ทำความรู้จัก 3 "เถ้าแก่ไฮเทค" ขี่คลื่นดิจิทัลใช้ "ไอ(ซี)ที" ปั้นธุรกิจ

ทำความรู้จัก 3 "เถ้าแก่ไฮเทค" ขี่คลื่นดิจิทัลใช้ "ไอ(ซี)ที" ปั้นธุรกิจ

ทำความรู้จัก 3 "เถ้าแก่ไฮเทค" ขี่คลื่นดิจิทัลใช้ "ไอ(ซี)ที" ปั้นธุรกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทั้งค่ายมือถือและหลายหน่วยงานภาครัฐขยับมาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนส่งเสริมบรรดาสตาร์ตอัพสัญชาติไทยให้พัฒนาฝีมือต่อยอดผลงานสร้างโอกาสในธุรกิจไอซีทีไทย ทำให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ใช้ "ไอที" เป็นเครื่องมือสร้างโอกาสใหม่ และใช้ความเชี่ยวชาญด้านไอ(ซี)ที สร้างธุรกิจขึ้นมา

"พวงหรีด" ออนไลน์

ใครจะนึกว่า "พวงหรีด" พุ่มดอกไม้สัญลักษณ์แห่งการแสดงความเสียใจจะกลายเป็นสินค้าบนโลกออนไลน์

"พณัฐ จงภักดี" เว็บมาสเตอร์ และผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิคโทรคมนาคม และโทรศัพท์ จำกัด เจ้าของเว็บไซต์มีสติดอทคอม (mesati.com) เล่าว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจจำหน่ายพวงหรีดออนไลน์มาจากช่วงที่ญาติเสียชีวิตและต้องการสั่งพวงหรีดผ่านเว็บไซต์ แต่พบว่าร้านมักไม่มีใบกำกับภาษี ทั้งการชำระเงินยังไม่ได้เป็นรูปแบบอีคอมเมิร์ซเต็มตัว ขณะที่บริษัทอยู่ในธุรกิจตู้สาขาโทรศัพท์และการสื่อสารมากว่า 20 ปีแล้ว ทำให้มีช่องทางการติดต่อกับบริษัทอื่น ๆ จึงคิดว่ามีความสามารถทำธุรกิจพวงหรีดออนไลน์ได้ ปัจจุบันเปิดบริการมาเกือบ 2 ปีแล้ว

จุดเด่นของพวงหรีดออนไลน์บน "มีสติดอทคอม" คือการออกแบบป้ายให้ลูกค้าโดยใส่เครื่องหมายการค้าของบริษัทลูกค้าเข้าไปด้วย จากนั้นจะส่งให้ร้านทำพวงหรีดในเครือข่ายที่มีกว่า 100 ราย

ทั่วประเทศไทยเป็นผู้จัดทำ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็จะส่งภาพถ่ายผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าพร้อมใบกำกับภาษี โดยกระบวนการชำระเงินทั้งหมดทำผ่านเว็บไซต์ 100% (ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต)

"เราช่วยสร้างแบรนด์ลูกค้าผ่านพวงหรีด ปัจจุบันมีลูกค้าเป็นองค์กรเอกชน 70% หน่วยงานราชการ 15% คนทั่วไป 15% ราคาเฉลี่ยที่ลูกค้านิยมสั่งจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท รายได้ของเว็บไซต์มาจากค่านายหน้าในการติดต่อกับร้านทำพวงหรีด ปีที่แล้วมีรายได้ประมาณ 1 ล้านบาท กำไร 50% ปีนี้คาดว่ารายได้น่าจะโตขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาท โดยมูลค่ารวมของตลาดพวงหรีดในไทยน่าจะอยู่ที่ปีละ 500 ล้านบาท"

"พณัฐ" บอกอีกว่า กำลังต่อยอดธุรกิจด้วยการปรับจุดยืนเป็นออร์แกไนเซอร์งานศพครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากโรงพยาบาล, จองศาลา, จัดดอกไม้ และอื่น ๆ เพราะยังไม่ค่อยมีออร์แกไนเซอร์งานศพครบวงจรที่ให้ลูกค้าชำระเงินผ่านเว็บไซต์

"คงอีก 1-2 ปี ในการขยับขึ้นไปเป็นออร์แกไนเซอร์งานศพออนไลน์ แต่เริ่มเพิ่มบริการประกาศรายละเอียดงานศพบนเว็บไซต์แล้ว มีบริการจัดหาเต็นท์, เรือลอยอังคาร และจัดดอกไม้ด้วย กลางปีนี้จะเปิดตัวแอปสั่งซื้อพวงหรีดผ่านมือถือทั้งไอโอเอส, แอนดรอยด์ และวินโดวส์โฟน"

นับเป็นการต่อยอดสร้าง "ธุรกิจ" จากประสบการณ์ตรงส่วนตัวของจริง ทีนี้ลองมาฟังธุรกิจที่เริ่มจากความเชี่ยวชาญบ้าง

โฮมออโตเมชั่นสัญชาติไทย

ระบบควบคุมบ้าน "ไฮเทค" หรือโฮมออโตเมชั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อาจยังไม่แพร่หลายเท่าในตลาดต่างประเทศ

"กรัณยพัชญ์ ยงวณิชชา" กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม อาร์ค จำกัด พูดถึงตลาดโฮมออโตเมชั่นในประเทศไทยว่า มีผู้เล่นจากต่างประเทศเข้ามาบ้าง แต่มักคิดราคาค่าติดตั้งแพงถึงหลักล้านบาท และต้องใช้ห้องในบ้านอย่างน้อย 1 ห้อง เป็นพื้นที่วางสายไฟโดยเฉพาะ ทำให้มีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก ประกอบกับยังไม่มีคู่แข่งที่เป็นผู้ผลิตในไทย จึงตัดสินใจตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และพัฒนาระบบ

โฮมออโตเมชั่น "ดีแมส" ออกสู่ตลาด

"คิดว่าอีก 3-4 ปีโฮมออโตเมชั่นน่าจะบูม เริ่มมีแอนดรอยด์สำหรับมือถือที่คิดว่าน่าจะนำมาปรับใช้กับโฮมออโตเมชั่นได้ เราใช้งบฯ 500,000 บาท บุคลากรอีก 5 คน พัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ควบคุมไฟฟ้าในบ้าน โดยต่อสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านกับสวิตช์ควบคุมเต้าเสียบ และให้เจ้าของบ้านควบคุมการปิดเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชั่น"

จุดเด่นของ "ดีแมส" อยู่ที่ราคาที่ย่อมเยากว่า มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเริ่มต้นที่ 20,000 บาท ทั้งพัฒนาให้รองรับการใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย และใช้พื้นที่สำหรับเซิร์ฟเวอร์ของระบบในบ้านเพียงเล็กน้อย

"ตลาดโฮมออโตเมชั่นเป็น Want ไม่ใช่ Need เซ็กเมนต์ ตลาดคงไม่ใหญ่นัก แต่เรื่องอสังหาริมทรัพย์และสมาร์ทโฟนกำลังบูมในประเทศไทยพอดีก็น่าจะทำให้ไปได้ ตอนนี้เราเริ่มเข้าไปคุยเจ้าของโครงการบ้านและคอนโดฯขนาดไม่ใหญ่มากไว้บ้างแล้ว"

สุดท้ายเป็นธุรกิจที่มองเห็นโอกาสจากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และความต้องการของนักช็อปออนไลน์

จับจุดนักช็อปออนไลน์

"ศรัณยา ศิริพฤกษ์พงษ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดเวอร์ซิชั่น จำกัด เจ้าของเว็บไซต์แอทแทคไพรซ์ดอทคอม (attackprice.com) เท้าความว่า อยู่ในวงการเว็บไซต์มาเกิน 10 ปี ก่อนนี้เป็นโปรดักชั่นเฮาส์รับพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น เห็นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในไทยมาตลอด

จากสถิติของต่างประเทศพบว่า คนซื้อของออนไลน์จะค้นหาเกิน 10 เว็บไซต์ และใช้เวลา 50 นาที กว่าจะซื้อของหนึ่งชิ้น

"แอทแทคไพรซ์เป็นระบบที่รวบรวมสินค้าจากทุกที่มาไว้ในที่เดียว เพราะทุกอย่างมีข้อมูลอยู่บนอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเยอะ เราทำทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นที่รองรับทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส และแอนดรอยด์"

จุดเด่นอยู่ที่มีสินค้ามากกว่าหนึ่งล้านชิ้นสำหรับเปรียบเทียบราคา และรายละเอียดของสินค้า โดยข้อมูลเหล่านี้จะมีการอัพเดตตลอดเวลาจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศไทย

"ธุรกิจเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้ามีโมเดลแบบบีทูบีทูซี ลูกค้าเราโดยตรงคือร้านค้าที่อยากโปรโมตสินค้าของตนเอง แอทแทคไพรซ์จะแสดงสินค้าของเขาในเว็บไซต์ให้ผู้ที่เข้ามาในเว็บจึงมีอัตราการซื้อสูงถึง 8% และมีลูกค้าเป็นร้านค้าออนไลน์ใหญ่ ๆ 10 กว่าราย ขณะที่ผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อเข้ามาใช้ระบบฟรี ตอนนี้มีเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้าอยู่ 3-4 แห่ง และน่าจะโตตามตลาดอีคอมเมิร์ซ เพราะยิ่ง

คนซื้อของออนไลน์มากขึ้นก็ต้องการเปรียบเทียบสินค้ามากตามไปด้วย"

"ศรัณยา" บอกว่า ต้นปี 2557 แอทแทคไพรซ์จะเปิดให้บริการและพัฒนาต่อยอดฟีเจอร์ในเว็บไซต์ให้ใช้งานคล่องขึ้น และเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อขยายฐานผู้เข้าเว็บไซต์ และฐานลูกค้าที่เป็นร้านค้า รวมถึงเพิ่มข้อมูลสินค้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน แอทแทคไพรซ์มีผู้เข้าชมแบบไม่ซ้ำกันวันละ 20,000 คน/วัน ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 80,000 คน/วัน และมีฐานลูกค้าเป็นร้านค้าออนไลน์รายใหญ่ทั้งหมด

ในประเทศไทย ภายในปีหน้า ทั้งจะต่อยอดด้วยการนำข้อมูลสินค้าจากร้านออฟไลน์มาเปรียบเทียบและเตรียมระบบค้นหาสินค้าระหว่างประเทศในการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนและค่าจัดส่งเพื่อรองรับกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook