. 2433 ของโรงเรียนเดียวกัน และต่อมาได้มาทำประโยชน์ให้สังคม โดยมาเป็นครูสอนเด็กอนาถา
ในปี พ.ศ.2435 เจ้าพระยาภาสวงศ์ เสนาบดี ได้ทดลองให้ทำหน้าที่เลขานุการกระทรวงธรรมการ เมื่อจะลาออกครูใหญ่ไม่ให้ออก จึงตัดสินใจไม่เอาทั้ง 2 อย่าง จากนั้นทำงานเป็น เสมียนโต้ตอบจดหมายภาษาอังกฤษที่โรงเลื่อยของห้างกิมเซ่ง หลี และห้างเด็นนิมอตแอนด์ดิกซัน จนเห็นลู่ทางธุรกิจจึงมาเริ่มเป็นเจ้าของกิจการค้าไม้ เดินเรือ โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา และก่อตั้งโรงเบียร์แห่งแรกขึ้น แต่ในสมัยนั้น ยังไม่มีนโยบายเรื่องการจัดตั้งโรงงานผลิตเบียร์มาก่อน จึงยุติลงที่การอนุมัติโรงเบียร์แห่งแรกบนเนื้อที่ 9 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านบางกระบือ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกที่ 6 แสนบาท ( พ.ศ. 2477 )
พระยาภิรมย์ภักดีได้นำเอาเบียร์สดใส่ถัง ไปเปิดให้ผู้คนดื่มฟรีในงานสโมสร คณะราษฎร ปรากฏว่าเป็นที่พอใจยิ่งนัก ข่าวได้แพร่สะพัดออกไป มีลูกค้าจับจองสินค้าออกสู่ตลาด จนได้จำหน่ายเบียร์รุ่นแรกเมื่อ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 มีตรายี่ห้อต่าง ๆ กัน ทั้งตราว่าว ตราพระปรางค์ ตรากุญแจ ตรารถไฟ ตราหมี ปรากฏว่าเบียร์ตราสิงห์ได้รับความนิยมมากที่สุด ต่อมาจึงค่อยๆ หยุดผลิตยี่ห้ออื่นไป จนเหลือเพียงเบียร์สิงห์
ท่านมีความรู้ความสามารถ แต่งตำราการคิดคำนวณ หน้าไม้สำเร็จรูป แต่งตำราว่าวพนัน ได้โปรดเกล้าเป็นนายเรือตรี ร.น. เสือป่าและกัปตันเรือเดินทะเล ได้เป็นกรรมการสโมสร และสนาม และยังบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอย่างเช่น ได้ถวายตัวเป็นสมาชิกเสือป่า สร้างศาลาท่าน้ำ สร้างกระโจมแตรในสวนลุมพินี สร้างโรงเรียนอนาถา เป็นต้น ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นหลวงภิรมย์ภักดี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยชั้น ที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และได้เปลี่ยนเป็น พระภิรมย์ภักดี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2467 และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภิรมย์ภักดี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2467 พระยาภิรมย์ภักดี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2493 ( Credit : Wikipedia )
อัลบั้มภาพ 89 ภาพ