ใครบ้างต้องยื่นแบบเสียภาษี
หลายๆ คนเมื่อมีรายได้จะกังวลว่า จะต้องยื่นภาษีหรือไม่? จะถือเป็นเงินได้หรือเปล่า? แล้วใครบ้างจะต้องเสียภาษี? บุคคลที่ต้องเสียภาษีตามความหมายทางภาษี มี 4 ประเภท คือ
1. บุคคลธรรมดา คือ บุคคลใดก็ได้ที่มีเงินได้ทั่วๆ ไปทั้งปี มากกว่า 30,000 บาท (กรณีโสด) และ มากกว่า 60,000 บาท (กรณีสมรส) ต้องยื่นแบบ ภงด. ส่วนกรณีที่มีรายได้จากเงินเดือน (เฉพาะเงินได้ตาม ม.40(1)) ตั้งแต่ 4,167 บาทต่อเดือนขึ้นไป หรือ ตั้งแต่ 50,000 บาทต่อปี (กรณีโสด) และ ตั้งแต่ 8,334 บาทต่อเดือนขึ้นไป หรือ ตั้งแต่ 100,000 บาท (กรณีสมรส) ถือว่ามีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภงด. ถึงแม้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม
2. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี กล่าวคือ กรณีที่ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในปีภาษีนั้น ทายาทหรือ ผู้จัดการมรดก มีหน้าที่ยื่นแบบ ภงด. ตามเงินได้ทั้งปีภาษี ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. มีบ้านให้เช่า (มีรายได้จากค่าเช่า) โดยเซ็นสัญญาเช่าไว้ทั้งปี 2554 ต่อมาในเดือน พ.ค. 54 นาย ก. ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 55 ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนาย ก. จะมีหน้าที่ยื่นแบบ ภงด. โดยประเมินเงินได้ทั้งปีภาษี 2554 (ม.ค.-ธ.ค. 54)
3. กองมรดก กล่าวคือ เป็นกรณีที่ผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายในปีภาษีก่อนหน้า และยังไม่ได้จัดการมรดก ดังนั้น ในปีภาษีนี้จะต้องยื่นแบบในนาม กองมรดกของ นาย ก. และนำเงินได้ทั้งปี โดยทายาทหรือผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีจากเงินได้ทั้งปี ทั้งนี้ เกณฑ์ในการยื่นแบบ ภงด. กองมรดกนั้น มีเงินได้ทั้งปี ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป
4.คณะบุคคล / ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิใช่นิติบุคคล คณะบุคคล ถือเป็นอีก 1 หน่วยภาษี กล่าวคือ ไม่ถือเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ หากถือเป็นบุคคลในทางภาษี (โดยไม่จำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์แบ่งเป็นผลกำไรที่พึงได้จากกิจการที่กระทำร่วมกัน) ซึ่งมักจะเป็นช่องทางในการวางแผนภาษี คณะบุคคลจะคำนวณภาษีเงินได้เหมือนกับบุคคลธรรมดา และ สามารถหักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคณะบุคคล (คล้ายๆ กับค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท กรณีบุคคลธรรมดา) สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิได้จดทะเบียน ลักษณะจะคล้ายๆ กับคณะบุคคล โดยทั้งคณะบุคคล หรือ ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มิใช่นิติบุคคล ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภงด.เงินได้ประเภทใดต้องเสียภาษี
เงินได้ประเภทใดต้องเสียภาษี
ในทางภาษีนั้น เงินได้จะแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ตามต้นทุนของแรงในการทำงาน กล่าวคือ เงินได้ประเภทใดต้องมีต้นทุนสูง จะหักค่าใช้จ่ายได้มาก ส่วนเงินได้ประเภทที่มีต้นทุนน้อย ก็จะหักค่าใช้จ่ายได้น้อย มีรายละเอียดดังนี้
เงินได้ประเภทที่ 1 : เงินได้จากการจ้างงาน เช่น เงินเดือน, ค่าล่วงเวลา, ค่าเบี้ยเลี้ยง, โบนัส เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้เป็นลักษณะเหมาจ่าย
เงินได้ประเภทที่ 2 : เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่าธรรมเนียม, ค่านายหน้า, เบี้ยประชุม เป็นต้น (แตกต่างจากประเภทที่ 1 คือ ประเภทที่ 2 เน้นความสำเร็จของงาน กล่าวคือ งานที่ตกลงทำต้องทำเสร็จจึงจะได้รับเงินได้ เป็นต้น) สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้เป็นลักษณะเหมาจ่าย
เงินได้ประเภทที่ 3 : เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์, ค่ากู๊ดวิลล์ สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้เป็นลักษณะเหมาจ่าย
เงินได้ประเภทที่ 4 : เงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก, เงินปันผล สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้เป็นลักษณะเหมาจ่าย
เงินได้ประเภทที่ 5 : เงินได้จากค่าเช่าทรัพย์สิน, ผิดสัญญาเช่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้ จะมีทั้งลักษณะเหมาจ่าย และ ลักษณะตามที่จ่ายจริง
เงินได้ประเภทที่ 6 : เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น หมอ, นักบัญชี, นักกฎหมาย,สถาปนิก,วิศวกร เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้ จะมีทั้งลักษณะเหมาจ่าย และ ลักษณะตามที่จ่ายจริง
เงินได้ประเภทที่ 7 : เงินได้จากการรับเหมา (มีการเตรียมจัดหาสัมภาระในการก่อสร้างเอง) สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้ จะมีทั้งลักษณะเหมาจ่าย และ ลักษณะตามที่จ่ายจริง
เงินได้ประเภทที่ 8 : เงินได้จากการธุรกิจ, การพาณิชย์, เกษตรกรรม หรือ อื่นๆ ที่ไม่เข้าเกณฑ์เงินได้ประเภทที่ 1-7 สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้หักได้ จะมีทั้งลักษณะเหมาจ่าย และ ลักษณะตามที่จ่ายจริง
โดยการวางแผนภาษีที่เกี่ยวกับประเภทเงินได้ หากประเภทของเงินได้มีลักษณะใกล้เคียงกัน จะเลือกประเภทเงินได้ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายสูง เพื่อลดภาระภาษี
ขอบคุณข้อมูลจาก http://k-expert.askkbank.com/