กกร.แถลงจุดยืน3ข้อปมการเมืองค้านความรุนแรง

กกร.แถลงจุดยืน3ข้อปมการเมืองค้านความรุนแรง

กกร.แถลงจุดยืน3ข้อปมการเมืองค้านความรุนแรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน แถลงจุดยืน 3 ข้อต่อสถานการณ์การเมือง ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ พร้อมห่วงปิดกรุงฯ กระทบวิถีชีวิตคน

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วม กกร.ว่า ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวในระยะสั้น เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่ยังมีปัญหาจากปัจจัยภายนอกประเทศ แม้ว่าขณะนี้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ในส่วนของการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นภาคเอกชนจึงเตรียมปรับแผนการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ รวมถึงการบุกตลาดใหม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้นำในการหาตลาด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ และนำเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเข้ามาช่วยลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด

ส่วนเรื่องการปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค. ตามที่กลุ่ม กปปส.ได้ประกาศ นั้น 7 องค์กรเอกชน มีความเป็นห่วงกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ภาคเอกชนได้เตือนให้แต่ละองค์กรเตรียมแนวทางการปฏิบัติงานให้มีความเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ไม่ให้การดำเนินธุรกิจสะดุด รวมถึงภายใน 1 - 2 วันนี้ กกร.และ 7 องค์กรภาคเอกชนจะเชิญทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ศาลรัฐธรรมนูญ เครือข่ายภาคสังคม และพรรคการเมืองต่างๆ หันหน้าเจรจากันเพื่อจะระดมความคิดเห็นหาทางออกของประเทศ โดยจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด

กกร.แถลงจุดยืน 3 ข้อปมการเมืองค้านใช้ความรุนแรง

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวแถลงจุดยืนของคณะกรรมการร่วม
ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า (1) กกร.ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ (2) กกร.อยากเห็นการแก้ไขความขัดแย้ง และการหาทางออกจากวิกฤติทางการเมืองด้วยสันติวิธีโดยเร็วที่สุดบนพื้นฐานของประโยชน์ของชาติตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ(3)กกร.มีความกังวลว่าความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 ม.ค.นี้ จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อย รวมทั้งผู้ที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงภารกิจในการเดินทางในพื้นที่เสี่ยง เช่น นักเรียน นักศึกษา ผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล คนทำงานและประชาชนโดยทั่วไป จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้คำนึงถึงผลกระทบข้างเคียงนี้ด้วย

นอกจากนี้ นายพยุงศักดิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามการประเมินคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศของสถาบันต่างๆ ซี่งประเมินแตกต่างกัน โดยขณะนี้มีการประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ประมาณ ร้อยละ 3-4 นั้น หากเศรษฐกิจไทย ถูกผลกระทบโตลดลงร้อยละ 1 ก็จะคิดเป็นมูลค่า 120,000 ล้านบาท

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook