บุกแหล่งสินค้า...มวลมหาประชาชน "สำเพ็ง-โบ๊เบ๊" รับอานิสงส์ม็อบ
เสื้อยืด นกหวีดพร้อมสาย ผ้าพันข้อมือ โบ และแอ็กเซสซอรี่ต่าง ๆ ที่มีสีสันเป็นลายธงชาติไทย กลายเป็นสินค้ายอดนิยมที่เหล่ามวลมหาประชาชนจะต้องมีและเรียกหา จึงไม่แปลกที่จะเห็นสินค้าเหล่านี้วางเรียงรายอยู่ในพื้นที่การชุมนุม และขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
"ประชาชาติธุรกิจ" ลงสำรวจแหล่งค้าส่งมาจากสำเพ็ง ตั้งแต่ซอยวานิชยาวไปจนถึงถนนมังกร พบว่าในซอยวานิช 1 ร้านจำหน่ายสินค้ากิฟต์ช็อป ร้านค้าส่งหลัก ๆ ราว 8-10 ร้าน จะนำสินค้าแปลกใหม่ รักชาติที่อยู่ในกระแสการชุมนุมมาวางจำหน่ายร่วมกับสินค้าหลักของร้าน และจำหน่ายในราคาขายส่ง เฉลี่ยโหลละไม่เกิน 150 บาท อาทิ มือตบ ริบบิ้นลายธงชาติที่มีหลายขนาด รวมทั้งส่วนสินค้าที่ประดิษฐ์จากริบบิ้นผ้าเหล่านี้
เช่น โบลายธงชาติ ลูกปัดร้อยเป็นสร้อยคอ กิ๊บติดผมถูกปรับมาเป็นลูกปัดสีธงชาติ เฉลี่ยโหลละ 120-180 บาท หากขายปลีกราคาจะตกชิ้นละ 20-30 บาท หรือนกหวีดรวมสาย โหลละ 120 บาท แต่ในที่ชุมนุมจะขาย 20 บาท เรียกว่ากำไรครึ่งต่อครึ่ง
นอกจากร้านค้าที่วางขายสินค้าต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว สำหรับร้านซาปั๊วหลายร้านก็จะนำสินค้าเหล่านี้มารวมจำหน่ายร้านละไม่ต่ำกว่า 40-50 รายการ สนนราคาไม่แตกต่างจากหน้าร้านค้าส่ง แถมยังมีสินค้าใหม่ ๆ ที่ในร้านทั่วไปไม่มีให้เลือกซื้อเลือกหาด้วย เช่น ริสต์แบนด์ ที่ขายชิ้นละ 10 บาท เก้าอี้ทหาร ที่กำลังฮอตในกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณเวทีปทุมวันในเวลานี้ ขายเพียงตัวละ 400 บาท
จากการสอบถามพนักงานขาย พบว่าตลาดจะเริ่มคึกคักตั้งแต่ตอนตี 4 จนกระทั่งราว 7 โมงเช้า และเริ่มคึกคักอีกทีในช่วงบ่าย
เช่น เดียวกันร้าน "โบว์แดง" แหล่งรวมสินค้าแอ็กเซสซอรี่กลางซอยวานิช 1 ที่มีการนำวัตถุดิบในแถบสำเพ็งมาดัดแปลงตกแต่งใหม่ เช่น ที่คาดผมดอกไม้ประดิษฐ์สีธงชาติ ที่คาดผมไหมพรมลายธงชาติ เจ้าของร้านเธอกล่าวว่า ขายดีมาก ตั้งแต่เปิดร้านมาก็มีคนเข้ามารุมซื้อตลอดเวลา และขายทั้งปลีกและส่ง ส่วนหนึ่งเพราะคนที่มาเดินชอบของแปลก ๆ ของที่ทำจากมือ และมีสินค้าใหม่ทุกวัน
"พอสินค้าชิ้นไหนหมด ก็จะเริ่มทำตอนกลางคืนและมาขายตอนเช้า และหลังจากปิดร้านตอนเย็นก็จะไปชุมนุมที่แยกปทุมวัน เพื่อไปดูกระแสและกลับมาทำสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยมเพื่อขายในตอน เช้า"
"สมพร" แม่ค้ารายย่อยที่มาซื้อสินค้าจากสำเพ็งไปขายต่อ เธอเล่าให้ฟังว่า ครั้งแรกเธอลงทุนราว ๆ 50,000 บาท และซื้อสินค้าไปขายวันละ 5,000 บาท ขายดีมาก และพอมีกำไรบ้าง และขายดีจนถึงขนาดที่เพื่อน ๆ ที่ขายของคล้าย ๆ กันพูดกันเล่น ๆ ว่า หลายคนแทบจะดาวน์รถขับกลับบ้านได้เลย
อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าช่วงนี้ขายลำบากขึ้น เนื่องจากมีซาปั๊วเริ่มลงพื้นที่ไปขายตัดราคา ทำให้รายย่อย ๆ ขายได้กำไรน้อยลงไปด้วย เพราะต้องขายตามราคาตลาด กำไรชิ้นหนึ่งที่เคยขายได้ราคา 10-15 บาท ก็จะได้กำไรเพียงแค่ชิ้นละ 5 บาท
สำหรับ เสื้อผ้าผู้สื่อข่าวได้ลงสำรวจแหล่งรวมเสื้อผ้าย่านโบ๊เบ๊ พบว่านอกจากร้านค้าปลีกค้าส่งเสื้อผ้าแล้ว ยังมีร้านค้าอีกจำนวนหนึ่งอาศัยโอกาสทองนี้รับสกรีนเสื้อตามสั่งและกระจาย ทั่วโบ๊เบ๊ ส่วนราคาต่างกันไปตามขนาดหรือไซซ์ เช่น ไซซ์ S ตัวละ 80 บาท ไซซ์ M ตัวละ 90 บาท และ XL ตัวละ 100 บาท โดยเฉลี่ยลูกค้าที่มาซื้อเสื้อจะใช้เงิน 2,000-3,000 บาทต่อคน
เจ้าของร้านค้าส่งเสื้อผ้ารายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เริ่มหันมาขายเสื้อยืดที่มีสัญลักษณ์การชุมนุมเมื่อตอนที่ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ประกาศชัตดาวน์กรุงเทพฯ (13 มกราคม) โดยนำมาจากโรงงานที่รับสกรีนเสื้อ ซึ่งจะดูจากกระแสในแต่ละวันว่า "กำนันสุเทพ" พูดเกี่ยวกับอะไร คำโดน ๆ และนำมาทำเป็นลายบนเสื้อ ไม่ว่าจะเป็นรูปนายสุเทพ และเขียนใต้ภาพว่า "ลุงกำนัน" หรือลาย "บางกอกชัตดาวน์ รีสตาร์ตไทยแลนด์" "ชัตดาวน์แบงค็อก" ทั้งภาษาไทย-อังกฤษ และลายกลาง ๆ ที่ขายดีตลอด คือ เสื้อสีดำสกรีนลายธงชาติ มีเลข 9 ไทยทับบนผืนธงชาติ ซึ่งแต่ละร้านจะรับมาจากโรงงานไม่เกินวันละ 200 ตัว
แม่ค้าส่งรายหนึ่งยอมรับว่า ช่วงนี้เสื้อขายออกค่อนข้างช้า คนมาถามแล้วก็ไป กำไรตัวละแค่ 5-10 บาท ผิดกับช่วงที่กระจายเวที มีรายได้เฉพาะวันที่ 13 มกราคมวันเดียวถึง 100,000 บาท โดยสินค้าที่ขายดีคือ เสื้อยืดสีดำที่มีลายกลาง คือลายเลข 9 และสินค้าที่ขายยากคือเสื้อสีขาว เพราะคนซื้อกลัวว่าจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกลุ่มเสื้อสีขาว
"สินค้า ที่คนจะตัดสินใจซื้อจะต้องเป็นสินค้าที่สกรีนมาสวย งานดี ไม่ต้องเอามามาก หรือต้องคอยถามลูกค้า สินค้าอะไรขายดี แล้วค่อยสั่งต่อ พอถึงช่วงหนึ่งโรงงานก็จะหยุดผลิต แม้จะมีการสั่งมาแต่โรงงานก็จะไม่ทำ เพราะเสี่ยงจะขาดทุน ตั้งแต่มีม็อบโบ๊เบ๊คึกคักมาก จากเมื่อก่อนขายได้เพียงวันละแค่ 5,000-7,000 บาท วันนี้แค่ช่วงเช้าขายได้ 20,000 บาทแล้ว ถือว่าคึกคักกว่าแต่ก่อนมาก"
นี่คืออีกมุมหนึ่งที่ เป็นผลพวงจากการชุมนุม นอกจากจะช่วยตอบสนองกับความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ยังช่วยปลุกกระแสการทำมาค้าขายของพ่อค้าแม่ขายรายเล็กรายน้อยได้อีกทางหนึ่ง