จับสัญญาณ'ห้างกลางเมือง'เมื่อกรุงเทพฯ'ชัตดาวน์'

จับสัญญาณ'ห้างกลางเมือง'เมื่อกรุงเทพฯ'ชัตดาวน์'

จับสัญญาณ'ห้างกลางเมือง'เมื่อกรุงเทพฯ'ชัตดาวน์'
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่มีใครปฏิเสธว่าตลอดเส้นถนนแยกปทุมวัน สุขุมวิท-สีลม คือหัวใจสำคัญและแลนด์มาร์กของธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของเมืองกรุง และตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ย่านธุรกิจกลางกรุงดังกล่าวได้เพิ่มบทบาทของการเป็นจุดที่สะท้อนภาพทางการเมืองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ "ราชประสงค์" ที่ทุกครั้ง

มีการชุมนุมทางการเมืองก็ได้กลายเป็นจุดนัดพบหลัก และกลายเป็นจุดสัญลักษณ์ทางการเมืองไปโดยปริยาย

และทันทีที่ม็อบ "กปปส." ที่มี "ลุงกำนัน-สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นแกนนำ ประกาศเปิดศึกครั้งใหญ่ในวันที่ 13 มกราคม 2557 "ชัตดาวน์กรุงเทพฯ" ที่พุ่งเป้าการชุมนุมไปที่สี่แยกหลัก ๆ 

ในเมืองหลวง อาทิ ปทุมวัน ราชประสงค์ อโศก เป็นต้น ผู้ประกอบการล้วนต่างจับตา และมีอีเวนต์ทางการตลาดหลาย ๆ อย่างที่ต้องตัดสินใจเลื่อนการจัดงานออกไปก่อน เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ และไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์จะยืดเยื้อแค่ไหน

ปกติแล้วในช่วงเดือนมกราคมของทุกปีถือเป็นช่วงพีกของธุรกิจ "อีเวนต์มาร์เก็ตติ้ง" ที่สำคัญเป็นช่วงเดือนที่มีเทศกาลลากยาว ทั้งปีใหม่ ตรุษจีน และวาเลนไทน์ ทำให้ช่วง 1-2 เดือนแรกของทุกปีจะคึกคักเป็นพิเศษ 

แต่สำหรับมกราคมปีนี้กลับพบว่า ออร์แกไนเซอร์หลายรายต้องเลื่อนการจัดอีเวนต์ออกไปกว่า 10 งานในช่วงสัปดาห์ปิดกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม สำหรับศูนย์การค้าใจกลางเมืองตั้งแต่สี่แยกปทุมวัน เริ่มจากสยามดิสคัฟเวอรี่, สยามเซ็นเตอร์, สยามพารากอน และเกษร เลยไปถึงเซ็นทรัล ชิดลม ต่างยังคงประกาศยืนยันที่จะเปิดให้บริการตามปกติ แต่ได้เลื่อนเวลาปิดเร็วขึ้นเป็น 10.00-20.00 น. ขณะที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่ประกาศเลื่อนรอบ 2 โดยเปิดในเวลา 12.00-20.00 น. ในวันที่ 13 มกราคม เนื่องจากพนักงานไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ทัน

"บุษบา จิราธิวัฒน์" ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวว่า หากเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ววัน ธุรกิจค้าปลีกทั้งปีนี้จะมีทิศทางการเติบโตที่ดี อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจากันอย่างปราศจากอคติ และหากใช้เหตุผลเป็นสิ่งชี้นำไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม ด้วยการยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักสำคัญ เมืองไทยก็จะสามารถพัฒนาก้าวไกลและสามารถไปถึงจุดผู้นำของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างภาคภูมิใจ

แต่โจทย์สำคัญของผู้ค้าปลีก คือ กำลังซื้อที่ซบเซาต่อเนื่องจากภาวะการเมืองที่ลากยาวข้ามปี และยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงในเร็ววัน ทำให้ผู้ค้าปลีกทุกค่ายต่างจะต้องระดมสรรพวิชาการตลาดมาใช้ด้วยการส่งเสริมการขายหลากหลายเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย และช่วงชิงยอดขายมาตุนในกระเป๋าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายที่เป็นหน้าขายสำคัญ แต่ภาพรวมค้าปลีกไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีปัจจัยมาจากปัญหาการเมืองที่ไม่มีความชัดเจน และส่งผลกระทบต่อบรรยากาศและอารมณ์การจับจ่าย ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย บวกกับนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่หายไป ขณะที่ลูกค้ากระเป๋าหนักหันไปช็อปต่างประเทศ 

ล่าสุดจากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่ชัดเจน และส่อเค้าว่าจะลากยาว ผู้ประกอบการค้าปลีกที่เป็นสมาชิกล้วนต่างเตรียมพร้อมมาตรการรองรับต่อสถานการณ์ อาทิ เตรียมแผนสำรองสินค้าอุปโภคบริโภค, แผนงานด้าน Logistic สินค้า และพนักงาน, การอำนวยความสะดวกเส้นทางเดินรถแก่ลูกค้า รวมถึงด้านอาคารสถานที่ ความพร้อมกล้อง CCTV, อัตรากำลังเจ้าหน้าที่, มาตรการรองรับเหตุรุนแรง, การตรวจเข้มจากรถและผู้เข้าใช้บริการภายในศูนย์การค้า พร้อมกันนี้สมาชิกยังให้มีความร่วมมือกันในแง่ของการประเมินสถานการณ์ร่วมกัน

"สมาคมอยากให้ภาครัฐและผู้ชุมนุมหันหน้าเจรจากัน รับฟังข้อเสนอแนะของแต่ละฝ่ายเพื่อหาจุดร่วม โดยยึดผลประโยชน์และความสงบสุขของประเทศชาติเป็นหลักสำคัญ ภาคเอกชนต้องการเห็นการเมือง นักการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายบริหารประเทศ ทำหน้าที่บริหารงานโดยยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลักสำคัญ หากประเทศกลับเข้าสู่ภาวะสงบสุข ภาคเอกชน

พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน เพื่อนำพาความเจริญและความสุขมาสู่ประชาชนและประเทศ" ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยย้ำ

ด้าน "ศักดิ์ชัย เก่งกิจโกศล" กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ฉายภาพว่า ในช่วงชุมนุมอาจมีอุปสรรคบ้างในเรื่องของการดูแลพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ตัวศูนย์ แต่ศูนย์ยังคงยืนยันเปิดให้บริการตามปกติถึงในช่วงเวลา 22.00 น. และขอพิจารณาตามสถานการณ์ สัดส่วนลูกค้าต่างชาติลดลงแต่ลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้น

"ยังไม่สามารถประเมินได้ เพราะการชุมนุมเพิ่งเกิดขึ้นเป็นวันแรก คงต้องเฝ้าจับตาสถานการณ์การชุมนุมว่าจะลงเอยในรูปแบบไหน และยืดเยื้อหรือเร็ววัน"

สอดคล้องกับผู้บริหารบริษัทออร์แกไนเซอร์ฉายภาพว่า จากปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต้องเลื่อนการจัดงานในช่วงเดือนมกราคมออกไปรวม 10 งาน ส่วนใหญ่เป็นมาร์เก็ตติ้งอีเวนต์เปิดตัวสินค้าใหม่เป็นหลัก โดยเบื้องต้นยังไม่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจเพราะงานดังกล่าวแค่ถูกเลื่อนออกไปเท่านั้น ไม่ได้ยกเลิก เชื่อว่าถ้าสถานการณ์การเมืองจบทุกอย่างก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

ขณะนี้งานอีเวนต์ของสินค้าที่เลื่อนออกไปต่างตั้งความหวังว่าทุกอย่างจะมีข้อยุติในไม่ช้า และจะสามารถกลับมาจัดอีเวนต์ได้อีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมนี้

อย่างไรก็ตาม อานิสงส์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจ จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่า ตลอดวันที่ 13 มกราคมซึ่งเป็นวันชุมนุมวันแรก ศูนย์การค้าต่าง ๆ ในใจกลางเมืองมีผู้ชุมนุมเข้ามาใช้บริการคึกคัก โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารที่คึกคักกว่าปกติ อาทิ แมคโดนัลด์ที่บิ๊กซี ราชดำริ ซึ่งอยู่ด้านหน้าห้าง โดยแมคโดนัลด์มีสาขาที่อยู่บริเวณห้างใจกลางเมืองแยกปทุมวันและแยกราชประสงค์รวม 6 สาขา 

"ไพศาล อ่าวสถาพร" รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทมีร้านอาหารที่อยู่ในเขตชุมนุมรวมกันแล้ว 4 สาขา เฉพาะร้านที่อยู่ใจกลางเมืองมีประมาณ 10 สาขา ซึ่งพบว่ามีผู้บริโภคที่มาร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาใช้บริการกันอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะในช่วงเที่ยงที่ผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายใช้สอย รับประทานอาหารกลางวัน พบว่าลูกค้าเพิ่มขึ้น 20% 

อย่างไรก็ตาม ยังประเมินได้ยากว่าทราฟฟิกยังแน่นเหมือนวันที่ 13 มกราคมต่อเนื่องไปอีกกี่วัน ทั้งนี้ต้องประเมินช่วงเย็นของวันที่ 13 มกราคมอีกครั้ง เชื่อว่าจะรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอ โดยปรับแผนการขนส่งสินค้าไปช่วงตอนกลางคืนตี 2-ตี 3 

"ลูกค้าที่เข้ามาเป็นคนที่มาม็อบเกือบ 100% ตอนนี้ร้านอาหารในห้างที่บริเวณการชุมนุมนั้นแน่นเกือบทุกร้าน ถือเป็นอานิสงส์ให้กับธุรกิจเล็กน้อย คาดว่าจะส่งผลดีต่อยอดขายเดือนมกราคมเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จากทั้งปีตั้งเป้าโต 21%"

อย่างน้อยก็ถือเป็น "อานิสงส์" เล็ก ๆ ของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธุรกิจต้องการร่วมกันทั้งหมดคือ ให้สถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย และกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook