กกพ.มีมติปรับขึ้นค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย.57 เพิ่มอีก 5 สต./หน่วย

กกพ.มีมติปรับขึ้นค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย.57 เพิ่มอีก 5 สต./หน่วย

กกพ.มีมติปรับขึ้นค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย.57 เพิ่มอีก 5 สต./หน่วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยผลประชุมพิจารณาการประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ(Ft) สำหรับการเรียกเก็บในเดือน ม.ค.-เม.ย.57 ว่า ที่ประชุมฯ มีมติให้เก็บค่า Ft งวดเดือนมกราคม - เมษายน 2557 เพิ่มขึ้นเพียง 5.00 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น ค่า Ft งวดนี้จึงเท่ากับ 59.00 สตางค์ต่อหน่วย

"ที่ประชุมได้พิจารณาผลการคำนวณค่า Ft ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.57 ในอัตรา 60.99 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับค่า Ft ที่ได้เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดที่ผ่านมาจำนวน 54 สตางค์ต่อหน่วย หากจัดเก็บเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่คำนวณได้ค่า Ft จะเพิ่มขึ้นจำนวน 6.99 สตางค์ต่อหน่วย กกพ.ได้พิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้าแล้ว จึงมีมติให้เก็บค่า Ft งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2557 เพิ่มขึ้นเพียง 5.00 สตางค์ต่อหน่วย" นายดิเรก กล่าว

ทั้งนี้ กกพ.ได้พิจารณานำเงินค่าปรับที่ได้จากการขาดส่งฯ ก๊าซแหล่งเยตากุน จำนวน 130.39 ล้านบาท มาช่วยชดเชยเพื่อให้ภาระ Ft ของประชาชนลดลงได้ส่วนหนึ่ง และให้ กฟผ.รับภาระในส่วนที่เหลือเป็นการชั่วคราวไปก่อนประมาณ 939.48 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนผู้ใช้ไฟมากเกินไป

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับค่า Ft ในงวดนี้มาจากความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 58,742 ล้านหน่วย เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2556 รวมทั้งการเตรียมรองรับเหตุการณ์หยุดจ่ายก๊าซฯ พม่า และการหยุดจ่ายก๊าซจากอ่าวไทย จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล อย่างเต็มที่ เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคกลาง และเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากการอ่อนค่าลงของเงินบาท ซึ่งเป็นผลจากการประกาศแผนลดขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ

โดยปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสำหรับค่า Ft งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.57 ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อ่อนค่าลง 0.97 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยอ่อนค่าจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 31.24 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยนที่คำนวณค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค. 56) มาเป็น 32.21 บาทต่อเหรียญสหรัฐ(อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 27 พ.ย. 56 ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คำนวณต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 57),

การผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันเตา เพิ่มขึ้น 262.01 ล้านหน่วย จาก 474.57 ล้านหน่วย เป็น 736.58 ล้านหน่วย เพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่ลดลงจากการหยุดจ่ายก๊าซฯ จากแหล่งเยตากุน และแหล่งบงกช ในช่วงเดือนมกราคม และเมษายน 2557 ขณะที่ราคาน้ำมันเตาเฉลี่ยลดลง 0.08 บาทต่อลิตร จาก 22.94 บาทต่อลิตร เป็น 22.86 บาทต่อลิตร,

การผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 36.52 ล้านหน่วย จาก 61.48 ล้านหน่วย เป็น 98.00 ล้านหน่วย เพื่อทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่ลดลงจากกรณีการหยุดจ่ายก๊าซฯ ในช่วงเดือนมกราคม และเมษายน 2557 ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.17 บาทต่อลิตร จาก 26.66 บาทต่อลิตร เป็น 28.83 บาทต่อลิตร

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติ ลดลง 1,123.07 ล้านหน่วย จาก 39,775.98 ล้านหน่วย เป็น 38,652.91 ล้านหน่วย ซึ่งเป็นผลจากการหยุดผลิตก๊าซฯ ของแหล่งเยตากุน ในช่วงระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2556-14 มกราคม 2557 รวมทั้งการหยุดผลิตก๊าซฯ จากแหล่งบงกช ในระหว่างวันที่ 10 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2557 ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.34 บาทต่อล้านบีทียู จาก 315.07 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 320.41 บาทต่อล้านบีทียู

ส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้น 911.98 ล้านหน่วย จาก 4,698.61 ล้านหน่วย เป็น 5,610.59 ล้านหน่วย ตามความต้องการใช้ปกติ หลังจากที่ได้หยุดบำรุงรักษาในช่วงปลายปี 2556 ขณะที่ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยลดลง 155.52 บาทต่อตัน จาก 2,958.60 บาทต่อตัน เป็น 2,803.08 บาทต่อตัน

นายดิเรกกล่าวว่า จากมติ กกพ.ดังกล่าว สำนักงาน กกพ.จะเผยแพร่รายละเอียดทั้งหมดผ่านทาง www.erc.or.th เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.56 ถึงวันที่ 8 ม.ค.57 ก่อนที่จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาพิจารณาและให้การไฟฟ้าประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่า Ft สำหรับเรียกเก็บในรอบดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook