'อดีตขุนคลัง'ชี้มติป.ป.ช.จำนำข้าว ตอกย้ำไทยต้องปฏิรูป

'อดีตขุนคลัง'ชี้มติป.ป.ช.จำนำข้าว ตอกย้ำไทยต้องปฏิรูป

'อดีตขุนคลัง'ชี้มติป.ป.ช.จำนำข้าว ตอกย้ำไทยต้องปฏิรูป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ 16 ม.ค.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง  "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1" ก่อนถูกปรับพ้นตำแหน่งเพราะค้านนโยบายของรัฐบาล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวที่"Thirachai Phuvanatnaranubala"เกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งข้อกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ กรณีขายข้าวแบบจีทูจีกับรัฐบาลจีนแต่ไม่มีการส่งมอบจริง และให้ไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว โดยนายธีระชัย อดีต รมว.คลัง เขียนข้อความระบุว่า

มติ ป.ป.ช. เรื่องจำนำข้าว ตอกย้ำว่า จำเป็นต้องเร่งการปฎิรูป

- ในวันนี้ ป.ป.ช. ได้มีมติ (ก) แจ้งข้อกล่าวหา นายบุญทรง นายภูมิ และเจ้าหน้าที่ กรณีอาจจะมีการทุจริตในการขายข้าวแบบ G to G และ (ข) ให้มีการไต่สวนนายกยิ่งลักษณ์

- ทางทีวี ไทย พีบีเอส ได้สัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจึงขอนำมาเล่าให้ผู้อ่านรับทราบ โดยเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ ในการมองเรื่องปฏิรูป

- ผมเห็นว่า มติของ ป.ป.ช. จะส่งผลเป็นลบอย่างหนัก ต่อชื่อเสียงและความชอบธรรมของนายกยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

- ในชั้นแรก เป็นการตอกย้ำ ยืนยัน ว่าโครงการจำนำข้าว มีความเสี่ยงทุจริต อย่างน้อยที่พบขณะนี้ คือในขบวนการขาย

- และการที่มีบุคคลใน ครม. ที่อาจจะเข้าข่ายกระทำความผิด ก็เป็นการสะท้อนว่า นายกยิ่งลักษณ์ไม่ได้เอาใจใส่ ในการกำกับดูแลบุคคลใน ครม. เพื่อป้องปรามการทุจริตเท่าที่ควร

- ในชั้นที่สอง การที่ ป.ป.ช. ให้มีการไต่สวนนายกยิ่งลักษณ์ดัวยนั้น เป็นการส่งผลลบต่อตัวนายก เป็นการเฉพาะตัว

- เหตุใดจึงส่งผลลบ ต่อนายกยิ่งลักษณ์

- โดยทั่วไปนั้น กรณีหากจะมีบุคคลใด ในแวดวงราชการ ที่กระทำการทุจริต ทาง ป.ป.ช. ก็ชอบที่จะลงโทษเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวขัอง

- และหากเห็นว่าการทุจริตดังกล่าว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น จากความโลภต่อทรัพย์ของแผ่นดิน โดยบุคคลระดับล่าง ก็จะไม่มีเหตุผลใด ที่ ป.ป.ช. จะต้องไต่สวนเพื่อพิจารณาลงโทษนายกรัฐมนตรี

- ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. มีมติให้มีการไต่สวนนายกยิ่งลักษณ์ ก็ต้องคาดเดาไว้ก่อน ว่า ป.ป.ช. เล็งเห็น ว่าอาจจะมีประเด็นที่เกี่ยวพันไปถึงตัวนายกยิ่งลักษณ์ได้

- ประเด็นที่อาจจะเกี่ยวพันดังกล่าว มีอย่างไร

- ผมเองไม่ทราบรายละเอียด และคิดว่าในระยะต่อไป คงจะมีนักวิเคราะห์วิจารณ์ที่สืบความประเด็นนี้มาเปิดเผย

- แต่สมมุติถ้าหาก ป.ป.ช. พิจารณา ว่าเรื่องการทุจริตกรณีใดก็ตาม ถ้าทำเป็นขบวนการ ที่มีการวางแผนล่วงหน้าไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ต้น หากมีการทำกันเป็นกลุ่ม ก็จะเข้าข่ายเป็นการสมคบคิดร่วมกันกระทำความผิด (conspiracy)

- เช่น สมมุติพรรคการเมือง มีความประสงค์จะทำการทุจริตในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็สามารถเริ่มต้น ด้วยการทำโครงการ ให้มีขั้นตอนรองรับการทุจริตดังกล่าว โดยทำขึ้นเป็นแผนงาน และประกาศเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง

- ต่อจากนั้น ภายหลังได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ดำเนินการตามแผนงานดังกล่าว แล้วก็เปิดให้มีการทุจริตกัน ในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใด

- ประเด็นที่ผมคาดว่าอนุกรรมการเพื่อไต่สวนนายกยิ่งลักษณ์จะสนใจนั้น จึงน่าจะเป็นคำถาม ว่าหากมีการทุจริตเกี่ยวกับการขายแบบ G to G การทุจริตดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าหรือไม่

- ผมคิดว่าคำถามทำนองนี้ จะเกิดขึ้นแก่ผู้วิเคราะห์ต่างประเทศด้วย และจะทำให้ผู้วิเคราะห์สากล ที่ติดตามการเมืองไทย ลดความน่าเชื่อถือลงไปด้วย

- แต่ที่สำคัญมากกว่า ก็คือเป็นการตอกย้ำ ว่าต้องเร่งรัดการปฎิรูปเพื่อป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการด่วนที่สุด

- เรื่องที่หนึ่ง ความผิดทุจริตคอร์รัปชั่นต้องไม่มีอายุความ

- เพราะการทุจริตกรณีนี้ เป็นเงินจำนวนมหาศาล

- แต่สำหรับผู้ที่รับเงินหลัก ผู้ที่ได้เงินไปส่วนใหญ่นั้น ป.ป.ช. อาจจะสาวไปไม่ถึง

- ผู้ที่รับเงินหลัก จึงอาจจะให้ความช่วยเหลือ แก่บุคคลที่รับหน้า ไม่ให้ต้องรับโทษ โดยให้หลบหนีออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ให้ไปอยู่อย่างสบาย แล้วค่อยกลับมาภายหลังหมดอายุความแล้ว

- ถ้าเป็นเช่นนี้ ขบวนการยุติธรรมของไทย ก็ไม่มีความหมาย

 

- เรื่องที่สอง ควรกำหนดนิยามการขายแบบ G to G ให้แคบ

- ขณะนี้ระเบียบในการขายข้าวนั้นมีอยู่ชัดเจนแล้ว คือต้องใช้วิธีการประมูลเสมอ เพื่อให้รัฐบาลได้รับเงินสูงสุดเท่าที่จะเป็นได้

- ระเบียบจะยกเว้นก็เฉพาะกรณีที่รัฐบาลขายให้แก่รัฐบาลอื่น แบบ G to G

- กรณีที่ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาแก่ นายบุญทรง ฯลฯ ก็น่าจะสืบเนื่อง จากเห็นว่าการขายดังกล่าว ถึงแม้รูปแบบจะพยายาม ทำให้ดูเสมือนเป็นการขายแบบ G to G แต่ในเนื้อหาทางเศรษฐกิจ น่าจะไม่ใช่

- อย่างไรก็ดี การลงโทษภายหลังนั้น เป็นการเดินตามหลัง ความเสียหายได้เกิดขึ้นไปเสียก่อนแล้ว

- ผมจึงเห็นว่า ในขบวนการปฏิรูป ควรจะกำหนดลักษณะและนิยามการขายแบบ G to G ให้แคบและชัดเจน เพื่อป้องปรามการทุจริตเอาไว้ ก่อนที่จะเกิดขึ้น

 

- เรื่องที่สาม ควรห้ามมิให้รัฐบาล เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการตลาดสินค้าใดๆ อีก

- เนื่องจากการที่รัฐบาลเข้าไปเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าเกษตรนั้น สร้างปัญหาและความเสี่ยงการทุจริตอย่างมาก จึงถึงเวลาแล้ว ที่ขบวนการปฏิรูป ต้องกำหนดห้ามมิให้รัฐบาลใดในอนาคต เข้าไปเป็นเจ้าของสินค้าเองได้อีก

- ทั้งนี้ หากรัฐบาลในอนาคต เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือ อุดหนุนเกษตรกรบางแขนง บางอาชีพ และเป็นสิงที่สังคมยอมรับ ก็ควรใช้วิธีจ่ายตรงแก่เกษตรกร ผ่านบัญชี ธกส. ซึ่งจะป้องกันปัญหาทุจริตได้ดีกว่าอย่างมาก

- ผมหวังว่าเรื่องทุจริตในการแทรกแซงสินค้าเกษตร ควรจะยุติกันได้เสียทีแล้ว

- และการปฏิรูปเพื่อป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุด

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ 'อดีตขุนคลัง'ชี้มติป.ป.ช.จำนำข้าว ตอกย้ำไทยต้องปฏิรูป

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook